Nigel Inkstu, Senior Advisor for Cyber Security and China จาก Institute of International Security Studies-IISS ทำการศึกษาพลังอำนาจไซเบอร์ (Cyber power) ของจีน
โดยเขาเห็นว่า การก่อตัวของจีนเป็นมหาอำนาจหนึ่งของโลก กำลังเปลี่ยนอาณาเขตไซเบอร์ ประเทศจีนที่มีชุมชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตใหญ่ที่สุดในโลก มีการเติบโตของฟุตปรินต์ทางเศรษฐกิจ (economic footprint) มีความสามารถด้านการทหารและการให้บริการด้านข่าวกรองเพิ่มขึ้น
การกุมบังเหียนสินทรัพย์เหล่านี้เกิดจากการไล่ตามอย่างอดทน จนนโยบายต่างประเทศจีนมั่นใจในการค้นหาและการได้ข้อมูล เทคโนโลยีสื่อสารของจีนสามารถปกครองและควบคุมอาณาเขตทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐอื่นๆ และเคลื่อนพลต่อไปสู่อาณาเขตอำนาจของรัฐอื่น1
พลังอำนาจไซเบอร์นี้มีผลกระทบสำคัญต่อระบบโลกคือ ได้ปรับเปลี่ยนประชาธิปไตยเสรีนิยมตะวันตก
และเมื่อจีนก้าวไปในระดับโลกแล้ว มีสัญญาณว่าเทคโนโลยีใหม่กำลังกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังต่อการควบคุมทางสังคมภายในจีน และปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจีนในต่างประเทศ
ผู้กำหนดนโยบายชาติตะวันตกกำลังต่อสู้กับความท้าทายนี้ ในขณะที่มีศักยภาพทางดีอยู่มาก ในเรื่องความมั่นใจของจีนกำลังลงทุนในผลประโยชน์ร่วมในระดับโลก ไม่มีอะไรประกันว่า การเติบโตและความทันสมัย (modernization) ของจีน ไม่อาจหยุดยั้งนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองแบบประชาธิปไตย
งานศึกษาของนักวิจัยท่านนี้ศึกษาการพัฒนาการเมือง ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งอำนาจไซเบอร์จีนด้าน อินเตอร์เน็ต โครงสร้างข่าวกรอง และความสามารถทางการทหารและก้าวสู่การปกครองโลก รวมถึงความพยายามของจีนเพื่อได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มากับความเชื่อมโยงโลก (Global connectivity) ได้เห็นข้อมูลที่เป็นภัยคุกคามเสถียรภาพชาติตะวันตกจนถูกกดดันให้ปรับเปลี่ยนโลกทางด้านเทคโนโลยีของตนที่กำลังถดถอยอย่างรวดเร็ว
การสอดแนม จารกรรม วินาศกรรม
เรื่องจริงหรืออิงนวนิยาย
รายงานวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติข้างต้นชี้ให้เห็นบทบาทจีนก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีถึงขั้นก้าวสู่การปกครองหรืออาจก้าวถึงการครอบงำ
แน่นอนจีนได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีการสื่อสารล้ำยุค และจีนมีพลังอำนาจทางการเมืองจากเทคโนโลยีล้ำยุคเหล่านี้ด้วย
ในอุตสาหกรรมบันเทิง ภาพยนตร์เรื่องการสอดแนม จารกรรม ก่อวินาศกรรม ด้วยการใช้การโจมตีทางไซเบอร์สร้าง Deep Fake ในบรรดาผู้นำระดับสูงในสหราชอาณาจักร ขนาดนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงยังถูกโจมตีด้วยข่าวปลอม ถูกปลอมแปลงใบหน้า ชนิดที่แนบเนียนยิ่ง ด้วยเหตุผลที่รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงไม่ยอมและต่อต้านการใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีของบริษัทเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าของจีน ในเวลาเดียวกัน มีการต่อกรชิงไหวชิงพริบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานด้านความมั่นคงในสหราชอาณาจักรหลายหน่วยงานกับผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีของจีนในสหภาพยุโรป
แม้จะติดตามภาพยนตร์แนวสืบราชการลับของชาติตะวันตกไม่มากนัก แต่สังเกตว่าภาพยนตร์แนวนี้สร้างและเผยแพร่ออกมาอย่างกว้างขวาง
การสร้างภาพยนตร์อาจมากกว่าเหตุผลของความบันเทิงและธุรกิจภาพยนตร์ ภาพยนตร์แนวนี้แสดงความเป็นจริงในโลกจริงหรือไม่
เมื่อค้นคว้ามากขึ้น เรารับรู้ว่า เรื่องจริงคือ บริษัทหัวเว่ย (Huawei) ของจีน ตกเป็นจำเลยในโลกไซเบอร์ของชาติสมาชิกสหภาพยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง
Jens Stoltenbug เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ North Atlantic Treaty Organization-NATO กล่าวหาบริษัทหัวเว่ยผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมใหญ่ที่สุดในโลก มีความเสี่ยงด้านกิจการสายลับ2
Jens Stoltenbug ยกตัวอย่างว่า มีเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์จากจีน สำหรับเขา บทบาทและอิทธิพลของบริษัทหัวเว่ยไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ทางการค้าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงด้านความมั่นคงด้วย
รายงานข่าว พันธมิตรบางรายของ NATO แสดงความกังวลเรื่องบริษัทหัวเว่ยในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 5 G
ยังมีรายงานว่า ประธานด้านกิจการยุโรปของกองทัพสหรัฐอเมริกาเตือนหน่วยกองกำลังของ NATO ให้ยุติการสื่อสารกับเพื่อนชาวเยอรมันของพวกเขา หากทางเยอรมนียังคงร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ยก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 5 G
หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal รายงานว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยเตือนเยอรมนีในเรื่องความร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ยในโครงสร้างพื้นฐานโทรศัพท์มือถือ new generation
Sebastian Sprehger รายงานว่า บริษัทหัวเว่ยชนะบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือทั้งบริษัท Apple บริษัทสัญชาติอเมริกัน และบริษัท Samsung ของเกาหลีใต้ ตอนนี้บริษัทหัวเว่ยเป็นผู้นำระดับโลกในเทคโนโลยีเครือข่าย 5 G แต่มีบางรัฐบาลของบางประเทศห้ามบริษัทหัวเว่ยทำการขายเครือข่ายโทรคมนาคม ด้วยความกลัวด้านความมั่นคง
ตอนนี้สหรัฐเมริกาล็อบบี้พันธมิตรสหภาพยุโรปและชาติอื่นๆ ให้หลบเลี่ยงการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในการอัพเกรดเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ new generation
สายลับ
กับอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
แน่นอน โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีไซเบอร์เป็นฐานสำคัญอำนวยการสอดแนม จารกรรม ก่อวินาศกรรม โดยสายลับฝังตัวในชิพ (Chip) บางตัวในคอมพิวเตอร์เมนเฟรมหน่วยงานเป้าหมายก็ได้
อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ไมโครชิพ เป็นต้น เป็นอุปกรณ์สำคัญใช้งานจารกรรม น่าสนใจจีนเป็นผู้ลงทุนหลักในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา3
อย่างไรก็ตาม ปี 2019 Federal Communication Commission-FCC สหรัฐอเมริกามีมติไม่เป็นเอกฉันท์ห้ามหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐอเมริกา ใช้อุปกรณ์และรับบริการจากบริษัทหัวเว่ยและบริษัท ZTE เพื่อปกป้องฐานทัพอเมริกันในชนบทจากการจารกรรม
คำสั่งห้ามนี้ครอบคลุมช่วงการก้าวสู่เทคโนโลยี 5 G ของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่กิจการของบริษัทหัวเว่ยและบริษัท ZTE แพร่กระจายทั่วสหรัฐอเมริกา4 ในเวลาเดียวกัน
ข้อมูลสรุปว่าแม้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของจีนยังไม่สามารถนำได้ในระดับนานาชาติ แต่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจีนกลับส่งออกมากที่สุดในตลาดสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุสินค้าจีนมีราคาถูก5
ที่น่าสนใจ อุปกรณ์ด้านการสื่อสารหลายชนิดจากบริษัทจีนถูกกล่าวหาว่าเป็นผลิตภัณฑ์บริษัทของกองทัพจีน
มีการกล่าวหากับ 17 บริษัทจีนเป็นบริษัทของกองทัพจีน บริษัทเหล่านี้เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ sensing ที่ใช้ในรถบรรทุก รถยนต์ส่วนตัว รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ หุ่นยนต์และแอพพ์อื่นๆ อีกมาก6
ในปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับห้ามหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐอเมริกาการจัดซื้อและรับบริการเทคโนโลยีบริษัทจีน เช่น The National Defense Authorization Act ประกาศใช้ปี 2023 ห้ามบริษัทด้านความมั่นคงและผู้ก่อสร้างระบบความมั่นคงในมลรัฐใช้เซมิคอนดักเตอร์ในระบบความมั่นคงแห่งชาติ
ด้วยเห็นว่าเซมิคอนดักเตอร์สามารถสอนแนม ก่อวินาศกรรมได้ หรือชิพของจีนสามารถให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยี ระบบต่างๆ และแยกแยะข้อมูลสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติได้
สรุป
ย้อนไปดูภาพยนตร์เรื่องสอดแนม สายลับและวินาศกรรมในสหราชอาณาจักร
หนังเขาเริ่มต้นที่ประเทศนี้มีกล้องวงจรปิดทั่วประเทศและทั่วทุกหนแห่ง
ตัวละครหนึ่งพูดกับตัวละครเอกที่เป็นตำรวจนักสืบว่า ประเทศนี้มีกล้องวงจรปิดทุกแห่ง ยกเว้นในห้องน้ำและห้องพิจารณาคดีของศาล
กล้องวงจรปิดเป็นตัวละครเอกแท้จริงในหนังเรื่องนี้ แล้วบอกแก่เราว่า งานสอดแนม กิจการสายลับและวินาศกรรมเป็นเรื่องจริง บริษัทจีนเป็นเพียงเรื่องสมมุติเท่านั้น
สำหรับผม นี่คือเรื่องจริงครับ
1Nigel Inkstu, China Cyber Power ( London : Routledge, 2016)
2Martin Bank, “NATO weighing Huawei spying risks to member countries”, Defense News, 15 March 2019
3Bryant Harris, “How Biden’s microchip ban is curbing China’s AI weapons efforts” Defense News, 12 January 2023 : 4.
4Andrew Eversden, “FEDs have a serious 5 G problem, official warn” C4isrnet, 1 November 2019
5Ibid., Bryant Harris, op.cit., 3.
6Elaine Kurtenbach, “Chinese tech company threaten to sue US over claim of military link” AP, 9 February 2024
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 – 27 มิถุนายน 2567
คอลัมน์ โลกทรรศน์
ผู้เขียน อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ / วันที่เผยแพร่ 26 มิ.ย.67
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_776251