กรณีที่มีกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน โดยการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อขโมยเงิน หรือที่เรียกว่า แอปดูดเงิน (Mobile Banking Trojan) โดยใช้กระบวนการทางไซเบอร์ ทำให้สูญเสียเงินกว่า 2,600 ล้านบาท (สถิติระหว่างวันที่ 1 มี.ค.65 – 31 พ.ค.67) นับเป็นภัยไซเบอร์ระดับร้ายแรง แต่ปัจจุบันการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีความล่าช้า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) จึงได้ประกาศยกระดับจัดให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดจากแอปดูดเงิน เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง
พร้อมสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP) และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหา และรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงอย่างทันท่วงที อาทิ ระงับการเชื่อมต่อไปยังแอปดูดเงิน ตัดวงจรการเชื่อมต่อระบบการควบคุมของมิจฉาชีพ และหยุดการโอนเงินของมิจฉาชีพผ่านระบบ Mobile Banking
รวมทั้งการป้องกันประชาชนไม่ให้ถูกหลอกติดตั้งแอปดูดเงิน ก่อนเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินออนไลน์ให้ประชาชน
ด้านเพจ สืบนครบาล รายงาน อ้างแหล่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มิจฯ แท้แน่นอน หากมาบอกให้ทำ 3 อย่างนี้
-ให้โอนเงินมาตรวจสอบ
-ให้โอนเงินมาปลดล็อกบัญชี
-ให้โอนเงินเพื่อให้ได้สินเชื่อหรือเงินกู้
อย่าหลงเชื่อ อย่าโอน ต้องการแจ้งความ หรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับมิจฉาชีพ สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือ โทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : จ.ส.100 / วันที่เผยแพร่ 8 ก.ค.67
Link : https://www.js100.com/en/site/news/view/141729