นับถอยหลังอีกเพียงเดือนเศษ ก็สิ้นสุดการรอคอยกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิกฤดูร้อน 2024” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ก.ค.ถึง 11 ส.ค. ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เมืองน้ำหอมแห่งนี้จะได้โชว์ศักยภาพด้วยแผนการจัดงานที่ไม่ซ้ำใคร เช่น การนำสถานที่สำคัญอย่างสวนของพระราชวังแวร์ซาย มาเป็นสนามกีฬาสำหรับการแข่งขันขี่ม้าและปัญจกีฬาสมัยใหม่ หรือการเนรมิตพื้นที่ในสวนสาธารณะช็องเดอมาร์ส หน้าหอไอเฟล ให้เป็นสนามแข่งวอลเลย์บอลชายหาด เป็นต้น
ในส่วนพิธีเปิด เจ้าภาพก็เตรียมใช้แม่น้ำแซน แม่น้ำสายหลักของกรุงปารีส เป็นสถานที่จัดงานแทนการใช้สนามกีฬาแห่งชาติ ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา ไฮไลต์คือการนำนักกีฬากว่าหมื่นชีวิตล่องเรือมาตามแม่น้ำ แทนการเดินพาเหรดเข้าสนาม
แต่ไอเดียพิธีเปิดอันสุดอลังการนี้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเมืองกับกลุ่มเจ้าของแผงหนังสือเก่าแก่อายุกว่า 500 ปี ที่ตั้งอยู่ตลอดริมฝั่งแม่น้ำแซน เมื่อเมืองต้องการรื้อถอนแผงเหล่านี้ด้วยเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัยในพิธีเปิดโอลิมปิก
สิ่งที่น่าสนใจคือ กรณีพิพาทดังกล่าวเกือบเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ลุกลามไปถึงการเมืองระดับชาติ และสะท้อนปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ของเมืองโดยขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างเพียงพอ ผู้เขียนจึงขอนำกรณีนี้มาเล่าที่มาที่ไปให้ได้อ่านกัน
แผงหนังสือดังกล่าวมีชื่อเรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า “บูกีนิสต์” (bouquinistes) ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ กล่องเหล็กสีเขียวเข้มรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ที่ติดตั้งไว้บนแนวกำแพงตลอดริมแม่น้ำแซนทั้งสองฝั่ง สำหรับใช้เก็บสินค้าในตอนกลางคืน และกางออกเป็นแผงขายหนังสือในตอนกลางวัน
สินค้าหลักที่ขายในบูกีนิสต์คือบรรดาหนังสือเก่า หนังสือมือสอง และเอกสารเก่าต่าง ๆ รวมไปถึงบรรดาของที่ระลึกดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งแม็กเน็ต โปสเตอร์ หรือโปสการ์ด
กิจการของบูกีนิสต์เริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ก่อนเดินทางผ่านกาลเวลาและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิวัติฝรั่งเศสปี 2332 หรือสงครามโลกครั้งที่สองที่กรุงปารีสถูกบุกยึดโดยกองทัพนาซีเยอรมัน
บูกีนิสต์ได้รับทั้งโอกาสและแรงเสียดทาน อย่างในศตวรรษที่ 17 ได้รับอานิสงส์จากยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ที่วัฒนธรรมการอ่านแพร่หลายลงสู่ชนชั้นกลางมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็สร้างความไม่พอใจแก่ชนชั้นนำจนนำไปสู่ปฏิบัติการสกัดกั้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ปี 2264 มีความพยายามออกกฎหมายจำคุกผู้ประกอบการบูกีนิสต์ หรือต่อมาในศตวรรษที่ 19 Baron Haussmann เจ้าของโครงการปรับทัศนียภาพกรุงปารีส ก็พยายามไล่รื้อบูกีนิสต์เพื่อปรับภูมิทัศน์สองฝั่งแม่น้ำแซนให้สะอาดตา
แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้บูกีนิสต์ยังคงดำเนินธุรกิจมาได้อย่างต่อเนื่อง
ช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 กรุงปารีสเริ่มเห็นความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม (cultural heritage) ทำให้บูกีนิสต์ได้รับการยกฐานะให้เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ปารีส ต่อมาในปี 2536 ภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีกรุงปารีส ฌัก ชีรัก (ผู้ที่อีก 2 ปีต่อมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 22 ของฝรั่งเศส)
ได้กำหนดระเบียบการประกอบการบูกีนิสต์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตั้งแต่ขนาดของกล่องและพื้นที่ตั้งร้าน สัดส่วนประเภทสินค้าที่ขายในแต่ละร้าน ไปจนถึงระยะเวลาเปิดร้านต่อสัปดาห์ ถือเป็นการลงหลักปักฐานบูกีนิสต์ในทางกฎหมายและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบัน ปารีสมีกล่องบูกีนิสต์ประมาณ 900 กล่อง บรรจุหนังสือขายกว่า 3 แสนเล่ม ทอดตัวเรียงรายยาวตลอดสองฝั่งแม่น้ำแซนกว่า 3 กิโลเมตร ผ่านสถานที่สำคัญอย่างอาสนวิหารน็อทร์ดามและพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์
จนได้ชื่อว่าเป็นตลาดหนังสือกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป โดยโมเดลเช่นนี้ยังถูกนำไปสานต่อในเมืองอื่น อย่างในเมืองลียงที่มีการตั้งแผงหนังสือริมแม่น้ำโรห์น เป็นต้น
กลับมาที่พิธีเปิดโอลิมปิกเจ้าปัญหา
ส.ค.2566 ทางการกรุงปารีสได้ประกาศแผนรื้อถอนกล่องบูกีนิสต์ออกจากแนวกำแพง และให้ย้ายไปขายบนจัตุรัสบัสตีย์ เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ชมและเหตุผลในการรักษาความปลอดภัย
แผนดังกล่าวถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายทั้งเจ้าของร้านบูกีนิสต์ ชุมชนวรรณกรรมทั้งในและนอกฝรั่งเศส และสาธารณชน โดยมีเหตุผลการคัดค้านสามข้อ คือ
1.เป็นการทำลายมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทั้งของปารีสและของประเทศ 2.สร้างความเสียหายให้แก่กล่องที่มีอายุเก่าแก่และไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อให้เคลื่อนย้ายได้มาตั้งแต่ต้น และ 3.ทำลายโอกาสในการฟื้นฟูกิจการบูกีนิสต์ที่ซบเซามาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19
ที่สำคัญ หลายฝ่ายกล่าวว่าแผนการนี้ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน ทำให้เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา แอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ออกคำสั่งห้ามการบังคับรื้อถอนบูกีนิสต์ออกจากพื้นที่เป็นอันขาด โดยมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงปารีสดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้
และมิให้ใช้บริเวณฝั่งแม่น้ำแซนส่วนบน (upper quay) เป็นพื้นที่ชมพิธีเปิด โดยมาครงให้เหตุผลไปในทางเดียวกับกลุ่มผู้คัดค้านว่า เพื่อเป็นการรักษามรดกที่มีชีวิตของเมืองให้คงอยู่ โดยการทำให้บูกีนิสต์อยู่ร่วมกันกับมหกรรมกีฬาครั้งนี้ได้
ปลายเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ นอกจากจะเฝ้าหน้าจอรอเชียร์นักกีฬาไทยในโอลิมปิกแล้ว เรื่องราวของบูกีนิสต์ที่ผู้เขียนได้นำมาเล่านี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและชวนติดตาม
เพราะนี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นประเด็นการจัดการพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจโดยเมืองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จนนำไปสู่ความขัดแย้ง
แล้วก็จบลงด้วยการย้อนกลับมาใช้อำนาจส่วนกลางและกลไกของรัฐในการระงับการดำเนินการเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงปัญหาคลาสสิกของการคานอำนาจโดยส่วนกลางในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ผลการแข่งกีฬาโอลิมปิกที่จะเกิดขึ้น คงคาดเดาได้ยากว่าฝรั่งเศสจะได้เหรียญทองมากน้อยแค่ไหน ไม่ต่างอะไรกับการคาดเดาผลการเลือกตั้งทั่วไปของฝรั่งเศสที่จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน
แต่อย่างน้อยการตัดสินใจที่เด็ดขาดเรื่องบูกีนิสต์นี้ของประธานาธิบดีมาครง ก็คงทำให้พรรค Renaissance ได้คะแนนเสียงจากกลุ่มผู้ประกอบการบูกีนิสต์ทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ที่ชื่นชมในวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมไปได้ไม่น้อยทีเดียว
ส่วนของจริงจะเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อไป
บทความโดย อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ, พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล | สถาบันพระปกเกล้า
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 20 มิ.ย.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/world/1132200