รวมความพยายามลอบสังหารประธานาธิบดี อดีตประธานาธิบดี และผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ พบสำเร็จ 5 ครั้ง ไม่สำเร็จ 11 ครั้ง (ไม่นับทรัมป์)
ข่าวการพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการปราศรัยหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย สร้างความตกใจให้กับทั้งโลก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า จะเกิดเรื่องรุนแรงกับบุคคลสำคัญระดับนี้ได้ในยุคปัจจุบัน
แต่ต้องยอมรับว่า ดินแดนสหรัฐฯ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพนั้น เคยเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีและผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้วหลายครั้ง โดยสำเร็จ 5 ครั้ง ไม่สำเร็จ 11 ครั้ง (ไม่นับรวมทรัมป์)
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 คนและผู้สมัครชิงตำแหน่ง 1 คนที่ถูกลอบสังหารสำเร็จ ประกอบด้วย
อับราฮัม ลินคอล์น ปี 1865
วันที่ 14 เม.ย. 1865 อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯ ถูกยิงที่ศีรษะขณะชมละครเสทีเรื่อง Our American Cousin ที่โรงละครฟอร์ดในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผู้ก่อเหตุคือ จอห์น วิลก์ส บูธ นักแสดงละครเวที เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ถูกลอบสังหาร
เจมส์ การ์ฟิลด์ ปี 1881
เจมส์ เอ. การ์ฟิลด์ ประธานาธิบดีคนที่ 20 ของสหรัฐฯ ถูกยิงที่สถานีรถไฟบัลติมอร์และโปโตแมคในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเวลา 9.30 น. ของวันที่ 2 ก.ค. 1881 เขาเสียชีวิตในอีก 2 เดือนครึ่งต่อมา ส่วนผู้ก่อเหตุคือ ชาร์ลส์ เจ. กีโต ซึ่งไม่พอใจที่ถูกปฏิเสธสถานะกงสุล เขาถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอ 1 ปีหลังเหตุยิง
วิลเลียม แม็กคินลีย์ ปี 1901
วิลเลียม แม็กคินลีย์ ประธานาธิบดีคนที่ 25 ของสหรัฐฯ อเมริกา ถูกยิงขณะชมนิทรรศการในเทมเพิลออฟมิวสิกในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 1901 2444 โดย ลีออน โซลโกส นักเคลื่อนไหวกลุ่มอนาธิปไตย ยิงเขาขณะจับมือกับสาธารณชนโดยยิงเข้าที่ช่องท้อง 2 ครั้ง แม็กคินลีย์เสียชีวิตในสัปดาห์ถัดมาด้วยโรคเนื้อตายเน่าที่เกิดจากบาดแผล
จอห์น เอฟ เคนเนดี ปี 1965
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 1965 จอห์น เอฟ. เคนเนดี หรือ เจเอฟเค ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐฯ ถูกลอบสังหารขณะนั่งรถในขบวนคาราวานของประธานาธิบดีผ่านดีลลีย์ พลาซา ในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส เคนเนดีอยู่ในรถพร้อมกับภรรยาของเขา แจ็กเกอลีน, ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส จอห์น คอนนอลลี และภรรยา
เคนเนดีถูก ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งมีประวัติแปรพักตร์ไปเข้ากับโซเวียต ลอบยิงจากศูนย์รับฝากหนังสือโรงเรียนเท็กซัสที่อยู่ใกล้เคียง ขบวนรถรีบไปที่โรงพยาบาล แต่เคนเนดีเสียชีวิตประมาณ 30 นาทีหลังเหตุยิง ส่วนคอนนอลลีได้รับบาดเจ็บ
ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี ปี 1968
โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี หรือ อาร์เอฟเค เป็นน้องชายของเจเอฟเค เขาเป็นสามาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ และลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1968 แต่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ของปีดังกล่าว หลังการปราศรัยกับผู้สนับสนุนในห้องบอลรูมของโรงแรมแอมบาสเดอร์ เขาออกมาผ่านทางเดินในห้องครัว และถูกชายชาวปาเลสไตน์ จอร์แดน ชื่อ เซอร์ฮาน บิชารา เซอร์ฮาน ยิงปืนใส่หลายนัด เขาเสียชีวิตเกือบ 25 ชั่วโมงต่อมา
สำหรับมูลเหตุจูงใจเกิดจากการที่เซอร์ฮานเป็นผู้ต่อต้านลัทธิไซออนิสต์และสนับสนุนปาเลสไตน์ โดยพบว่าเขาไม่พอใจนโยบายสนับสนุนอิสราเอลของอาร์เอฟเค
ส่วนอีก 11 คนที่เผชิญกับการพยายามลอบสังหารที่ไม่สำเร็จ ประกอบด้วย
แอนดรูว์ แจ็กสัน ปี 1835
ริชาร์ด ลอว์เรนซ์ พยายามยิงประธานาธิบดีคนที่ 17 ของสหรัฐฯนอกอาคารศาลากลาง แต่ยิงพลาด
วิลเลียม ฮาวเวิร์ด ทาฟต์ ปี 1909
มีผู้วางแผนการลอบสังหารประธานาธิบดีคนที่ 27 ของสหรัฐฯ ในเอลปาโซ รัฐเท็กซัส แต่แผนถูกขัดขวางไว้ได้
ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ผู้สมัครปี 1912
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 1912 อดีตนายทหาร จอห์น แชรงค์ พยายามลอบสังหาร ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่เขากำลังหาเสียงในเมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน
กระสุนของแชรงค์ติดอยู่ในหน้าอกของรูสเวลต์ เนื่องจากกระสุนไปถูกกล่องใส่แว่นตาเหล็กและเอกสารสำเนาสุนทรพจน์หนา 50 หน้า ทำให้กระสุนเจาะไปไม่ถึงร่างกายของเขา
แฟรงกลิน ดี รูสเวลต์ ปี 1933
จูเซปเป ซังการา ผู้อพยพชาวอิตาลีและแปลงสัญชาติเป็นพลเมืองสหรัฐฯ พยายามลอบสังหาร แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 1933 โดยเกิดขึ้นเพียง 17 วันก่อนพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ตอนกลางคืนของรูสเวลต์ในเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ซังการายิงปืน 5 นัดไปทางรูสเวลต์ด้วยปืนพกที่เขาซื้อมา แต่พลาดเป้าหมายและสังหาร แอนตัน เซอร์มัก นายกเทศมนตรีเมืองชิคาโกแทน และทำให้คนทั่วไปบาดเจ็บอีก 5 คน
แฮร์รี เอส ทรูแมน ปี 1950
วันที่ 1 พ.ย. 1950 นักเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพชาวเปอร์โตริโก ออสการ์ คอลลาโซ และกริเซลิโอ ตอร์เรโซลา พยายามลอบสังหารประธานาธิบดีคนที่ 33 ของสหรัฐฯ ที่ทำเนียบแบลร์ (บ้านพักชั่วคราวของประธานาธิบดี) ระหว่างการปรับปรุงทำเนียบขาว
ชายทั้งสองถูกหยุดไว้ได้ก่อนที่จะเข้าไปในบ้าน โดยตอร์เรโซลายิงเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเนียบขาว เลสลี คอฟเฟลต์ จนได้รับบาดเจ็บ แต่ถูกยิงสวนจนเสียชีวิต ขณะที่คอลลาโซถูกเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับยิงได้รับบาดเจ็บ ส่วนทรูแมนอยู่ชั้นบนในบ้านและไม่ได้รับบาดเจ็บ
เจอรัลด์ ฟอร์ด ปี 1975
ประธานาธิบดีคนที่ 38 ของสหรัฐฯ ถูกพยายามลอบสังหาร 2 ครั้งติดกันในวันที่ 5 และ 22 ก.ย. 1975
ครั้งแรกก่อเหตุโดย ลินเนตต์ ฟรอมมี สมาชิกลัทธิแมนสันแฟมิลี ซึ่งพยายามลอบสังหารเขาในเมืองซาคราเมนโต บริเวณอาคารศาลาว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เธอยืนอยู่ห่างจากฟอร์ดประมาณช่วงแขนเดียวเท่านั้น โดยเล็งปืนพก M1911 มาที่เขาแล้ว แต่ลืมใส่กระสุนปืน การลอบสังหารจึงไม่สำเร็จ
ครั้งที่ 2 ซารา เจน มัวร์ สายข่าวของ FBI พยายามลอบสังหารฟอร์ดหลังจากที่เขากล่าวปราศรัยต่อสภากิจการโลกแล้ว มัวร์ยิงประธานาธิบดีฟอร์ด 2 นัดด้วยปืนพกพิเศษ .38 และพลาดทั้งสองนัด
โรนัลด์ เรแกน ปี 1981
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2524 โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐฯ ถูกยิงโดย จอห์น ฮิงค์ลีย์ จูเนียร์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ขณะที่เขากำลังเดินทางกลับด้วยรถลีมูซีน
ฮิงคลีย์เชื่อว่า การห่อเหตุครั้งนี้จะสร้างความประทับใจให้กับนักแสดงหญิง โจดี ฟอสเตอร์ ซึ่งเขามีอาการหลงใหลในตัวเธอหลังจากดูเธอในภาพยนตร์เรื่อง Taxi Driver ในปี 1976
เรแกนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ถูกกระสุนยิงเข้าจัง ๆ แต่สามารถรอดชีวิตมาได้
จอร์จ วอลเลซ ผู้สมัครปี 1972
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 1972 วอลเลซถูก อาเธอร์ เบรเมอร์ ยิงปืนใส่ 4 นัดขณะหาเสียงที่ศูนย์การค้าลอเรลในเมืองลอเรล รัฐแมรีแลนด์
วอลเลซถูกยิงเข้าที่ช่องท้องและหน้าอก และกระสุนนัดหนึ่งติดอยู่ในกระดูกสันหลังของวอลเลซ ทำให้เขากลายเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงไปตลอดชีวิต
จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ปี 1993
มีการวางแผนลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีบุชระหว่างการเยือนคูเวต โดยพบว่าหน่วยข่าวกรองอิรักอยู่เบื้องหลังความพยายามนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดรถยนต์ แต่แผนการดังกล่าวล้มเหลว และทางการคูเวตจับกุมผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องได้ 17 คน
บิล คลินตัน ปี 1994
ฟรานซิสโก มาร์ติน ดูแรน ใช้อาวุธปืนยิงใส่ทำเนียบขาวจากนอกรั้ว
จอร์จ ดับเบิลยู บุช ปี 2005
ในปี 2005 แม้ว่า จอร์จ ดับเบิลยู บุชจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดีแล้วแต่ยังอยู่ในตำแหน่ง เขาตกเป็นเป้าของการพยายามลอบสังหารในเมืองทบิลิซี รัฐจอร์เจีย ระเบิดมือถูกขว้างไปที่เวทีที่เขาพูดปราศรัยอยู่ แต่มันไม่ระเบิดเนื่องจากถูกพันผ้าเช็ดหน้าไว้แน่นเกินไป
นั่นทำให้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์กลายเป็นคนที่ 12 ซึ่งรอดจากความพยายามในการลอบสังหาร
เรียบเรียงจาก Al Jazeera / Go Local Prov / US Today
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTV / วันที่เผยแพร่ 14 ก.ค.67
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/228385