การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data) เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบราชการไปสู่การเป็น “รัฐบาลเปิด” (Open Government) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน สามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ รวมถึงร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ
ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงยึดนโยบาย “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นยกเว้น” (Open by Default) เพื่อให้รัฐบาลให้บริการตรงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงนั่นเอง
ข้อมูลที่รัฐจัดเก็บนั้น มาจากการใช้ภาษีอากรของประชาชน นอกจากจะใช้ในการปฏิบัติราชการแล้ว จึงควรเปิดให้ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปนำไปใช้ประโยชน์ เกิดการสร้าง “ระบบเศรษฐกิจบนฐานของข้อมูล” (Data Economy)
ตัวอย่างเช่น มีบริษัทข้ามชาติที่นำข้อมูลเปิดของรัฐบาลต่างๆ ในอาเซียนไปให้บริการวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค และประเมินความเสี่ยงของการให้สินเชื่อแก่กลุ่มธุรกิจการเงินในภูมิภาคด้วย
หลักการสำคัญของข้อมูลเปิดคือ ต้องให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สามารถนำไปเผยแพร่ ใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาบริการและนวัตกรรม โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ
หน่วยงานรัฐจึงต้องทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่อ่านได้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Machine Readable) ไม่ใช่เอกสารที่สแกนเป็นรูปภาพ แต่ต้องอยู่ในรูปแบบที่มีโครงสร้าง เพื่อให้ประมวลผลต่อได้โดยง่าย
ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นข้อมูลสถิติ แต่ข้อมูลที่มีมูลค่าสูงคือข้อมูล “ดิบ” ที่มีรายละเอียดซึ่งเอื้อต่อการนำไปวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ ตามความสนใจได้
DGA ได้จัดทำ “ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ” เพื่อรวบรวมข้อมูลเปิดจากหน่วยงานรัฐต่างๆ ไว้ ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด หรือใช้ API ในการดึงข้อมูลไปใช้โดยอัตโนมัติ มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 3.8 ล้านคน
โดยข้อมูลที่มีผู้เรียกดูมากที่สุดคือ รายงานโควิด-19 ประจำวัน และข้อมูลพิกัดที่ตั้งของตำบล เป็นต้น DGA ยังได้ร่วมกับ สำนักงาน ก.พ.ร.ขับเคลื่อนให้หน่วยงานรัฐจัดทำชุดข้อมูลเปิด เพิ่มขึ้นจาก 2,568 ชุดข้อมูลในปี 2563 เป็น 7,724 ชุดข้อมูลในปี 2565 และล่าสุดถึง 12,022 ชุดข้อมูล
ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐมักกังวลที่จะเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ เนื่องจากกลัวว่า ข้อมูลอาจจะไม่ถูกต้อง หากนำไปใช้แล้วอาจจะเกิดความผิดพลาดได้ หลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ ยิ่งมีความกังวลว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้
ในการขับเคลื่อนเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ จึงให้ความสำคัญกับการจัดทำ “ธรรมาภิบาลข้อมูล” โดยเฉพาะการจัดระดับชั้นความลับและวิธีการพัฒนาคุณภาพของข้อมูล จะได้สร้างความเชื่อมั่นในการนำไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์
สำหรับข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ต้องใช้วิธีการทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนได้ (Anonymization) เสียก่อนจึงจะเผยแพร่ได้ ดังเช่นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด มีการเปิดเผยข้อมูลเปิดเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิดรายบุคคลโดยไม่ระบุตัวตน เป็นต้น
เว็บ “ภาษีไปไหน” ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่น งบประมาณและโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) นำไปใช้ในการชี้ประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน
นอกจากนี้ DGA ยังได้นำรายชื่อบริษัทที่เป็นคู่สัญญาให้บริการด้านดิจิทัลกับหน่วยงานรัฐ จากระบบภาษีไปไหน มารวบรวมไว้บนเว็บศูนย์รวมผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานรัฐต่างๆใช้อ้างอิงในการจัดหาผู้ผลิตหรือให้บริการด้านไอที
ตัวอย่างชุดข้อมูลเปิดที่นำไปสู่การแก้ปัญหาโดยภาคเอกชน คือชุดข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการมาจากฐานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน คือ ข้อมูลจากโรงพยาบาล สถานีตำรวจ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์
เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยข้อมูลพิกัดของตำแหน่งการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทำให้ภาคเอกชนนำไปวิเคราะห์เกี่ยวกับรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุและหาทางปรับปรุงสภาพแวดล้อม ณ จุดเกิดเหตุ ให้ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตได้
ล่าสุด DGA ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มรายงานค่าฝุ่น PM2.5 “CU Sense” ซึ่งพัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรวมการรายงานสภาพฝุ่นทั้งจากอุปกรณ์ของกรมควบคุมมลพิษ และจากประชาชน ไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศของข้อมูลเปิดภาครัฐร่วมกับภาคประชาสังคมให้เกิดขึ้น
การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา มาจาก “ความพร้อม” ของหน่วยงานเป็นหลัก ต่อจากนี้ เราต้องการจะให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลตามความต้องการของผู้ใช้ โดย DGA ได้สำรวจความต้องการใช้ข้อมูลจากประชาชน แล้วนำไปหารือกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบข้อมูลเพื่อให้จัดทำชุดข้อมูลเปิดดังกล่าวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน (ITA) โดยสำนักงาน ป.ป.ช.นั้น จะมีการกำหนดรายการชุดข้อมูลที่หน่วยงานรัฐจะต้องเปิดเผย เช่น โครงสร้างองค์กร แผนปฏิบัติงาน รวมถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ อยู่แล้ว
DGA จึงได้เสนอให้ทุกหน่วยงาน สำรวจความต้องการข้อมูลเปิดของประชาชนแล้วเปิดเผยข้อมูลตามความต้องการของประชาชน ก็จะได้รับการประเมินคะแนน
ยังมีข้อมูลอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำมาเปิดเผย มีกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามประเภทธุรกิจ แยกรายอำเภอหรือจังหวัด ด้วยเหตุผลเพื่อให้เอกชน ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจได้เบื้องต้น
โดยเห็นรายละเอียดในระดับท้องถิ่น ไม่ต้องรอจนมีการแถลงภาวะเศรษฐกิจรายไตรมาสจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่สามารถจะประเมินความเสี่ยง เพื่อตัดสินใจที่จะลงทุนหรือไม่ลงทุนได้ทันท่วงที อันจะเป็นประโยชน์ในการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ผันผวนทางเศรษฐกิจได้
บางทีอาจจะต้องมีการร่างกฎหมายใหม่เพื่อการเปิดเผยข้อมูล อย่างที่สหภาพยุโรปมี Data Act หรือเกาหลีใต้ มีการออกกฎหมายเพื่อบังคับให้หน่วยงานรัฐ “ต้อง” เปิดเผยข้อมูล ยกเว้นเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล หรือความมั่นคงของประเทศเท่านั้น
ที่น่าสนใจคือแทนที่จะให้ผู้ขอข้อมูลต้องไปชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องการใช้ข้อมูลจากรัฐ หน่วยงานรัฐต้องเป็นฝ่ายชี้แจงเหตุผลว่าทำไมจึงไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ต่อคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาตัดสิน
นโยบาย “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นยกเว้น” จะเป็นจริงได้ นอกจากจะต้องตราเป็นกฎหมายแล้ว ยังต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจากภาคประชาสังคมในการแจ้งความต้องการข้อมูลภาครัฐ และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อยอดด้วย
บทความโดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ | อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) | www.facebook.com/DrSupot
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 24 มิ.ย.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1132724