สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตึงเครียดขึ้นมาอีกระลอก เมื่อมีปฏิบัติการปิดล้อมเพื่อจับกุมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่โดนระเบิดของกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัย ทำให้มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ 3 นาย อาการสาหัสถึง 2 นาย และถึงขั้นสูญเสียอวัยวะสำคัญ
ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น ในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. หรือ ตี 4 ของวันเสาร์ที่ 27 ก.ค.67 โดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมประจำจังหวัดปัตตานี (นปพ.ร่วม จ.ปัตตานี) ได้สนธิกำลัง 3 ฝ่าย เข้าบังคับใช้กฎหมาย เพื่อตรวจสอบและติดตามจับกุมบุคคลต้องสงสัยในพื้นที่ ตำบลนาเกตุ ของอำเภอโคกโพธิ์
กระทั่งเวลาประมาณ 07.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังปิดล้อมพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งยังไม่ชัดว่าเป็นบ้าน หรือขนำ (หมายถึงกระท่อมเล็กๆ ในภาษาใต้) หรือเป็นแหล่งกบดานในลักษณะ Support Site ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และกำลังเจรจาให้ผู้ต้องสงสัยยอมออกมามอบตัว ปรากฏว่ามีเสียงระเบิดดังขึ้น เจ้าหน้าที่ที่กำลังปิดล้อมอยู่ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย เพื่อนทหารนำส่งโรงพยาบาลปัตตานี ทราบชื่อคือ
• จ.ส.อ.ธนศักดิ์ บัวขาว เบื้องต้นมีรายงานว่าอาการสาหัส มีบาดแผลฉกรรจ์ที่แขน และขา
• ร.ท.ธวัชชัย สุวรรณรัตน์ มีบาดแผลที่บริเวณขาหนีบ
• อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) ณัฐพล ไชยวรรณ บาดเจ็บเล็กน้อย
หลังเสียงระเบิดดัง และกำลังพลได้รับบาดเจ็บ จึงเกิดการยิงปะทะกัน เสียงปืนดังเป็นระยะจากทั้งสองฝ่ายตลอดทั้งวัน กระทั่งเสียงปืนสงบลงในเวลาต่อมา แต่จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าเคลียร์พื้นที่ได้ 100%
@@ สั่งปิดเส้นทาง 3 วัน เอกซเรย์พื้นที่หวั่นมีซุ่มตอบโต้
พ.อ.เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงในเวลาต่อมาว่า ยืนยันมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะ ถูกระเบิดขว้าง จำนวน 3 นาย
โดย จ.ส.อ.ธนศักดิ์ บัวขาว สังกัด บก.ควบคุม 4 อาการสาหัส โดนระเบิดขาขาดทั้งสองข้างตั้งแต่เข่าลงไป มีแผลฉีกขาดตั้งแต่เข่าขึ้นไปจนถึงขาหนีบ มีแผลฉกรรจ์ทั้งขาและแขน ขณะนี้ต้องทำการช่วยชีวิตและทำหัตถการ ยังไม่มีสติ แพทย์ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ส่วน ร.ท.ธวัชชัย สุวรรณรัตน์ สังกัด บก.ควบคุม 4 เช่นกัน ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงบริเวณขาซ้าย และเคลื่อนย้ายไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เช่นกัน
ขณะที่ อส.ทพ.ณัฐพล สังกัดกรมทหารพรานที่ 41 ถูกสะเก็ดระเบิดที่หัวไหล่ข้างขวา ถูกแรงอัดระเบิดทำให้หายใจติดขัด แต่ยังมีสติดี ขณะนี้รักษาตัวที่โรงพยาบาล
พ.อ.เอกวริทธิ์ บอกด้วยว่า พื้นที่ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น เป็นป่ายางพารา ยากต่อการเข้าปฏิบัติการ “หน่วยกำลัง” ยังคงปิดล้อมพื้นที่ และดำเนินการต่อเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปิดถนนเส้นชลประทาน งดเว้นการสัญจร ตั้งแต่แยกชุดคุ้มครองตำบลนาเกตุ จนถึงแยกหน้า อบต.ควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ เป็นเวลา 3 วัน เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่
@@ พื้นที่ “นาเกตุ” เพิ่งมีลอบวางระเบิด 2 จุด แต่กู้ได้
สำหรับพื้นที่ บ้านนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ เพิ่งมีเหตุลอบวางระเบิด 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 และ 10 กรกฎาคม โดยเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ถังดับเพลิง และท่อเหล็ก ซึ่งคาดว่าเป็นระเบิดล็อตเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้สำเร็จทั้ง 2 ครั้ง จุดเกิดเหตุอยู่หน้าร้านขายของชำ และหลังศาลาพักผู้โดยสารริมถนน ใกล้กับแยกนาเกตุ
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัย ส่งเข้ากระบวนการซักถาม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อาจเกี่ยวโยงกับปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นในวันนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่อาจได้ข้อมูลจากการซักถามผู้ต้องสงสัยที่ควบคุมตัวได้
@@ แฉพื้นที่ปิดล้อมอาจเป็น Support Site กลุ่มป่วนใต้
มีรายงานว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่รับทราบข่าว เพราะโดยปกติ ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น มักไม่ค่อยมีรูปแบบการตอบโต้ของคนร้าย หรือกองกำลังติดอาวุธ ที่ใช้วัตถุระเบิดกระทำต่อเจ้าหน้าที่ จนเกิดความสูญเสียเช่นนี้
ต่อมา “ทีมข่าวอิศรา” ได้เดินทางเข้าที่เกิดเหตุ และพบว่าจุดที่เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อม ไม่ได้มีสภาพเป็นชุมชนเหมือนการปิดล้อมบ้านต้องสงสัยทั่วๆ ไป แต่เป็นพื้นที่ราบ ซึ่งมีทุ่งหญ้าและป่ายางพารา ผสมกับป่ารกทึบกลางที่โล่ง ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้ หากมีชัยภูมิที่ดี ห่างไกลจากสายตาเจ้าหน้าที่และคนทั่วไป กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักใช้เป็น “แหล่งพักพิง” หรือ “จุดพัก – จุดกบดาน” ใช้ซ่อนตัวหลังก่อเหตุ
หรือไม่ก็เป็น Support Site เอาไว้ซุกซ่อนยุทโธปกรณ์ วัตถุระเบิด และอาหารแห้ง โดยมี “ฝ่ายเมล์” หรือ “โลจิสติกส์” คอยวิ่งส่งกำลังบำรุง เชื่อมกันระหว่างทีมที่ทำงานในเมือง กับในป่า โดยมี “แหล่งพักพิง” หรือ Support Site เป็นจุดกึ่งกลาง
โดย Support Site หลายแห่งที่ใช้เป็นแหล่งพักพิง “กึ่งถาวร” จะมีการฝังกับระเบิดเอาไว้ เพื่อดักทำร้ายเจ้าหน้าที่ และภายในแหล่งพักพิง ก็จะมีวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง เป็น “ไปป์บอมบ์” พร้อมขว้างตอบโต้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นด้วย
ในอดีตเจ้าหน้าที่เคยปฏิบัติการในพื้นที่ลักษณะนี้ เช่น ที่บ้านบือแนจือแร หมู่ 2 ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 โดยต้องปิดล้อมยาวนานถึง 3 วัน ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงถูกวิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิต 7 ราย ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ได้รับบาดเจ็บหลายนาย โดยในครั้้งนั้น พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา ยังเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 และคุมปฏิบัติการดังกล่าวด้วย
@@ แม่ทัพภาค 4 ลงพื้นที่ ย้ำยึดสันติวิธี
ต่อมา พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางลงพื้นที่บ้านคลองช้าง ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ เพื่อติดตามสถานการณ์
โดย แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการตอบโต้ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และขอให้กำลังทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างรัดกุม เน้นผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำศาสนาเข้าร่วมเจรจา เพื่อให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเข้ามอบตัว โดยย้ำให้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักตามแนวทางสันติวิธีเท่านั้น และให้ปฏิบัติด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
@@ เพจขบวนการชิงประกาศข่าวปิดล้อมนาเกตุดับ 3
ขณะเดียวกัน มีเพจเฟซบุ๊กของสมาชิกกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน โพสต์ข้อความและภาพชายฉกรรจ์อ้างว่า เหตุการณ์ปิดล้อมที่ตำบลนาเกตุ มีฝ่ายตนเสียชีวิต 3 ราย คือ ต่วนอาดีล ต่วนฮูเซน, อิสมาแอล อะหมัด และ รอบี อะหมัด
อย่างไรก็ดี ไม่มีการยืนยันว่าชื่อที่นำมาอ้าง เป็นชื่อจริง หรือชื่อที่ใช้เรียกกันเฉพาะในกลุ่มพวกตน ส่วนภาพที่นำมาโพสต์ ยังไม่มีการยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกับที่ระบุชื่อหรือไม่
@@ กอ.รมน.อ่านเกม กลุ่มป่วนใต้ “ไอโอ ปลุกระดม”
“ทีมข่าว” สอบถามไปยัง พ.อ.เอกวริทธิ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้รับคำยืนยันว่า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัย เบื้องต้นมองว่าเป็นแนวทางที่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว ในส่วนของภาครัฐต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย
อย่างไรก็ดี พ.อ.เอกวริทธิ์ ขยายความว่า การพยายามให้ข่าวของกลุ่มก่อความไม่สงบว่าสมาชิกของฝ่ายตนเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ เป็นยุทธวิธีการต่อสู้แบบหนึงของกลุ่มขบวนการที่อยู่ในฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว เพื่อสดุดีวีรกรรม หรือปลุกให้สมาชิกกลุ่มอื่นหาทางปฏิบัติการตอบโต้เอาคืนเจ้าหน้าที่
ส่วนการเสียชีวิตจะจริงหรือไม่ ต้องรอการพิสูจน์ เพราะมีความเป็นไปได้ทั้งจริงและไม่จริง
กรณีที่เป็นความจริง ก็เป็นไปได้ว่า กลุ่มขบวนการที่อยู่ในป่าสามารถติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ ก็อาจจะมีการแจ้งข่าวสารให้ทราบ และมีเครือข่ายคอยรับข่าวสาร นำไปสร้างกระแสต่อ
หรือกรณีที่ยังไม่ชัดเจนว่าเสียชีวิตหรือไม่ แต่รู้ตัวว่าไม่สามารถฝ่าวงล้อมเจ้าหน้าที่ได้แล้ว ฝ่ายการเมืองของขบวนการก็จะชิงสดุดีวีรกรรม เพื่อให้คนที่เหลือฮึดสู้ และสมาชิกที่อยู่พื้นที่อื่นเกิดความโกรธแค้น จะได้วางแผนล้างแค้นเจ้าหน้าที่ หรือปลุกระดมขยายมวลชนออกไปอีก
กรณีที่มีความสูญเสียเกิดขึ้นจริงๆ ก็จะมีกระบวนการปลุกระดมให้ต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นก็จะกดดันญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต ไม่ให้อาบน้ำศพ เพื่อแสดงถึงความเป็นนักรบของพระเจ้า และทำกิจกรรมแห่ศพไปฝัง หรือเกิดกรณีการแย่งศพก่อนนำไปชันสูตร แบบที่เคยพยายามทำมาก่อนหน้านี้
——————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 27 กรกฎาคม 2567
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/130450-nakedblockade.html