เหตุระเบิดกลางอำเภอบันนังสตา หน้าแฟลตตำรวจ ใกล้โรงพัก ไม่ใช่แค่ “สัญญะ” จากผู้ก่อความไม่สงบที่ส่งถึงรัฐไทย หรือสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
แต่ยังเป็น “สัญญะ” ที่สะท้อนถึงความล้มเหลวอ่อนแอของฝ่ายรัฐเองด้วย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง กลั่น 20 ข้อสังเกต ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ 20 ปีที่สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาไฟใต้ และเป็นห้วงเวลาที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กำลังเจรจาข้อตกลงที่ชื่อว่า “JCPP” หรือ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม
พร้อมตั้งคำถามว่าแท้ที่จริงแล้วฝ่ายความมั่นคงไทยมียุทธศาสตร์ “เอาชนะ” ปัญหานี้แล้วหรือยัง?
ระเบิดบอกอะไร?
เหตุระเบิดด้วยการใช้ “คาร์บอมบ์” หวนกลับมาเกิดอีกครั้ง และเกิดในพื้นที่ที่เป็นดังพื้นที่ในความควบคุมของรัฐโดยตรง คือ เกิดที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ
เหตุระเบิดครั้งนี้ เกิดในบริบทที่มีความพยายามผลักดันให้รัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องยอมรับเอกสาร JCPP อันเป็นร่างข้อตกลงระหว่างรัฐไทยกับ “กลุ่ม BRN” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ดังนั้นหากพิจารณา “สัญญาณการเมือง” ของระเบิดครั้งนี้แล้ว เราอาจเห็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.การก่อเหตุระเบิดเป็นสัญญาณโดยตรงว่า การเจรจายังไม่ใช่เครื่องมือของการยุติความรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายตั้งความหวังไว้
2.แม้ระดับของการก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มลดลงในเชิงปริมาณ แต่การก่อเหตุยังคงความรุนแรง
3.ผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงคาดหวังในการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการกดดันรัฐบาล เพราะข่าวการระเบิดของคาร์บอมบ์ย่อมชิงพื้นที่ของสื่อ และนำเสนอภาพความอ่อนแอของฝ่ายรัฐเสมอ
4.การระเบิดในอีกส่วนเป็นวัตถุประสงค์เฉพาะหน้าของการก่อเหตุ เพื่อทั้งต่อรองและกดดันให้รัฐบาลต้องประกาศการยอมรับต่อ JCPP
5.โดยสาระของเอกสาร JCPP นั้น การยอมรับของฝ่ายรัฐไทยจะเป็นเงื่อนไขให้เกิด “การรุกทางการเมือง” และอาจสะท้อนถึงการที่ฝ่ายต่อต้านเตรียมทำสงครามในมิติทางการเมืองมากขึ้น
6.JCPP คือ การสร้างความได้เปรียบให้แก่ BRN ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ดังจะเห็นได้จากเสียงสนับสนุนจากกลุ่มและองค์กรแนวร่วมที่ล้วนเป็นไปในทางกดดันให้รัฐต้องรับเอกสารนี้
7.ยุทธศาสตร์ของฝ่ายต่อต้านรัฐในทุกสงครามก่อความไม่สงบทั่วโลก คือ “รบไปคุยไป … คุยไปรบไป” จนกว่าจะพลิกสถานการณ์ด้วยชัยชนะบนโต๊ะเจรจา เพื่อบีบบังคับให้รัฐต้องยอมแพ้
8.การเจรจาในเงื่อนไขของสงคราม คือ “สงครามในตัวเอง” ดังนั้นฝ่ายรัฐจะต้องมียุทธศาสตร์และทักษะที่จะไม่ทำให้รัฐแพ้การเมืองบนโต๊ะเจรจา เพราะการแพ้เช่นนี้อาจมีนัยถึงการแพ้สงคราม
9.รัฐไทยต้องตระหนักเสมอว่า การตอบรับ JCPP มีนัยทางการเมืองต่อสถานะและความน่าเชื่อถือของรัฐในสายตาของมวลชนใน 3 จังหวัด และการตอบรับอาจถูกตีความว่าเป็นสัญญาณความอ่อนแอของรัฐไทย
10.รัฐไทยอาจต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นในเรื่องของ “สงครามการเมือง” และ “การรุกทางการเมือง” เพื่อตระหนักถึง “บริบททางการเมือง” ของสงคราม
11.การเรียนรู้ใน 3 ประเด็นดังกล่าวจะมีส่วนช่วยโดยตรงต่อกระบวนการทำนโยบายของรัฐ และรวมถึงการกำหนดพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สร้างให้เกิดเงื่อนไขของ “ความพ่ายแพ้ทางการเมือง” อีกด้วย
12.การเจรจาเพื่อยุติสงครามการก่อความไม่สงบใช้เวลา และอาจนานมากกว่าความหวังที่เชื่อว่าสงครามจะยุติได้โดยเร็ว (เช่นกรณีของความรุนแรงในภาคใต้ของฟิลิปปินส์) รัฐและผู้คนในสังคมต้องอดทนกับสิ่งเหล่านี้
13.พื้นที่ก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีให้เห็นได้ในหลายจุด ฝ่ายรัฐอาจต้องแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการควบคุมและรักษาความปลอดภัยพื้นที่ให้ได้มากกว่านี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับมวลชนทั้งไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่
14.ฝ่ายรัฐต้องตระหนักเสมอว่า ความสำเร็จของการก่อเหตุร้ายจะถูกใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อบ่งบอกถึงความอ่อนแอของฝ่ายรัฐ
15.ความสำเร็จของการก่อเหตุร้ายยังใช้เพื่อการโฆษณาทางการเมืองในการแสวงหาสมาชิกใหม่ และสร้างกระบวนการบ่มเพาะความรุนแรงกับเยาวชนในพื้นที่
16.การสร้างความปลอดภัยของพื้นที่ยังคงเป็นดัชนีวัดที่สำคัญถึงความสามารถของฝ่ายรัฐในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ
17.การก่อเหตุไม่ว่าจะเป็นการใช้คาร์บอมบ์ การวางระเบิด การลอบสังหาร ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายต่อต้านรัฐสร้างความได้เปรียบทางยุทธการด้วยวิธีการก่อการร้าย กล่าวคือ การต่อต้านรัฐมีมิติของการก่อการร้ายมากขึ้น
18.ความรุนแรงที่เกิดต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 21 ยังคงเป็นสัญญาณสำคัญถึงการต้องทำ “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
19.การสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ยังหมายถึง การทบทวน 3 ส่วนหลัก คือ แผนงบประมาณ แผนงานยุทธการ และแผนงานพัฒนา เพราะแผนดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องมาถึง 20 ปีแล้ว
20.รัฐบาลไทยยังควรยืนยันถึงบทบาทในการเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ของรัฐบาลมาเลเซีย และควร “คุย” กับมาเลเซียเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันที่จะยังไม่มีการเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกเป็นประเทศอื่น
เรื่องราวทั้งหมดนี้ ไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าสถานการณ์สงครามยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญ ปัญหานี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญท้าทายรัฐบาลต่อไป
————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 18 ก.ค.67
Link :https://www.dailynews.co.th/news/3655938/