สื่อของรัฐบาลรัสเซียระบุว่า ผู้สร้างการ์ตูนชาวฝรั่งเศสอยู่เบื้องหลังซีรีส์การ์ตูนต่อต้านประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ที่กำลังเป็นไวรัลอยู่ตอนนี้ พวกเขาอ้างว่าความช่วยเหลือทางทหารสำหรับยูเครนทำให้ชาวยุโรปยากจนลง แต่หลักฐานที่บีบีซีค้นพบกลับชี้ว่าการ์ตูนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมาจากฝีมือของรัสเซียมากกว่า
คืนวันคริสต์มาสอีฟ ในปารีส เด็ก ๆ เตรียมตัวเข้านอนด้วยความคาดหวังว่าจะได้พบกับเวทมนตร์ ทว่าปีนี้เทศกาลกลับพลิกผันอย่างไม่คาดคิด เมื่อมีบุคคลที่ไม่ได้สวมชุดแดงตามธรรมเนียม แต่สวมเสื้อโค้ทสีเหลืองและน้ำเงินลงมาทางปล่องไฟ
เบื้องหลังเคราปลอมสีขาวนั้น ไม่ยากที่จะจำได้ว่านั่นเขาคือ ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของประเทศยูเครน เขากำลังย่องไปที่ต้นคริสต์มาส ค้นหาของขวัญของเด็ก ๆ และขโมยของที่เขาชอบที่สุดไป นั่นก็คือ เครื่องบินทหาร และเด็ก ๆ ก็ร้องไห้
ฉากนี้เกิดขึ้นในหนึ่งในตอนล่าสุดของซีรีส์การ์ตูนต่อต้านเซเลนสกีที่ชื่อว่า “Ukraine Inc.” (อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า “บริษัทยูเครนจำกัด”) ตอนแรกของซีรีส์นี้เผยแพร่บนเว็บไซต์ ukraine-inc.info ตั้งแต่ปี 2023 และตอนใหม่ ๆ ก็ได้รับการเผยแพร่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมา
การ์ตูนที่มีความยาวประมาณ 1.5-3 นาทีต่อตอนกลายเป็นไวรัลหลัง จากหนึ่งในช่องทางแพลตฟอร์มเทเลแกรม (Telegram) ที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียที่ใหญ่ที่สุดอย่าง “Readovka” เริ่มเผยแพร่เนื้อหาให้กับผู้ติดตามกว่า 2.5 ล้านคน
ช่อง “Readovka” รวมถึงสื่อรัสเซียอื่น ๆ อ้างว่าผู้วาดการ์ตูนดังกล่าวเป็นชาวฝรั่งเศสอย่างไรก็ดี ไม่มีเบาะแสสักข้อเดียวจากวิดีโอเหล่านี้ที่บ่งบอกว่าผู้วาดเป็นชาวฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้บีบีซีจึงพยายามสืบหาว่าใครเป็นผู้วาดการ์ตูนแอนิเมชันนี้กันแน่
เส้นขนานของการ์ตูน “ฝรั่งเศส” และกลุ่มสนับสนุนรัสเซีย
เส้นเรื่องของซีรีส์ Ukraine Inc ดูเหมือนมีเนื้อหาที่สะท้อนเรื่องเล่าจากโฆษณาชวนเชื่อของฝั่งรัสเซีย เช่น ยูเครนถูกฉายภาพว่ามี “นาซี” เป็นผู้ควบคุมอยู่เบื้องหลัง และเซเลนสกี “เป็นหุ่นเชิดของฝั่งตะวันตก” และเขายังเป็นผู้ที่ทำกำไรจากการ “ส่งชาวยูเครนเข้าสู่เครื่องบดเนื้อ”ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่ชาวยูเครนต้องไปอยู่ด่านหน้าของการสู้รบ
บีบีซีวิเคราะห์การ์ตูนแต่ละตอนพบว่า ในบางตอนชื่อถนนในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ถูกเอาชื่อมาแปลงหรือแต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด ในขณะที่คำภาษาฝรั่งเศสมักมีการสะกดผิด
ในตอนหนึ่ง มีรายละเอียดที่ดึงดูดความสนใจของบีบีซี เป็นตอนที่ประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ถูกนำเสนอเป็นหนูที่กำลังหนีออกจากเรือที่กำลังจม ราวกับว่าพวกเขากำลังออกจากพันธมิตรกลุ่มนี้
แต่หนูเหล่านั้นมีหน้าตาที่ดูน่าคุ้นเคย
บีบีซีพบว่าหนูตัวเดียวกันนี้ปรากฏในการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2022 ในการ์ตูนเรื่องดังกล่าว หนูตัวนั้นถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศสที่ขโมยข้าวของจากคนท้องถิ่นและก่อให้เกิดความวุ่นวาย
การ์ตูนเรื่องนี้ได้โปรโมตกลุ่มทหารรับจ้างแวกเนอร์ของรัสเซีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหลายเหตุการณ์ในประเทศอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสที่อยู่ในภูมิภาคนั้น
เราได้สอบถามนักสร้างการ์ตูนมืออาชีพสามคน เพื่อให้เปรียบเทียบการ์ตูนโฆษณาชวนเชื่อ
ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้สร้างใช้แม่แบบหรือเทมเพลตเดียวกันเป็นร่างพื้นฐานในการสร้างตัวหนูในการ์ตูนเรื่อง Ukraine Inc และการ์ตูนที่สนับสนุนกลุ่มทหารแวกเนอร์ของรัสเซีย
“พวกเขาเพียงแค่ปรับเปลี่ยนการออกแบบต้นฉบับเพียงเล็กน้อยจากการ์ตูนทั้งสองเรื่อง” พอล สโตน นักสร้างการ์ตูนจากลอนดอน สหราชอาณาจักรกล่าว เขาเสริมว่านี่เป็นเรื่องปกติเมื่อสตูดิโอมีเวลาและงบประมาณจำกัด
บีบีซีพบภาพต้นฉบับของหนูตัวนั้นในกลุ่มภาพสต็อกที่วางขาย ซึ่งสร้างโดยนักออกแบบกราฟิกอิสระจากรัสเซีย แต่นักออกแบบกราฟิกรายนี้ไม่ตอบรับต่อการสัมภาษณ์ของบีบีซี
“พวกเขาใช้ [แม่แบบ] เดียวกันเป็นจุดเริ่มต้น มันปฏิเสธไม่ได้เลย” เบ็น แมริออท ผู้สร้างบทเรียนออนไลน์สำหรับการออกแบบภาพกราฟิกที่มีการเคลื่อนไหวและเจ้าของสตูดิโอแอนิเมชันในซิดนีย์ ออสเตรเลีย กล่าว
เขากล่าวว่า ตัวหนูไม่ได้ดูเหมือนกันทั้งหมดเพราะองค์ประกอบบางส่วน เช่น หางและขากรรไกรล่าง ถูกปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเข้ามาจากการออกแบบต้นฉบับเพื่อให้มีการเคลื่อนไหว
แต่เนื่องจากไม่มีองค์ประกอบอื่นใดในการ์ตูนสองเรื่องนี้ที่ดูคล้ายกัน และภาพประกอบต้นฉบับของหนู เป็นภาพสต็อกที่สามารถหาได้จากแหล่งสต็อกภาพทั่วไป จึงไม่สามารถระบุได้ว่าการ์ตูนทั้งสองตัวนี้สร้างขึ้นโดยศิลปินหรือสตูดิโอเดียวกันหรือไม่
ขณะเดียวกันนักวาดภาพประกอบอิสระชาวรัสเซียคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยตัวตนบอกกับบีบีซีว่า เขาเชื่อว่ามีความคล้ายคลึงกันการ์ตูนทั้งสองเรื่อง
“วิธีการสร้างเฟรม วิธีการวาดห้องต่าง ๆ และวิธีการซูมไปที่มือในช่วงจังหวะสำคัญ ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเทคนิคที่ไม่ชัดเจน มันมีแนวโน้มว่าจะเป็นสไตล์ของนักวาดคนเดียวกัน แม้ว่าเราจะไม่สามารถอ้างได้อย่างแน่ใจก็ตาม”
ทำไมต้องเป็นฝรั่งเศส ?
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียอ้างว่า การสร้างการ์ตูนโฆษณาชวนเชื่อมาจากชาวฝรั่งเศส ในปี 2022 ช่องโทรทัศน์ “แชนแนล วัน” ของรัฐบาลรัสเซีย เคยออกอากาศการ์ตูนต่อต้านเซเลนสกีเรื่อง “Stop Nazi Games” [อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า “ยุติเกมนาซี”] การ์ตูนนี้ยังถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยอ้างว่าเป็นการ์ตูนที่สร้างโดยสตูดิโออิสระของฝรั่งเศสที่ชื่อว่า “ปลาบาราคูดา” (Barracudas)
อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสตูดิโอนี้ทางออนไลน์เลย
การ์ตูนดังกล่าวไม่ได้มาจากฝรั่งเศส แต่มีแนวโน้มว่าจะมาจากอาร์เมเนีย การ์ตูนเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องและสไตล์เดียวกับการ์ตูนต่อต้านอาเซอร์ไบจานเรื่อง “Kill Dim 2020” ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสตูดิโอแอนิเมชันในอาร์เมเนียด้วย
เควิน ลิโมเนียร์ รองศาสตราจารย์ด้านรัสเซียศึกษา สถาบันภูมิศาสตร์การเมืองแห่งฝรั่งเศส กล่าวว่าเขาแทบไม่แปลกใจกับการอ้างของรัสเซียที่ว่าการ์ตูนโฆษณาชวนเชื่ออย่าง “Ukraine Inc” และ “Stop Nazi Games” มีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศส
เขากล่าวว่า ฝรั่งเศสกลายเป็นเป้าหมายหลักสำหรับปฏิบัติการข้อมูลเท็จของรัสเซีย เนื่องจากการสนับสนุนยูเครนอย่างเปิดเผย และมากเกินไปของฝรั่งเศส
“สุนทรพจน์ล่าสุดของมาครง เกี่ยวกับการส่งทหารไปยูเครนถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามในมอสโก ตั้งแต่เบร็กซิท ฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์เพียงแห่งเดียวในยุโรปและเป็นมหาอำนาจทางทหารหลักในยุโรปร่วมกับโปแลนด์ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมรัสเซียจึงกำลังโจมตีฝรั่งเศสในพื้นที่ของข้อมูล” รศ.ลิโมเนียร์กล่าว
เขายังเสริมว่ารัสเซียต้องการ “โน้มน้าวผู้ชมภายในประเทศว่า ชาวฝรั่งเศสบางคนยังทำงานเพื่อผลประโยชน์ของรัสเซียอยู่”
อย่างไรก็ตาม โซอี ฟูเรล จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ติดตามการบิดเบือนข้อมูลระดับโลก (The Global Disinformation Index)ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่าเป้าหมายหลักของการ์ตูนเหล่านี้คือการเข้าถึงผู้ชมจากหลากหลายประเทศและหลากหลายวัฒนธรรม
“รัสเซียใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อสื่อสารข้อความของตน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าสู่เว็บไซต์ RT [สื่อที่ควบคุมโดยรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จที่สนับสนุนรัสเซีย] แต่การ์ตูนเหล่านี้เข้าถึงได้ง่ายมาก ข้อความของการ์ตูนเหล่านี้มีความเป็นสากล” เธอกล่าว
ขณะเดียวกัน แคมเปญโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านเซเลนสกีกำลังโปรโมตตอนที่ 13 การ์ตูนชุดนี้ โดยกระตุ้นให้ผู้ชมลงทะเบียนรับข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ไม่พลาดการเผยแพร่
————————————————————————————————————-
ที่มา : บีบีซีไทย / วันที่เผยแพร่ 3 ก.ค.67
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cp38nxjrgg4o