รัฐบาลจีนปรับกฎใหม่สะเทือนซัพพลายเชนแรร์เอิร์ธ ชี้ ‘แร่หายาก’ เป็นสมบัติของชาติ เอกชนไม่มีสิทธิครอบครอง เริ่มบังคับใช้ 1 ต.ค. นี้
ทางการจีนแถลงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้ปรับกฎระเบียบใหม่ในการกำกับดูแลทรัพยากรแร่หายาก (แรร์เอิร์ธ) โดยระบุว่าทรัพยากร “แร่หายากเป็นสมบัติของรัฐ” และรัฐบาลจะเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้เป็นต้นไป
“ไม่มีองค์กรหรือบุคคลใดที่จะครอบครองหรือทำลายทรัพยากรแร่หายากได้” แถลงการณ์ของจีนระบุ พร้อมย้ำถึงเป้าหมายที่จะ “รับประกันความมั่นคงทางทรัพยากรของชาติ” และ “ความมั่นคงทางอุตสาหกรรม”
ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวที่ระบุว่าแรร์เอิร์ธเป็นสมบัติของรัฐ ไม่ได้ถูกระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ในร่างกฎระเบียบควบคุมแร่หายากฉบับใหม่ แต่เพิ่งมาปรากฎในร่างฉบับสุดท้ายและกำลังจะมีผลบังคับใช้ในอีก 3 เดือนจากนี้
นิกเกอิเอเชียระบุว่า กฎระเบียบใหม่ในครั้งนี้สะท้อนความพยายามล่าสุดของจีนในการปกป้องทรัพยากรแร่หายากที่มีความสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมของประเทศ ท่ามกลางความขัดแย้งที่สหรัฐพยายามสกัดกั้นจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีชิปล้ำสมัย
โดยปกติแล้ว ทรัพยากรที่อยู่ใต้ดินในประเทศถูกกำหนดให้เป็นสมบัติของชาติอยู่แล้ว ทว่าจีนเองก็ประสบปัญหาภาคเอกชนลักลอบขุดเหมืองและถลุงแร่เถื่อนเช่นกัน การประกาศกฎใหม่นี้ออกมาจึงยิ่งตอกย้ำว่า ทางการจีนจะบังคับใช้และควบคุมเรื่องแร่หายากให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ กฎข้อบังคับใหม่ดังกล่าวจะครอบคลุมไปทั้งห่วงโซ่อุปทานด้วย ตั้งแต่การขุดเหมืองและถลุงแร่ กระบวนการสกัดแร่ การจัดจำหน่าย และการส่งออกไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ แร่หายากถือเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปจนถึงเครื่องเลเซอร์ และขีปนาวุธ ขณะที่ปัจจุบัน “จีน” ครองตลาดการผลิตแร่หายากคิดเป็นสัดส่วนมากถึงราว 70% ของโลก
ที่ผ่านมา สหรัฐพยายามขยายการทำเหมืองขุดแร่หายากเพื่อลดการพึ่งพาจีน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังต้องพึ่งพาจีนในแง่ของการถลุงแร่และกระบวนการต่าง ๆ อยู่
ในขณะที่จีนเพิ่งประกาศควบคุมการส่งออกแร่หายากให้เข้มงวดขึ้นเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งห้ามส่งออกเทคโนโลยีสำหรับการผลิตแม่เหล็กนีโอไดเมียมแบบแรงสูงและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้แรร์เอิร์ธ นอกจากนี้ จีนยังควบคุมการส่งออกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น แกลเลียม ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และกราไฟต์ ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถอีวี
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 1 ก.ค.67
Link : https://www.dailynews.co.th/news/3593862/