รู้จัก “Predatory Journal” หรือวารสารวิชาการปลอม ซึ่งมักเอาเปรียบนักวิชาการ แต่บางครั้งก็เป็นเครื่องมือสร้างความน่าเชื่อถือให้นักวิจัยปลอมเช่นกัน
จากกรณีเรื่องวุฒิการศึกษาปลอมที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสังคมไทยขณะนี้ ทำให้อีกหนึ่งประเด็นที่ตามมาคือเรื่องของ “งานวิจัยปลอม” เพราะการได้วุฒิการศึกษาสูง ๆ มามักจะต้องมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์อันน่าเชื่อถือ
และสิ่งที่คนในแวดวงวิชาการรู้กันคือ งานวิจัยจะน่าเชื่อถือหรือไม่นั้น ปัจจัยแรก ๆ ที่จะถูกใช้ในการตัดสินคือ “ผู้ตีพิมพ์” (Publisher) หรือ “วารสารวิชาการ” (Journal) ที่ตีพิมพ์งานวิจัยนั้น ๆ
AFP/LOIC VENANCE
Nature หนึ่งในเครือวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลก (แฟ้มภาพ)
บนโลกของเรามีผู้ตีพิมพ์หรือวารสารวิชาการมากกว่า 28,000 หัว ซึ่งแบ่งออกเป็นหลากหลายสาขาวิชา เช่น ถ้าเป็นงานวิจัยด้านการแพทย์ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Lancet, New England Journal of Medicine หรือ BMJ-British Medical Journal อาจได้รับความน่าเชื่อถือสูง
หรือถ้าเป็นงานวิจัยวิทยาศาสตร์คนก็จะให้ความเชื่อถือในวารสาร Science และ Nature ค่อนข้างมาก หรือสาขาชีววิทยาและสิ่งมีชีวิต วารสาร Cell จะได้รับความน่าเชื่อถือ
ความน่าเชื่อถือหรือคุณภาพของผู้ตีพิมพ์และวารสารวิชาการมักพิจารณากันในเบื้องต้นที่ “ค่า Journal Impact Factor” (JIF) คือ ค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งที่วารสารหัวนั้น ๆ ได้รับการอ้างอิงในบทความอื่นที่ตีพิมพ์ในช่วง 2 ปีล่าสุด เช่น วารสารที่มีค่า Impact Factor 3 หมายถึง วารสารนี้มีบทความที่ถูกนำไปอ้างอิงเฉลี่ย 3 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งค่านี้สูงจะทำให้มีความน่าเชื่อถือสูงในสายตานักวิชาการด้วยกัน
นอกจากนี้ยังมีการประเมินค่า JIF Quartile (Q) คือ การประเมินคุณภาพและจัดอันดับวารสารที่มีค่า Impact factor ของวารสารในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน ค่า Q จะหมายถึง Quartile Score ของวารสารในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง ตั้งสุงสุดคือ Q1 ไปจนถึงต่ำสุดคือ Q4 งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Q สูงจะมีความน่าเชื่อถือสูง
แต่ท่ามกลางผู้ตีพิมพ์หรือวารสารหลายหมื่นหัว อาจมีสิ่งที่เรียกว่า “Predatory Journal” รวมอยู่ด้วย
Predatory Journal หรือวารสารนักล่า อธิบายง่าย ๆ คือ “วารสารปลอม” ที่เผยแพร่ผลงานทางวิชาการเพื่อผลประโยชน์ล้วน ๆ เพราะจะตีพิมพ์งานวิจัยโดยไม่ตรวจสอบคุณภาพและความถูกต้องของบทความ และไม่มีการให้บริการด้านบรรณาธิการและการตีพิมพ์ที่วารสารวิชาการซึ่งถูกต้องตามกฎหมายมักมีให้
การแสวงหาประโยชน์ของ Predatory Journal เป็นไปได้ทั้งสองทาง คือ ฝ่ายผู้จัดพิมพ์หลอกนักวิชาการให้ตีพิมพ์กับตน เรียกเก็บเงินค่าตีพิมพ์ จากนั้นก็เผยแพร่บทความงานวิจัยนั้นให้โดยไม่ตรวจสอบและไม่มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้งานวิจัยไม่มีความน่าเชื่อถือ
นักวิชาการที่ตกเป็นเหยื่ออาจเป็นนักวิชาการที่ถูกวารสารน่าเชื่อถือสูงอื่น ๆ ปฏิเสธมา ทำให้พยายามเสาะหาวารสารหัวอื่นที่จะตีพิมพ์การศึกษาของพวกเขา
อีกลักษณะคือ ฝ่ายนักวิชาการปลอมต้องการสร้างความน่าเชื่อถือปลอม ๆ ให้ตัวเอง จึงจ่ายเงินเพื่อให้งานวิจัยของตนได้ชื่อว่าเคยถูกตีพิมพ์ แล้วก็จะสามารถนำสถานะนักวิชาการของตนไปทำอย่างอื่นต่อได้ (หากไม่มีใครตรวจสอบอย่างจริงจัง)
predatoryjournals.org เว็บไซต์ที่รวบรวมรายชื่อผู้ตีพิมพ์ปลอมและวารสารปลอมทั่วโลก ระบุว่า ลักษณะของ Predatory Journal คร่าว ๆ มักมีดังนี้
• ยอมรับบทความอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิหรือการควบคุมคุณภาพเลยแม้แต่น้อย
• แทรกแซงกระบวนการบรรณาธิการเพื่อให้แน่ใจว่าบทความมีคุณภาพต่ำจะได้รับการยอมรับ
• แจ้งค่าธรรมเนียมบทความให้นักวิชาการทราบหลังจากรับเอกสารแล้วเท่านั้น
• แต่งตั้งนักวิชาการปลอมเป็นกองบรรณาธิการ
• เลียนแบบชื่อหรือรูปแบบเว็บไซต์ของวารสารที่มีชื่อเสียงรายอื่น
• การกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น ตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นเท็จ
• อ้างถึง JIF ปลอมหรือไม่มีอยู่จริง
• โอ้อวดเกี่ยวกับการ “ถูกจัดทำดัชนี” (Indexed) โดยเครือข่ายเชิงวิชาการ เช่น ResearchGate และตัวระบุมาตรฐาน เช่น ISSN และ DOI
ด้วยเหตุนี้ หากมีใครนำงานวิจัยมายกอ้างสร้างความน่าเชื่อถือ สิ่งแรกที่ต้องดูก่อนจะเชื่อคืองานวิจัยนั้นตีพิมพ์ในวารสารใด โดยสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ตีพิมพ์หรือวารสารเหล่านั้นได้จากหลายแหล่ง เช่น
• Scopus
• SNIP (Source Normalized Impact per Paper)
และสามารถตรวจสอบรายชื่อวารสารที่เข้าข่ายเป็น Predatory Journal ได้ที่ predatoryjournals.org (อัปเดตทุกปี)
เรียบเรียงจาก Predatory Journals
——————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 12 กรกฎาคม 2567
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/228300