เป็นเวลา 27 ปีแล้ว ที่อังกฤษส่งมอบ ฮ่องกง กลับคืนสู่จีน ภายใต้หลักการปกครองแบบ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ซึ่งแนวคิดการปกครองนี้คือการยึดถือนโยบาย ‘จีนเดียว’ (One China) แต่ยังสามารถมีระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยมที่แตกต่างจากระบบสังคมนิยมของจีนแผ่นดินใหญ่ได้
ช่วงไม่กี่ปีหลังกลับสู่อ้อมอกจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเปิดตัวแคมเปญที่สร้างแบรนด์ให้เมืองนี้กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘นครหลวงของโลกเอเชีย’ (Asia’s World City) สื่อความหมายว่า แม้จะเปลี่ยนประเทศผู้ปกครอง แต่ความเปิดกว้างและบรรยากาศความมีชีวิตชีวาของฮ่องกงก็จะยังคงอยู่
อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้บรรยากาศในฮ่องกงต้องเรียกได้ว่า ‘เปลี่ยนไปมาก’ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสภาพสังคม ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหา เช่น ความเหลื่อมล้ำ ข้าวของ อาหาร และที่พักอาศัย ราคาแพง ในขณะที่สิทธิเสรีภาพและการปกครองแบบประชาธิปไตย (ที่ไม่เคยเต็มใบ) ก็เริ่มถดถอยและถูกกลืนกินจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเห็นได้ชัด
ไทม์ไลน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอด 27 ปีของฮ่องกง มีหลายหมุดหมายที่สำคัญ และทำให้มองเห็นไปถึงทิศทางที่เมืองแห่งนี้กำลังก้าวเดินไป ท่ามกลางความยากลำบากและท้าทายของชาวฮ่องกงที่ผูกรัดไปกับการขับเคลื่อนบ้านเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
10 ปีแรก ฮันนีมูน
รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของฮ่องกงในช่วงทศวรรษแรกหลังกลับคืนสู่จีน โดยชี้ว่า ตั้งแต่ช่วงปี 1997-2007 หรือช่วงปลายยุครัฐบาลเจียงเจ๋อหมิน ไปจนถึงปลายยุคของรัฐบาลหูจิ่นเทา สามารถเปรียบได้เป็นช่วงฮันนีมูน จากการที่เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตก้าวกระโดดและไม่ประสบปัญหา
ในขณะที่ฮ่องกงเองก็เติบโตและเป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนเงินลงทุนให้จีนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งในแง่ของสิทธิเสรีภาพต่างๆ ก็ดูจะไม่เป็นปัญหาอะไร ถึงขั้นที่หูจิ่นเทาพูดในโอกาสครบ 10 ปีที่อังกฤษส่งคืนฮ่องกงว่า น่าจะสามารถให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป (Universal Suffrage) หรือสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งตามแบบสากล ให้แก่ชาวฮ่องกงได้ในอีกทศวรรษถัดไป
บรรยากาศอันดีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความราบรื่นในการปกครองตามหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบในทศวรรษแรก และทำให้ชาวฮ่องกงไม่น้อยมองว่าตนเองนั้นเป็นพลเมืองภายใต้การปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตยที่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่พลเมืองใต้ระบบคอมมิวนิสต์
10 ปีหลัง ปัญหาปะทุ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 2 หรือตั้งแต่ปี 2007-2017 ปัญหาต่างๆ ของฮ่องกงที่ไม่เคยปรากฏเด่นชัดก็เริ่มแสดงให้เห็นมากขึ้น โดยมีปัจจัยหลักๆ จากการที่เศรษฐกิจจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ซึ่งในปีสุดท้ายที่เศรษฐกิจจีนเติบโตเกิน 7% คือปี 2009 และหลังจากนั้นภาวะเศรษฐกิจจีนก็เติบโตถดถอยมาเรื่อย ๆ
กระทั่งปี 2013 จีนได้ผู้นำคนใหม่คือประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจในช่วงที่ถือว่ามีความท้าทาย ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่อง และความขัดแย้งในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ค่อนข้างรุนแรง
รศ.ดร.วาสนา ชี้ว่า ปัจจัยท้าทายเหล่านี้ทำให้สีดำเนินการสร้างความมั่นคงให้ตนเองด้วยการปฏิรูปกองทัพและพยายามที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในขณะที่พยายามยกเลิกกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลต่างๆ ที่ปูรากฐานไว้ตั้งแต่ยุคเติ้งเสี่ยวผิง เพื่อให้มีการคานอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์
อีกอย่างที่เกิดขึ้นในยุคแรกของสีคือเริ่มจัดการ ‘กำราบ’ ฮ่องกงอย่างจริงจัง เนื่องจากหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ ทำให้ฮ่องกงมีเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งด้านสื่อ ศาสนา และการเมือง แบบที่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ จนทำให้ฮ่องกงกลายมาเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่จะถูกแบนได้ในจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น กรณีโศกนาฏกรรมเทียนอันเหมิน ซึ่งช่วงนั้นมีการจัดงานรำลึกทุกปีในฮ่องกง
เหตุการณ์ที่ทำให้ทั่วโลกเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลสีในการแทรกแซงเสรีภาพในฮ่องกงคือ กรณีการหายตัวไปของ 5 พนักงานและเจ้าของร้านหนังสือ Causeway Bay Books ในฮ่องกง ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2015 ซึ่งร้านนี้ขายหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและประเด็นละเอียดอ่อนต่าง ๆ ในจีน
เหตุการณ์นี้จุดชนวนให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกว่าทั้ง 5 คนอาจถูกทางการจีนจับตัวไป ก่อนที่ทางการมณฑลกวางตุ้งของจีนจะยอมรับว่าได้ควบคุมตัวทั้ง 5 คนไว้ในคดีค้างเก่าเกี่ยวกับการจราจร โดยไร้คำอธิบายอื่นๆ และเผยแพร่คลิปวิดีโอของหนึ่งในผู้ถือหุ้นร้านหนังสือที่ถูกจับ สารภาพว่าพวกเขาได้ข้ามไปยังจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมัครใจ
แต่หลังจากที่เจ้าของร้านหนังสือได้กลับไปยังฮ่องกง ก็มีการแถลงข่าวในเดือนมิถุนายน 2016 เผยว่าพวกเขาถูกทางการจีนคุมขังไว้ 8 เดือน โดยทีมสืบสวนกลางของรัฐบาลจีนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องภายใต้การควบคุมตรงจากผู้นำระดับสูงของปักกิ่ง ซึ่งจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด
ทั้งนี้ ช่วงต้นทศวรรษ 2010 ยังมีการปรากฏตัวของนักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ในฮ่องกง ที่ต่อมากลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่าง โจชัว หว่อง ซึ่งเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านระบบการศึกษาแห่งชาติที่เขามองว่า ‘ล้างสมอง’ จากการพยายามแทรกเนื้อหาสอนเรื่องหน้าที่พลเมือง เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกเป็นพลเมืองจีนให้แก่ชาวฮ่องกงตั้งแต่เด็กๆ
การเคลื่อนไหวของหว่องและกลุ่มเพื่อนร่วมชั้นเรียนนำมาสู่การเดินขบวนประท้วงใหญ่ในปี 2012 ที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1 แสนคน ทำให้หว่องและเพื่อนๆ ตกเป็นเป้าของทางการฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่
ต่อมาในเดือนกันยายน 2014 เป็นช่วงที่การเมืองฮ่องกงเริ่มจะคุกรุ่นขึ้น จากการที่เริ่มมีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการเลือกผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง (Chief Executive) ซึ่งถือเป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบ และเริ่มทวงถามถึงสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่ชาวฮ่องกงสามารถเลือกผู้บริหารสูงสุดได้โดยตรง
กระทั่งเกิดการประท้วงใหญ่ที่เรียกว่าการปฏิวัติร่ม (Umbrella Revolution) ซึ่งหว่องและกลุ่มนักศึกษาเป็นผู้นำการประท้วงที่ยืดเยื้อกว่า 2 เดือน แต่การประท้วงจบลงหลังการสลายการชุมนุม โดยไร้การตอบรับหรือการประนีประนอมใดๆ จากรัฐบาลฮ่องกงและปักกิ่ง
สิ้นสุด 1 ประเทศ 2 ระบบ?
บรรยากาศทางการเมืองในฮ่องกงยิ่งทวีความรุนแรงในช่วงที่สีรับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 โดยเริ่มมีประเด็นเรื่องการเสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่เปิดทางให้ฮ่องกงสามารถส่งตัวผู้ต้องหาที่ทางการจีนต้องการตัวไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ได้
รศ.ดร.วาสนา ชี้ว่า กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าวถือเป็นกฎหมายที่ทำให้ฮ่องกงสิ้นสุดเอกราชทางการศาล และไร้ซึ่งความเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบ เนื่องจากทำให้สิทธิเสรีภาพใดๆ ของชาวฮ่องกงที่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น การเขียนหรือเผยแพร่ข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือการจัดกิจกรรมรำลึกเทียนอันเหมิน อาจกลายเป็นความผิดได้
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ช่วงปลายปี 2019 ซึ่งการประท้วงทวีความรุนแรงจนทำให้รัฐบาลฮ่องกงถอนร่างกฎหมายออกไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จีนนำมาแทนที่ในช่วงกลางปี 2020 และดูจะส่งผลร้ายต่อเสรีภาพของชาวฮ่องกงมากกว่าเดิมคือกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาชี้ว่า อะไรก็ตามที่ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็สามารถถูกจับและดำเนินคดีได้ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นต่อต้านของประชาชนและพรรคการเมืองในฮ่องกงค่อย ๆ หายไป และยังไม่มีการประท้วงใด ๆ เกิดขึ้นอีกนับจากนั้น
การขึ้นครองอำนาจสมัยที่ 3 ของสีเมื่อปีที่แล้ว ยิ่งส่งผลให้แนวโน้มสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพตามหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบของฮ่องกงยิ่งถดถอย
โดยความพยายามรวบอำนาจมาไว้ที่ศูนย์กลางแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของสีสะท้อนถึงการดำเนินการต่อฮ่องกงเช่นกัน มีการเพิ่มการจับกุมประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านเชิงสัญลักษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นละเอียดอ่อนใดๆ อีกทั้งผู้ว่าฮ่องกงคนใหม่คือ จอห์น ลี คา-ชิว (หลี่เจียเชา) ซึ่งเป็นอดีตตำรวจ ยิ่งทำให้ฮ่องกงคล้ายกับการเป็น ‘รัฐตำรวจ’ (Police State) มากขึ้นด้วย
นอกจากการปราบปรามการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2020 จีนยังเริ่มคุมเข้มธุรกิจในฮ่องกง โดยออกกฎหมายใหม่ที่ห้ามการเปิดเผยหรือส่งต่อข้อมูลที่อาจถือว่าเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อนและมีผลต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งส่งผลให้ข้อมูลการดำเนินธุรกิจต่างๆ ของบริษัทสัญชาติจีนเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ และทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างชาติในฮ่องกงยิ่งทำได้ยากขึ้น จนทำให้บริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทด้านสื่อจำนวนมากถอนตัวออกไปจากทั้งจีนและฮ่องกง
อนาคตฮ่องกงต่อจากนี้
สำหรับคำถามที่ว่า อนาคตเสรีภาพและการปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตยของฮ่องกงหลังจากนี้ยังมีความหวังอยู่หรือไม่ รศ.ดร.วาสนา ให้คำตอบสั้นๆ แต่น่าคิดว่า ปัญหาทุกอย่างของจีนนั้นจะแก้ไขได้คือพรรคคอมมิวนิสต์ต้องยอมปรับเปลี่ยนเป็นแบบประชาธิปไตย และต้องไม่ใช่รัฐบาลภายใต้การนำของสี
“ถ้ายังเป็นรัฐบาลสี และยังเป็นเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่ ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น”
ส่วนปัญหาอื่นๆ อย่างสภาพเศรษฐกิจของฮ่องกง ตอนนี้ยังคงมีปัญหามาก โดยเฉพาะจากผลกระทบของวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งค่อนข้างสาหัส และรัฐบาลยังไม่มีนโยบายใด ๆ ที่จะแก้ไขได้ ทำให้ทิศทางจากนี้น่าจะยังแย่ลงต่อไปอีก
“ปัญหาฮ่องกงมันเริ่มต้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน คือถ้าจีนรวย ถ้ามีเงิน ทุกคนก็มีความสุข มันจะมีปัญหาถ้าหากเศรษฐกิจไม่ดีแล้วคนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล”
ภาพ: Martin Henery / Anadolu via Getty Images
————————————————————————————————————-
ที่มา : The Standard / วันที่เผยแพร่ 3 ก.ค.67
Link : https://thestandard.co/hong-kong-china-27-years-one-country-two-systems/