เปิดข้อมูลแจ้งเตือนระดับตำบล สุ่มเสี่ยงโดนก่อเหตุป่วนลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ โจมตีฐานปฏิบัติการ วันสถาปนาเบอร์ซาตู 31 ส.ค. แฉปี 55 เคยฮือฮาแขวนธงมาเลย์ทั่วชายแดนใต้มาแล้ว
หน่วยข่าวความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากวันที่ 31 ส.ค.67 ซึ่งเป็นวันชาติของมาเลเซีย และเป็นวันครบรอบเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน กล่าวคือ ตรงกับวันครอบรอบสถาปนาขบวนการเบอร์ซาตู อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ปฏิบัติการสร้างสถานการณ์ รวมถึงมีการส่งจดหมายข่มขู่ต่อเจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำพื้นที่
จากงานด้านการข่าวยังคงปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับสั่งการ และระดับปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังพบการขนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเตรียมที่จะใช้ก่อเหตุ และภาพข่าวสั่งการจากแกนนำในประเทศมาเลเซีย ให้สมาชิกเร่งการก่อเหตุเพื่อดำรงสถานการณ์ และแสดงศักยภาพของกลุ่มขบวนการ
ตลอดจนกรณีการก่อเหตุการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ห้วงที่ผ่านมา เป็นสิ่งบอกเหตุได้ว่ากลุ่มผู้ก่อการอาจจะเตรียมการก่อเหตุเข้าโจมตีต่อฐานปฏิบัติการ ที่ตั้งฐานขนาดเล็กที่มีการระวังป้องกันต่ำ หรือก่อเหตุด้วยคาร์บอมบ์, จยย.บอมบ์ บริเวณพื้นที่ชุมชน สถานที่ราชการ หรือก่อเหตุก่อกวนในรูปแบบต่าง ๆ ในหลายพื้นที่พร้อมกัน อีกทั้งอาจมีแผนปล้นอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่อส.ประจำ ชคต. (ชุดคุ้มครองตำบล) และ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน)
พื้นที่สุ่มเสี่ยงในการก่อเหตุของ จ.ยะลา ได้แก่
– ต.ตลิ่งชัน, ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา ระมัดระวังลอบวางระเบิดแสวงเครื่องแบบเหยียบต่อเจ้าหน้าที่ ชป.จรยุทธ์ (ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์) ลาดตระเวนเส้นทาง
– ต.กาตอง, ต.ปะแต, ต.บาโร๊ะ, ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา ระมัดระวังการปล้นอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่ชรบ .หรือลอบวางระเบิดแสวงเครื่องต่อเจ้าหน้าที่ ระบบไฟฟ้า
– ต.บ้านแหร อ.ธารโต ระมัดระวังการลอบยิงเจ้าหน้าที่ และก่อเหตุก่อกวนลวงให้เข้าตรวจสอบแล้วก่อเหตุซ้ำ
– ต.ตาเซะ, ต.ลิดล, ต.ยุโป อ.เมืองยะลา, ต.สะเอะ, ต.ปุโรง อ.กรงปินัง ระมัดระวังการปล้นอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่ชรบ. และซุ่มโจมตีต่อฐานปฏิบัติการ
– ต.เกะรอ, ต.บาลอ อ.รามัน ระมัดระวังลอบวางระเบิดแสวงเครื่องต่อเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจ
พื้นที่สุ่มเสี่ยงในการก่อเหตุของ จ.นราธิวาส ได้แก่
– ต.ลุโบะบายะ, ต.ลุโบะบือซา อ.ยี่งอ ระมัดระวังการก่อเหตุก่อกวนลวงให้เข้าตรวจสอบแล้วก่อเหตุซ้ำ
– ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร ระมัดระวังการลอบยิงระยะไกล หรือลอบวางระเบิดแสวงเครื่องแบบเหยียบต่อ ชป.จรยุทธ์ ลาดตระเวนเส้นทาง
– ต.สุวารี, ต.สามัคคี, ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ ระมัดระวังการซุ่มยิงต่อยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ แฟลตที่พักตำรวจ
– ต.จวบ, ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง ระมัดระวังลอบระเบิดแสวงเครื่อง ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่
– ต.บองอ, ต.บาโงสะโต อ.ระแงะ ระมัดระวังซุ่มยิง ลอบวางระเบิดแสวงเครื่องต่อ ชป.จรยุทธ์ ลาดตระเวนเส้นทาง
– ต.พร่อน, ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ ระมัดระวังการเข้าโจมตีพร้อมกันหลายพื้นที่ และประกบยิงต่อเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนด้วยรถจักรยานยนต์เพื่อชิงอาวุธปืน
– ต.มูโนะ, ต.ปาเสมัส, อ.สุไหงโก-ลก ระมัดระวังการขว้างระเบิดแสวงเครื่องต่อจุดตรวจ ฐานปฏิบัติการ
พื้นที่สุ่มเสี่ยงในการก่อเหตุของ จ.ปัตตานี ได้แก่
– ต.ตะโละแมะนา อ.ทุ่งยางแดง, ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน, ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง, ต.เกาะจัน อ.มายอ เฝ้าระวังการก่อเหตุปล้นอาวุธปืน ลอบยิงเจ้าหน้าที่ อส. ประจำฐานปฏิบัติการ หรือพักอาศัยตามภูมิลำเนา
– ต.นาประดู่, ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ ระมัดระวังลอบวางวัตถุต้องสงสัยเพื่อลวงเข้าตรวจสอบ และวางระเบิดแสวงเครื่องซ้ำ ประกบยิงเจ้าหน้าที่
– ต.บ่อทอง, ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก ระมัดระวังลอบวางระเบิดแสวงเครื่องต่อเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเส้นทาง สายตรวจ และลอบยิงต่อฐานปฏิบัติการเจ้าหน้าที่
– ต.บางปู, ต.ยามู, ต.มะนังยง อ.ยะหริ่ง, ต.เขาตูม อ.ยะรัง ระมัดระวังลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง ต่อยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจ
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สุ่มเสี่ยงในการก่อเหตุของ จ.สงขลา ได้แก่
– ต.ปากบาง, ต.ท่าม่วง อ.เทพา และบริเวณรอยต่อ ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี, ต.เกาะสะบ้า อ.เทพา ระมัดระวังการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องต่อยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ ชุดสายตรวจ, ลอบยิง ประกบยิงเจ้าหน้าที่ หรือก่อเหตุก่อกวนด้วยการแขวนป้ายผ้า, เผายางรถยนต์ และพ่นสีสเปรย์ เพื่อลวงให้เข้าตรวจสอบแล้ว
รู้จัก “เบอร์ซาตู” องค์กรร่มของขบวนการแยกดินแดน
เบอร์ซาตู (BERSATU) หรือ “ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี” มีชื่อเป็นภาษามาเลย์ว่า Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani และชื่อในภาษาอังกฤษว่า United Fronts for Patani Independence เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อจุดประสงค์แยกดินแดน 4 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย
1. ขบวนการแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปัตตานี หรือ BIPP (Barisan Islam Pembebasan Patani)
2. ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ BRN Congress (Barisan Revolusi Nasional Kongres)
3. ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี หรือ GMP (Gorakan Mujahideen Patani)
4. ขบวนการพูโลใหม่ (Patani United Liberation Organization – PULO)
โดยทั้ง 4 กลุ่มได้จัดประชุมร่วมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2532 จึงถือเป็นวันก่อตั้ง ใช้ชื่อการประชุมว่า “การประชุมบรรดานักต่อสู้เพื่อปัตตานี” โดยตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อกลุ่มว่าเบอร์ซาตู
ในที่ประชุมมีมติและข้อตกลงร่วมกัน 6 ข้อ คือ
1.ร่วมกันกันต่อสู้เพื่อปลดแอกปัตตานีและก่อตั้งรัฐมลายูอิสลาม
2. ใช้หลักการต่อสู้เพื่อศาสนา (ญีฮาด) ด้วยกำลังติดอาวุธ
3. ต่อต้านหลักการและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย
4. เรียกร้องให้ประเทศมุสลิมทั้งหลายสนับสนุนการต่อสู้
5. เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ และขบวนการต่าง ๆ ต่อสู้เพื่อปัตตานี
6. ร่วมมือกับขบวนการปลดแอกทุกกลุ่มและผู้รักหวงแหนสันติภาพทั่วโลก
ต่อมาในปี 2534 จึงมีการประกาศใช้ชื่อกลุ่มอย่างเป็นทางการว่า “ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี” หรือ “เบอร์ซาตู” โดยมี นายวาห์ยุดดิน มูฮัมหมัด เป็นประธานเบอร์ซาตูคนแรก และมีกรรมการที่มาจากตัวแทนในกลุ่มขบวนการที่เข้าร่วม มีการจัดทำธรรมนูญของกลุ่มขึ้น โดยโครงสร้างการจัดตั้งของขบวนการเบอร์ซาตูมี 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย
1. สภาสูงสุด หรือสภาซูรอ (Majlis Syura) มีหน้าที่จัดทำร่างและกำหนดนโยบายและแต่งตั้งกรรมการบริหาร
2.คณะกรรมการบริหาร (Majlis Eksekutif) มีหน้าที่นำนโยบายมาปฏิบัติและควบคุมการทำงานของคณะทำงาน
3. คณะทำงาน ( Biro Biro) มีหน้าที่ดำเนินงานตามที่คณะกรรมการบริหารอนุมัติ ซึ่งคณะทำงานแยกเป็นหลายด้าน เช่น การทหาร การเมือง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ เป็นต้น
ขบวนการเบอร์ซาตู ได้มีการจัดทำเอกสารเผยแพร่เพื่อปลุกระดมการต่อสู้ออกมาหลายฉบับ รวมทั้งผลิตเอกสารรายเดือนในชื่อ “Suara Patani Merdeka” แจกจ่ายให้สมาชิกและแนวร่วม
จนในปี 2540 เบอร์ซาตูซึ่งมี ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซียเป็นประธาน ได้จัดทำหนังสือชื่อ “HIDUP MATI BANGSA MELAYU PATANI” แปลเป็นไทยว่า “ชะตากรรมชาติมลายูปัตตานี” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี, การต่อสู้ของขบวนการปลดแอกในจังหวัดชายแดนใต้, บทวิเคราะห์เรื่องชนชาติมลายู, ธรรมนูญแห่งรัฐมลายูอิสลามปัตตานี, ระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของสมัชชาประชาชาติมลายูปัตตานี เผยแพร่แก่สมาชิก แนวร่วม และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปลุกระดมและโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมและสนับสนุนขบวนการ
ขบวนการเบอร์ซาตูเคยร่วมเจรจาสันติภาพในทางลับกับรัฐบาลไทย เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะที่ต่อมาภายในขบวนการเบอร์ซาตู มีปัญหาเรื่องเอกภาพ เพราะมีสถานะเป็นเพียง “องค์กรร่ม” หรือ umbrella organization ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน 4 กลุ่ม จึงไม่สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวร่วมกันได้จริง ส่งผลให้บทบาทของเบอร์ซาตูค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด พร้อมๆ กับการก่อกำเนิดของสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งเชื่อกันว่าขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรที่มีบทบาทสูงสุด
แต่ถึงกระนั้น วันที่ 31 ส.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันครบรอบสถาปนาขบวนการเบอร์ซาตู ก็เป็นวันที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยให้ความสำคัญ มีการแจ้งเตือนและเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย เพราะถือว่าเป็นวันเชิงสัญลักษณ์ที่กลุ่มก่อความไม่สงบนิยมก่อเหตุ
ในรอบ 20 ปีไฟใต้ เคยเกิดเหตุการณ์สร้างสถานการณ์ปั่นป่วนครั้งร้ายแรงที่สุดในวันที่ 31 ส.ค.2555 โดยกลุ่มก่อความไม่สงบได้ก่อเหตุขึ้นพร้อมกันในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา รวม 296 จุด ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการก่อกวนวางวัตถุต้องสงสัย เผาธงชาติ และติดธงชาติมาเลเซียในพื้นที่ต่างๆ และมีการลอบวางระเบิดจริง 5 จุดตรงจุดที่มีการวางวัตถุต้องสงสัยและแขวนธงมาลเซีย ทำให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 6 นาย
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า กลุ่มผูัก่อการต้องการแสดงศักยภาพว่าสามารถก่อเหตุได้พร้อมกันนับร้อยจุด โดยที่ฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถป้องกันได้ และแต่ละจุดการติดหรือแขวนธงชาติมาเลเซียบนที่สูงก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการควบคุมพื้นที่ของฝ่ายรัฐที่ยังมีช่องโหว่มากมาย ไม่นับถึงกระบวนการหาซื้อและนำเข้าธงมาเลเซียจำนวนมากที่เจ้าหน้าที่แทบไม่ระแคะระคายใดๆ เลย
———————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 28 ส.ค.67
Link: https://www.isranews.org/article/south-news/stat-history/131278-bersatuanniversary.html