โดรน ถือเป็นหุ่นยนต์ประเภทหนึ่งที่ติดตั้งหน่วยประมวลผลและโปรแกรมควบคุมการทำงานตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น โดรนเพื่องานอดิเรก/ความบันเทิง หรือโดรนเชิงพานิชย์ รวมทั้งถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในสงครามต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะถูกนำมาใช้ในการก่อเหตุละเมิดการรักษาความปลอดภัยสถานที่ภายในเขตเมืองและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ
เทคโนโลยีระบบต่อต้านโดรน
เนื่องจากโดรนมีศักยภาพในการสอดแนม การลักลอบขนส่งสิ่งผิดกฎหมาย หรือแม้แต่การก่อวินาศกรรม หลายประเทศจึงพยายามคิดค้นนวัตกรรมในการพัฒนาระบบต่อต้านโดรนเพื่อใช้ตอบโต้ภัยคุกคามดังกล่าว โดยเทคโนโลยีระบบต่อต้านโดรนที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้
– การตรวจจับและติดตาม เพื่อตรวจค้นหาโดรนที่เข้ามาภายในพื้นที่ว่าเป็นโดรนที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ด้วยการใช้เรดาร์ กล้องโทรทัศน์วงจรปิดความละเอียดสูง เซนเซอร์ หรือการตรวจจับสัญญาณคลื่นความถี่ จากนั้นจึงติดตามเส้นทางการบินของโดรนและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยระยะทำการของระบบดังกล่าวจะอยู่ตั้งแต่ระยะ 3-5 กิโลเมตร ขึ้นไป
– การตอบโต้สกัดกั้น โดรนฝ่ายตรงข้ามที่ล่วงล้ำเข้ามาภายในระยะ 3 กิโลเมตร ซึ่งอาจมากหรือน้อยฃกว่าตามระยะทางที่ถูกกำหนดเป็นข้อห้าม ด้วยการรบกวนการทำงานของโดรนให้สูญเสียประสิทธิภาพหรือควบคุมการทำงานของโดรนให้ลงจอดในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายกรณีโดรนลำดังกล่าวมีการติดตั้งวัตถุระเบิด หรืออาจนำไปใช้สืบสวนขยายผลได้ ซึ่งสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ อาทิ เครื่องตัดสัญญาณรบกวนคลื่นความถี่โดรนยิงตาข่ายจับโดรนฝ่ายตรงข้าม
– การทำลาย จะถูกนำมาใช้เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถรบกวนหรือควบคุมการทำงานของโดรนได้และโดรนลำนั้นได้ล่วงล้ำเข้ามาในระยะทางที่ถูกกำหนดเป็นข้อห้าม ด้วยการใช้อาวุธเลเซอร์ยิงทำลายโดรนให้ตกลงสู่พื้นดิน โดยทั่วไปจะมีระยะทำการภายในหรือน้อยกว่าระยะ 1 กิโลเมตรสุดท้ายก่อนเข้าถึงพื้นที่ที่มีการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย
อาวุธเลเซอร์ยิงเผาไหม้ชิ้นส่วนของโดรน / ภาพจาก https://en.topwar.ru/187961-boevoj-lazer-c-uas-helws-dlja-vms-ssha.html
ระบบอาวุธเลเซอร์ (Laser Directed Energy Weapon System: LDEW)
เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีอาวุธพลังงานตรง ที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการนำมาพัฒนาเพื่อใช้เป็นระบบอาวุธป้องกันขีปนาวุธและโดรน อาทิ ระบบอาวุธเลเซอร์ Iron Beam (ขนาด 100 กิโลวัตต์) ของอิสราเอล และระบบอาวุธเลเซอร์ HELIOS ของสหรัฐฯ (ขนาดมากกว่า 60 กิโลวัตต์) ที่ใช้สำหรับป้องกันขีปนาวุธหรือโดรนขนาดใหญ่ อีกทั้งระบบอาวุธเลเซอร์ HELMA-P (ขนาด 2 กิโลวัตต์) ของฝรั่งเศส และระบบอาวุธเลเซอร์ Block-I (ขนาด 20 กิโลวัตต์) ของเกาหลีใต้ ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ตอบโต้โดรนขนาดเล็กโดยเฉพาะ และอีกหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย อังกฤษ และอินเดีย
วิธีการทำงานของระบบอาวุธเลเซอร์ คือ การใช้พลังงานไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงเป็นลำแสงเลเซอร์และยิงตรงไปยังเป้าหมายเพื่อให้เกิดความร้อนจนระเบิด หรือเผาชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในให้ละลายเกิดความเสียหายและตกลงพื้น ซึ่งระบบอาวุธดังกล่าวมีคุณสมบัติเด่นเฉพาะตัว ดังนี้
– ประหยัดคุ้มค่า โดยการยิงเลเซอร์แต่ละครั้งใช้งบประมาณต่ำมาก (ประมาณ 30-50 บาท) เมื่อเทียบกับวิธีการดั้งเดิม เช่น การใช้ขีปนาวุธ หรือเครื่องบินรบทำลายเป้าหมาย ซึ่งวิธีการใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องใช้กระสุนปืน จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นในการกำหนดงบประมาณเกี่ยวกับการเก็บรักษาหรือการขนย้ายกระสุน
– ล่องหนและไร้เสียง ทำให้มีความเหมาะสำหรับการติดตั้งในพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัย เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดเสียงดังที่อาจสร้างความแตกตื่นต่อประชาชนในพื้นที่ขณะปฏิบัติการ
– รวดเร็วและแม่นยำ เนื่องจากอาวุธเลเซอร์นั้นสามารถปฏิบัติการได้ทันทีภายในระยะเวลาไม่กี่วินาทีอีกทั้งลำแสงที่ยิงออกไปนั้นสามารถเดินทางได้ในระดับความเร็วแสง และสามารถกำหนดเป้าหมายการโจมตีเฉพาะจุดที่ต้องการได้ดีกว่ากระสุนทั่วไป
ข้อจำกัดของระบบอาวุธเลเซอร์
ข้อเสียสำคัญของระบบอาวุธเลเซอร์ คือ ปัจจัยด้านสภาพอากาศ เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานของอาวุธเลเซอร์นั้นอาจลดลงได้เมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ย่ำแย่ เมฆหนา หรือฝนตกหนัก อีกทั้งลำแสงเลเซอร์อาจไร้ประสิทธิภาพได้ถ้าเป้าหมายใช้สารเคลือบป้องกันลำแสงเลเซอร์ ที่ผ่านมาปรากฏข่าวสารว่าจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาสารเคลือบดังกล่าวที่ผลิตขึ้นมาจากสารโบรอนฟีโนลิกเรซิน (Boron Phenolic Resin: BPR)
ปัจจุบันมีการนำระบบอาวุธเลเซอร์มาใช้เสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่ในการจัดงานสำคัญระดับนานาชาตินอกเหนือจากการใช้เพื่อการทหาร โดยรัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งซื้อระบบอาวุธเลเซอร์ HELMA-P จากบริษัท CILAS เพื่อการรักษาความปลอดภัยสนามกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีสเพราะหลายสนามแข่งขันอยู่ในสภาพพื้นที่โล่งกว้าง และมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามจากโดรน อาทิ สนามแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลชายหาดบริเวณหอไอเฟล สนามแข่งขันกีฬาขี่ม้าในพระราชวังแวร์ซายส์ ตลอดจนสถานที่สำหรับจัดพิธีเปิดการแข่งขันบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแซน
อย่างไรก็ดี ในขณะที่หลายประเทศกำลังพัฒนาระบบอาวุธเลเซอร์ต่อต้านโดรนและขีปนาวุธ มีเพียงเกาหลีใต้เท่านั้นที่ประกาศจะนำอาวุธดังกล่าวมาใช้ในกองทัพบกเป็นประเทศแรกของโลกเพื่อตอบโต้โดรนจากเกาหลีเหนือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มอันใกล้ที่จะมีการนำระบบอาวุธธดังกล่าวมาใช้มากขึ้นในสนามรบ ขณะที่การนำใช้ระบบอาวุธดังกล่าวมาใช้เพื่อเสริมมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยสถานที่ ยังคงมีข้อจำกัดหลายมิติทั้งด้านกฎหมายควบคุมและงบประมาณที่สูง ซึ่งอาจไม่เหมาะต่อการนำไปใช้กับสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามในระดับต่ำจนถึงปานกลาง เพราะเจ้าของพื้นที่อาจเลือกใช้ระบบตรวจจับและสกัดกั้นโดรนที่มีอยู่แพร่หลายในงบประมาณที่ต่ำกว่าได้
บทความโดย… องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน / วันที่เผยแพร่ 5 ส.ค. 67