Summary
รัฐบาลจีน เดินหน้าตรวจสอบ AI ในจีน ว่ามีการตอบสนองต่อประเด็นการเมืองรวมถึงการพูดถึงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อย่างไร มีแนวโน้มต่อต้านคุณค่าหลักของระบอบสังคมนิยม หรือต่อต้านการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่
ขนาดเป็น AI ยังต้องรักชาติ? แก่นหลักของเทคโนโลยีคืออะไรกันแน่? ล่าสุดรัฐบาลจีนลงดาบตรวจสอบ ByteDance, Alibaba, 01.AI และผู้พัฒนาโมเดล AI ในประเทศเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามกฎหมายเซนเซอร์บนอินเทอร์เน็ต
สำนักข่าว Financial Times รายงานว่า Cyberspace Administration of China (CAC) ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลจีน กำลังเดินหน้าตรวจสอบ AI ที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดลประมวลภาษาขนาดใหญ่หรือ LLM (Large-Language Model) ทั้งหลายในตลาดว่ามีการตอบสนองต่อประเด็นการเมืองรวมถึงการพูดถึงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อย่างไร มีแนวโน้มต่อต้านคุณค่าหลักของระบอบสังคมนิยม หรือต่อต้านการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่
จีนกำลังวางระบบการกำกับดูแลที่เข้มงวดที่สุดในโลกเพื่อควบคุม AI และเนื้อหาที่สร้างขึ้น
นอกเหนือจากการควบคุมเนื้อหาของพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยการบล็อกเว็บไซต์ต่างประเทศและข้อมูลอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นอันตราย จีน นับเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการสรุปกฎเกณฑ์การพัฒนา AI และข้อกำหนดที่ว่าบริการ AI จะต้องปฏิบัติตาม “ค่านิยมหลักของหลักการสังคมนิยม” และไม่สร้างเนื้อหาที่ “ผิดกฎหมาย”
รายงานระบุเพิ่มเติมว่า การคัดกรองในครั้งนี้ลงลึกไปถึงการตรวจสอบข้อมูลที่ใช้เทรนและกระบวนการด้านความปลอดภัยของโมเดล สืบเนื่องจากโมเดลหลายตัวของจีนได้รับเทรนจากข้อมูลที่มีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ “ข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นปัญหา” จะถูกลบออกจากกระบวนการเทรน ตามรายงานระบุว่า การตรวจสอบครั้งนี้ทำให้แชตบอตที่ขับเคลื่อนด้วย AI ของผู้พัฒนาจีนปฏิเสธที่จะตอบคำถามในหัวข้อที่ละเอียดอ่อน เช่น การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการทดสอบ มีการจำกัดจำนวนคำถามที่โมเดลสามารถปฏิเสธได้ทันที จากกระบวนการคัดกรองเบื้องต้น คือ การกำจัดข้อมูล คีย์เวิร์ด หรือกลุ่มคำที่ดูจะเพลี่ยงพล้ำต่อการละเมิดข้อกำหนดของรัฐบาลในชุดข้อมูลที่ใช้เทรนคล้ายกับกระบวนการเซนเซอร์คำหลัก เช่น “บ่อนทำลายอำนาจรัฐ” “บ่อนทำลายเอกภาพแห่งชาติ” “เสรีภาพในการพูด” “สิทธิมนุษยชน” “ปราบปรามภาคประชาสังคม”
นักพัฒนาชาวจีนต้องคิดหาวิธีที่จะทำให้แน่ใจว่า AI จะสร้าง ‘คำตอบที่ถูกต้องทางการเมือง’ เช่น “จีนมีสิทธิมนุษยชนหรือไม่” หรือ “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่หรือไม่?” เพื่อเลี่ยงการตอบโต้ในประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งนั่นทำให้การพัฒนาโมเดล AI ในจีนยากและซับซ้อนขึ้นเพราะ บรรดานักพัฒนาต้องสร้างอีกเลเยอร์หนึ่งเพิ่มเติมบนระบบแทนเพื่อแทนที่การตอบสนองแบบเรียลไทม์
ในทางตรงกันข้ามก่อนหน้านี้หน่วยงานวิจัย Cyberspace Research Institute ของจีน เปิดตัวโมเดล AI ที่พัฒนาตามปรัชญาและหลักคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผ่านการเทรนด้วยชุดข้อมูลจากเอกสารของรัฐบาลและหนังสือ “Xi Jinping Thought on Socialism with Chinese Characteristics for a New Era
แชตบอต AI ดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อสารทางการเมืองและเผยแพร่แนวคิดของผู้นำประเทศ อย่างไรก็ตามยังไม่เปิดให้ใช้งานทั่วไป
อ้างอิง Financial Times
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 ก.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/money/tech_innovation/tech_companies/2801914