นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข่าวปลอมรายสัปดาห์ พบว่า เรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุด จะเกี่ยวกับแอปฯ ทางรัฐ คือ เรื่องที่ระบุว่า “แอปฯ ทางรัฐ แสดงข้อมูลเครดิตบูโร บัญชีติดหนี้ ใบสั่งจราจร ข้อมูลโดนฟ้องศาล หลังลงทะเบียน 10,000 บาท” และเรื่อง “ประชาชนที่สมัครบัญชีผ่านแอปฯ ทางรัฐไม่ได้ จะไม่สามารถลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท”
ซึ่งจากการตรวจสอบกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA ทราบว่า แอปฯ ทางรัฐ ทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลไปที่หน่วยงานเจ้าของบริการและข้อมูลนั้น ๆ เท่านั้น ไม่มีการเก็บข้อมูลของประชาชนไว้ที่แอปฯ “ทางรัฐ” แต่อย่างใด ข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ สามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูลและผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม ไม่ส่งต่อข้อมูล
จากการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 2 – 8 สิงหาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 848,755 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 205 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 174 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 26 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 5 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 168 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 86 เรื่อง
แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 90 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 34 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 6 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 16 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 22 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความมั่นคง ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐบาล อย่างโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน มากถึง 9 อันดับแรก ซึ่งแสดงว่าประชาชนให้ความสนใจต่อโครงการนี้มากที่สุด โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง แอปฯ ทางรัฐ แสดงข้อมูลเครดิตบูโร บัญชีติดหนี้ ใบสั่งจราจร ข้อมูลโดนฟ้องศาล หลังลงทะเบียน 10,000 บาท
อันดับที่ 2 : เรื่อง ปชช. ที่สมัครบัญชีผ่านแอปฯ ทางรัฐไม่ได้ จะไม่สามารถลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
อันดับที่ 3 : เรื่อง ธปท. เตือน แอปฯ ทางรัฐ ไร้ความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
อันดับที่ 4 : เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตีตกเงินดิจิตอลวอลเล็ต
อันดับที่ 5 : เรื่อง รัฐบาลเปิดให้โหลดแอปฯ ทางรัฐ ผ่านเว็บไซต์ https://dga-thai.com/
อันดับที่ 6 : เรื่อง สามารถเปิดรับแลกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และนำเงินสดไปใช้ได้
อันดับที่ 7 : เรื่อง สมัครแอปฯ ทางรัฐด้วยบัตร ปปช. และสแกนใบหน้า เสี่ยงถูกแฮ็ก เพราะเป็นระบบเปิดเชื่อมไปยังบัญชีธนาคาร
อันดับที่ 8 : เรื่อง ให้บริการรับสมัครแอปฯ ทางรัฐ เพื่อใช้ลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
อันดับที่ 9 : เรื่อง ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐแล้วถูกแฮกข้อมูล รวมถึงข้อมูลของญาติจะถูกดึงมาทั้งหมด
อันดับที่ 10 : เรื่อง ต้มน้ำประปา สามารถลดความเค็มได้
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : จส.100 / วันที่เผยแพร่ 10 ส.ค. 67
Link : https://www.js100.com/en/site/news/view/142721