ความเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ มีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับใบปลิวข่มขู่คนมุสลิมที่ทำงานให้รัฐ
ใบปลิวชุดแรก ถูกแจกจ่ายในพื้นที่ อ.แม่ลาน และ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
– ใบปลิว เป็นลักษณะกระดาษเอ 4 พิมพ์จากคอมพิวเตอร์เป็นภาษาไทย มีภาษายาวีปน
– เนื้อหาข่มขู่คนมุสลิมที่ไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมองว่าเป็นคนทรยศ และเป็นศัตรูกับ “นักรบปาตานี” หรือ “ญูแว” เปรียบเหมือนเป็นชาวปาเลสไตน์ แต่ไปเป็นทหารให้อิสราเอล
– เนื้อหาในใบปลิวเสนอทางเลือกให้ 2 ทาง คือ ลาออก กับเป็นสายให้นักรบปาตานีเล่นงานเจ้าหน้าที่รัฐสยาม
– ใบปลิวชุดนี้ถูกนำไปวางตามมัสยิด เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา
จริงๆ เรื่องใบปลิวไม่ได้เป็นข่าวครึกโครมมากนัก แต่ปรากฏว่ามีสื่อออนไลน์บางแขนงนำไปเสนอเป็นประเด็น ทำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกมาตอบโต้ ทำให้สังคมทั่วไปได้รู้ว่ามีใบปลิวว่อนในพื้นที่ชายแดนใต้
– ประเด็นตอบโต้ของ กอ.รมน.คือ ข้อมูลในใบปลิวไม่ใช่เรื่องจริง ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ และประเด็นอื่นๆ ที่นำมาอ้าง พร้อมเตือนสื่อทุกแขนงไม่ให้ขยายข่าวนี้
แต่ดูเหมือน กอ.รมน.จะห้ามไม่อยู่ เพราะเมื่อวันที่ 23 ส.ค. คือวันศุกร์ที่ผ่านมา มีการโปรยใบปลิวอีกชุดหนึ่ง ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
– เนื้อหาในใบปลิวเขียนเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือ ซองจดหมาย จ่าหน้าถึง อส. หรือ เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน 14 คน ซึ่งเป็น อส.อำเภอทุ่งยางแดง
– พูดง่าย ๆ ก็คือ การขู่ที่เจาะจงตัวบุคคล นั่นก็คือ กลุ่ม อส.
คำถามก็คือ ทำไมใบปลิวข่มขู่จึงพุ่งเป้าไปที่ อส. และกลุ่มคนมุสลิมที่ทำงานให้รัฐ?
คำตอบก็คือ เพราะ อส. เป็นกองกำลังที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในพื้นที่ ต้องรับช่วงต่อดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยจากทหารหลัก หรือ “ทหารเขียว” หลังถอนทหารตาม “แผนส่งมอบพื้นที่” ในปี 2570
– อส.ใช้คนพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม คนทำใบปลิวซึ่งเชื่อว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน จึงพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มนี้
– เมื่อใช้คนพื้นที่เป็น อส. จึงมีความชำนาญพื้นที่ไม่ต่างจากกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ พูดง่ายๆ คือ ทันกัน รู้ภาษา รู้พื้นที่ รู้เส้นทาง รู้ทางหนีทีไล่ ไม่เหมือนทหารต่างถิ่น ทำให้กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวไม่สะดวก
คนกันเองแฉ กั๊กตำแหน่งให้พวกพ้อง!
แต่ก็มีข้อมูลอีกด้าน พยายามอภิปรายพฤติการณ์ทิ้งใบปลิวว่าอาจไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงในพื้นที่เลยด้วยซ้ำ แต่มีการอาศัยสถานการณ์มาหาประโยชน์
เพราะเมื่อ อส.เตรียมจะเป็น “กองกำลังหลัก” ในการดูแลพื้นที่ จึงมีการเปิดรับ อส.จำนวนมาก มีอัตรากำลังมากมาย พูดง่าย ๆ คือ รับคนพื้นที่ไปเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีเงินเดือน สวัสดิการ ได้พกปืน ได้แต่งเครื่องแบบ
เหตุนี้จึงย่อมมีบางคน บางกลุ่ม ต้องการตำแหน่งงานเหล่านี้ให้คนของตัวเอง หรือพรรคพวกตัวเอง
มีการแฉข้อมูลว่า แม้แต่คนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ส่งลูกหลานไปสมัครเป็น อส.
เหตุนี้จึงมีบางฝ่ายสงสัยว่า คนในขบวนการทำใบปลิวขู่กันเอง แต่ไม่ได้หวังจะฆ่ากัน แค่หวงตำแหน่งไว้ให้ลูกหลานของตน หรือผู้นำของตนหรือไม่ พูดง่ายๆ คือเป็นวิธีการเล่นเส้นสายแบบหนึ่ง
รัฐอ่านทาง ขบวนการถดถอย
คำถามต่อมาคือ ใบปลิวว่อนแบบนี้น่ากลัวหรือไม่?
คำตอบ คือ ถ้าเป็นการขู่จริง ๆ ก็น่ากลัว เพราะ…
– กลุ่มก่อความไม่สงบปฏิบัติการแบบกองโจร รู้ความเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกฝีก้าว ก่อนก่อเหตุรุนแรงมีการเฝ้าสังเกตการณ์ ติดตาม สะกดรอยนานนับเดือน จนรู้ความเคลื่อนไหว เส้นทางการเดินทาง จุดแวะพักต่าง ๆ
เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน จึงก่อเหตุด้วยการลอบยิง ลอบวางระเบิด เหมือนกลุ่มก่อการร้าย ป้องกันได้ยาก จึงน่ากลัว
แต่อีกด้านหนึ่ง หากเรื่องนี้เป็นการขู่กันเอง หวังผลประโยชน์เรื่องตำแหน่ง หรือ อัตราการบรรจุ อส. ก็ไม่น่ากลัวเท่าไหร่
พ.อ.เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มองว่า ใบปลิวที่ทำออกมาในช่วงนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ทำต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นข่าว วิธีการก็แค่นำใบปลิวไปวางตามมัสยิด แล้วถ่ายรูป โพสต์โซเชียลฯ จึงประเมินว่าน่าจะเป็นหวังผลทางจิตวิทยามากกว่า ทำให้คนที่ร่วมมือกับรัฐหวาดกลัว
แต่การโปรยใบปลิวแบบนี้ ทำในพื้นที่จำกัดมาก ไม่เหมือนสมัยก่อน และใช้โซเชียลมีเดียช่วย สะท้อนว่าศักยภาพของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนถดถอยลงมากใช่หรือไม่
ขู่กลับ สถานการณ์ไม่ดีขึ้น ก็ไม่ถอนทหาร!
พ.อ.เอกวริทธิ์ ยังให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวอิศรา” เกี่ยวกับยุทธวิธีการใช้ “ใบปลิว” เพื่อหวังผลต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่
“การโปรยใบปลิวรอบนี้ ถือเป็นวิธีการที่กลุ่มขบวนการเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือน เม.ย.67 ที่ อ.บันนังสตา และที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา ช่วง ก.ค.ปีนี้เช่นเดียวกัน
จากนั้นเดือน ส.ค.ที่ยะรัง แม่ลาน และทุ่งยางแดง จ.ปัตตานีทั้งหมด
แต่ข้อน่าสังเกตคือ เขาไม่ได้วางเหมือนใบปลิวสมัยก่อนที่จะโปรยไปทั่วพื้นที่ แต่นี่แอบวาง 1 ที่ แล้วถ่ายรูปลงโซเซียลฯ จากนั้นสื่อมวลชนก็จะเผยแพร่ข่าวให้เขา ไปเป็นแนวร่วมมุมกลับให้ ต้องระวังการเผยแพร่ว่ามันเกิดผลอะไร
มีความเป็นไปได้ว่าที่ก่อเหตุทั้งหมดเรื่องใบปลิว อาจจะเป็นแนวร่วม เป็นการปฏิบัติการข่าวสาร ก็คือทำแบบมีความเชื่อมโยงกันไป ให้คนไปวาง แล้วก็ถ่ายรูป แล้วเผยแพร่ในโซเซียลฯ เขาอาจจะได้ผลทางเชิงกายภาพ และหวังผลในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ด้อยค่าเจ้าหน้าที่ ต่อไปคนอื่นๆ ที่จะสมัครมาเป็น อส.หรือหน่วยงานของรัฐก็ไม่กล้าเข้ามา
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็วิเคราะห์ได้ว่า จริงๆแล้วอาจเป็นเพราะ มวลชนเขาถดถอยลงบางส่วนหรือไม่ จึงต้องทำวิธีนี้ เป็นหนทางจิตวิทยาที่ทำให้คนของเรากลัว ข่มขู่ให้กลัว แล้วก็ถ้าคิดว่าตัวเองไม่ปลอดภัยก็จะส่งผลต่อการปฏิบัติงาน แล้วถ้าเกิดว่ามีคนถูกกระทำขึ้นมาจริง รัฐก็จะเป็นฝ่ายตั้งรับ เป็นฝ่ายที่ถูกด้อยค่าในการรักษาความปลอดภัยที่ล้มเหลว จะมีการโจมตีว่าขนาดเจ้าหน้าที่กันเองยังดูแลตัวเองไม่ได้ แล้วจะมาดูแลประชาชนได้อย่างไร
สรุปก็คือ ทำให้เขาได้ผลงาน เหตุมันเกิดขึ้นจริงนะ ฝ่ายรัฐไม่สามารถดูแลแม้ตัวเอง มันเกิดขึ้นจริงตามที่เขาข่มขู่ นี่คือสิ่งที่เขาต้องการ
สาเหตุที่เขามุ่งเป้าที่ อส. เพราะ อส.เป็นกำลังที่เปราะบาง แม้เราจะมีการเสริมสร้างศักยภาพ แต่ก็ยังมีขีดความสามารถเทียบกับตำรวจทหารไม่ได้ ยังไม่ถึงขนาดนั้น ตามแผนปี 2570 หลัก ๆ มีแผนที่จะลดกำลังพลทหารหลักเพื่อที่จะให้กำลังท้องถิ่นเข้ามาทดแทน ซึ่งอาจจะเพิ่มกำลังในส่วนนี้ ฉะนั้นถ้าโดนข่มขู่ คนก็อาจจะไม่กล้าสมัครเข้ามา
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ยังไม่ดีขึ้น สถานการณ์ความรุนแรงยังเกิดขึ้น เราก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามแผน ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนแผน ซึ่งต้องมาทบทวนสถานการณ์ในห้วงเวลาระหว่างปี 66-70 ก่อน ว่าเราเดินเป็นไปตามแผนที่เราวางได้หรือไม่ มันติดขัดตรงไหน สถานการณ์ความรุนแรงมันมีขอบเขตกว้างขึ้น หนักขึ้น รุนแรงขึ้น หรือว่ามันน้อยลง
ถ้าสถานการณ์น้อยลงก็จะเดินไปตามแผน มีการถอนทหาร มีการใช้กำลังประจำถิ่นทั้งหมด แต่แผนจะมีการทบทวนแผนอยู่ตลอด ถ้าสถานการณ์มันสุ่มเสี่ยงก็คงต้องมาทบทวนแผน แล้วร่วมกันวางแผนว่าจะต้องทำอย่างไรกันต่อ
นโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ให้ส่วนงานเกี่ยวข้องทบทวนแผนแต่ละระดับอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ต้องทบทวนกันแบบรอบด้าน ไม่ใช่ว่าขู่แค่นี้เราก็ต้องเหมือนเดิม มันไม่ใช่ คือตามหลักจริง ๆ ไม่ได้มีผลอะไร อาจจะแค่ต้องการทำลายความเชื่อมั่น ด้อยค่าเจ้าหน้าที่แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ก็เดินตามแผนเดิม ถึงแม้จะมีความพยายามยั่วยุเจ้าหน้าที่เพื่อทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ ๆ แต่เจ้าหน้าที่ไม่หลงกล”
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 26 ส.ค.67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/131195-threateningvdvc.html