ต้นปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วโลก ต้องมีการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด นำไปสู่การล็อกดาวน์
ผลจากวิกฤติโควิดทำให้เราทุกคนต้องปรับตัวทำงานจากบ้าน (Work From Home) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลายเป็นปัจจัยเร่งกระบวนการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของภาครัฐที่ทรงพลังที่สุด
“ข้อมูล” เป็นหัวใจสำคัญในการรับมือวิกฤติ ตั้งแต่ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการในระดับต่างๆ ไปจนถึงจำนวนผู้เสียชีวิต ข้อมูลจำนวนผู้ฉีดวัคซีน จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องมือและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โควิด-19 มีการติดตามสถานการณ์และวางแผนเกี่ยวกับมาตรการรับมือเป็นรายวัน โดยอาศัยการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวัน กลายเป็นสถิติทางการที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจติดตามอย่างใกล้ชิด
บทบาทของภาครัฐคือการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ให้ประชาชนทราบสถานการณ์ตามจริง เพื่อเตรียมตัวรับมือได้ถูกต้องตามคำแนะนำของราชการและบุคลากรทางการแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้น การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐเพื่อให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานควบคุมโรคเป็นสิ่งจำเป็นมาก
ในช่วงที่ต้องให้ผู้ติดเชื้อกักตัวเองที่บ้าน ต้องมีการติดตามเฝ้าระวังอาการ หากมีอาการร้ายแรงต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่บ้าน ไปยังศูนย์รถฉุกเฉินเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาล หรือในช่วงเริ่มกลับมาเปิดประเทศ ต้องมีการติดตามอาการของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ จำเป็นต้องส่งต่อข้อมูลจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว ไปยังกรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการรับมือกับสถานการณ์โควิดช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือประชาชน เพราะตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ “รวดเร็วกว่า” ภาครัฐมาก การนำแอป QueQ มาใช้เพื่อจองคิวรับการฉีดวัคซีนและตรวจโควิด-19 การพัฒนาระบบ “ไทยชนะ” เพื่อออกจากล็อกดาวน์
กลุ่มนักพัฒนาแอปอิสระได้พัฒนาแอป “หมอชนะ” เพื่อใช้ติดตามเส้นทางการเดินทางแล้วแจ้งเตือนกรณีเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ระบบ “หมอพร้อม” ที่ใช้เก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนและสื่อสารมาตรการต่างๆ รวมถึง “Jitasa.care” แพลตฟอร์มจากภาคประชาชนเพื่อใช้ปักหมุดขอความช่วยเหลือในรูปแบบ crowdsourcing ที่ช่วยชีวิตคนไทยได้มากมาย และยังมีสตาร์ตอัป เอกชนและกลุ่มบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย
จะเห็นได้ว่า ลำพังภาครัฐมีข้อจำกัดหลายอย่างในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เริ่มจากความรับผิดชอบที่ไม่ชัดเจนในบางสถานการณ์ การประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน การต้องอาศัยงบประมาณและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในการจัดหาพัสดุครุภัณฑ์หรือบริการจากเอกชน ในขณะที่กลุ่มอาสาสมัครหรือเอกชนสามารถระดมทรัพยากรและกำลังคนได้รวดเร็ว และหากได้รับการสนับสนุนโดยการบริจาคก็จะขยายผลได้มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือ กลไกการร่วมมือกับภาคเอกชนในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้าง เพราะแม้เอกชนอาจจะบริจาคหรือพัฒนาระบบให้รัฐใช้ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่การบำรุงรักษาหรือใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็น “ภาระ” ของภาครัฐซึ่งต้องมีงบประมาณมารองรับ จึงต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ แม้จะมีการผ่อนปรนให้จัดซื้อจัดจ้างวิธีการพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ก็ตาม ก็ยังต้องมีความรอบคอบระมัดระวังอยู่ดี
โควิด-19 ทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องเริ่มทำงานจาก “บ้าน” ให้ได้ หน่วยงานใดที่มีระบบงานเป็น ออนไลน์ อยู่แล้ว เจ้าหน้าที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กก็สามารถทำงานจากบ้านหรือที่ใดก็ได้ทันที ความพร้อมในเรื่องดิจิทัลจึงกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้นมาในทันที เป็นครั้งแรกที่เราเห็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะ “อาวุโส” มากน้อยเพียงใดก็ประชุม “ออนไลน์” จากบ้านได้
เรื่องนี้ต้องชื่นชม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้ออกระเบียบเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ทั้งการประชุมแบบปกติและแบบลับ เป็นการทำลายข้ออ้างที่ว่าไม่สามารถประชุมออนไลน์ได้ ต่อมากรมบัญชีกลางก็ได้ออกระเบียบและแนวปฏิบัติสำหรับการประชุมจัดซื้อจัดจ้างและตรวจรับแบบออนไลน์ ทำให้กรรมการจัดซื้อและกรรมการตรวจรับไม่ต้องมาประชุมแบบ “เห็นหน้า” ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงอีกต่อไป
ส่วนสำนักงาน ก.พ. เดิมกำลังร่างระเบียบให้ข้าราชการสามารถปฏิบัติงานจากห้องที่ถูกกำหนดให้เป็น “ที่ทำการของราชการ” ใต้อาคารที่พักของข้าราชการได้ ก็ต้องปรับแก้ระเบียบให้รองรับการทำงานจากนอกสถานที่ได้ทุกแห่ง วิกฤตการณ์ครั้งนี้ถือเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาครัฐอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จนกล่าวได้ว่า โควิด-19 เป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Chief Transformation Officer) หรือ CTO ตัวจริง นั่นเอง
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศอังกฤษเผยแพร่รายงานการสืบสวนเกี่ยวกับการเตรียมการและการรับมือสถานการณ์โควิดของรัฐบาลอังกฤษ สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงรัฐบาลเพราะผลการศึกษาสรุปว่า รัฐควรเตรียมการรับมือและตอบสนองที่พร้อมกว่านี้ได้ คำถามสำหรับเราคือ หากมีวิกฤติร้ายแรงเช่นเดียวกับโควิด-19 เกิดขึ้นอีก เรา “พร้อม” ที่จะรับมือได้ดีกว่าเดิมแล้วหรือยัง
สิ่งสำคัญอันดับแรก คือการสร้าง “แพลตฟอร์มด้านสาธารณสุข” ที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชน ระบบดูแลผู้ป่วยทางไกล (Tele-Medicine) และการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้าด้วยกัน ให้พร้อมรองรับการทำงานและส่งต่อข้อมูลระหว่างกัน ต่อมาคือ แผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มองภาพรวมในระดับประเทศ ทั้งการเผยแพร่ข่าวสาร การควบคุมการแพร่ระบาด การระดมและจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหา ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาสังคมที่จะช่วยกันเฝ้าระวังและสนับสนุนในกรณีฉุกเฉิน
สุดท้าย เราต้องพัฒนา รูปแบบความร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่มี “ความยืดหยุ่น” มากกว่าเดิม มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อใจและเคารพซึ่งกันและกัน ภาพสุดท้ายที่เราอยากเห็นคือ การที่รัฐบาลเปิดกว้างเป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันได้ โดยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์โควิดที่ผ่านมา สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างแท้จริง แบบที่เรียกว่า Government as a Platform นั่นเอง
บทความโดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ | อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) | www.facebook.com/DrSupot
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 24 ก.ค.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1137028