บทความนี้ เป็นตอนสุดท้ายของชุด “รัฐบาลดิจิทัล: ความฝันหรือความหวัง” อะไรคือบทเรียน และสิ่งที่ควร “ทำต่อ” เพื่อขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลของเราให้เดินต่อไป
การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ตั้งแต่ สำนักงาน ก.พ.ร. ที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ผลักดัน พ.ร.บ.วิ อิเล็กทรอนิกส์
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน กรมการปกครอง ที่ยกระดับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของคนไทย กระทรวงและหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มุ่งมั่นยกระดับบริการให้แก่ประชาชน
การปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล คือ “การเดินทาง” ไม่รู้จบ ตราบใดที่เทคโนโลยียังก้าวไปข้างหน้าและประชาชนมีความต้องการใหม่ ๆ การเดินทางไกลเช่นนี้ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนา “ขีดความสามารถ” ของภาครัฐให้รองรับการเปลี่ยนแปลงได้ “คน” ต้องเรียนไม่รู้จบ “กระบวนการ” ต้องกระชับ ตอบโจทย์ประชาชน “เทคโนโลยี” ต้องนำมาใช้อย่างเหมาะสม
เราเริ่มเห็นผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดรัฐบาลดิจิทัล (EGDI) ของประเทศไทย ดีขึ้นเป็นลำดับ จากอันดับที่ 73 ในปี 2018 มาเป็นอันดับที่ 55 ในปี 2022 โดยประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบย่อย คือการให้บริการออนไลน์ของรัฐ โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนากำลังคนของประเทศ ด้านที่มีคะแนนดีคือโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านที่ต้องปรับปรุงมากคือการพัฒนากำลังคน ส่วนการให้บริการออนไลน์ภาครัฐแม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังต้องปรับปรุงอีกมาก จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายดัชนี EGDI ดีกว่าอันดับที่ 40 ภายในปี 2027
ประเทศเรามักจะใช้วิธีแก้ปัญหาแบบ “ชั่วคราว” (Work Around) โดยไม่ได้แก้ที่ “รากเหง้า” ของปัญหา ผลก็คือ ปัญหานั้นก็จะวกกลับมาให้ตามแก้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ดังเช่น การเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในอดีต แทนที่จะตั้งองค์กรกำกับดูแลเพื่อออกใบอนุญาตให้เอกชนเข้ามาแข่งขันโดยเสรี แต่รัฐบาลเกรงว่าจะใช้เวลานาน จึงหาทางออกที่เร็วกว่าด้วยการออกสัมปทานให้เอกชนผูกขาดไปถึง 25-30 ปี แม้ต่อมาจะมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก็ไม่สามารถเปิดเสรีได้ เพราะจะกระทบกับสัมปทานเดิมที่มีอยู่
นอกจากนี้ยังมีปัญหาองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แยกออกจากกัน ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีเริ่มหลอมรวมกันตั้งแต่เมื่อ 25 ปีที่แล้ว
การพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีการแข่งขันเสรี จึงล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่มองการณ์ไกลด้วยการตั้ง MCMC ขึ้นเป็นองค์กรกำกับดูแลแบบหลอมรวมตั้งแต่เมื่อแรกก่อตั้งในปี 1998
หากจะแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ ต้องแก้โจทย์ “ยาก” นั่นคือ แก้ที่ “สาเหตุ” ที่แท้จริงของปัญหา ไม่หวังทางลัดด้วยการทิ้งปัญหา “จริง” ไปแก้ปัญหาที่ “ง่ายกว่า” อีกต่อไป ประเทศผู้นำด้านรัฐบาลดิจิทัลอย่างเกาหลีใต้ก็ยังต้องใช้เวลา
ในกรณีของการบูรณาการข้อมูลสมาร์ทซิตี้ของรัฐบาลท้องถิ่น แม้ว่าจะได้ออกมาตรฐานของข้อมูลแล้ว แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็ยังไม่สามารถทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบเดียวกันได้ เพราะขาดบุคลากรที่มีความรู้ และหาบริษัทไอทีดำเนินการให้ไม่ได้ เพราะบริษัทไอทีของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ก็ยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงโซล
ทางออกของรัฐบาลเกาหลีใต้คือ การตั้งโครงการบูรณาการข้อมูลจากท้องถิ่น ระยะ 5 ปี โดยใช้วิธีตั้งทีมเฉพาะกิจ จ้างพนักงานจากส่วนกลางไปประจำกับรัฐบาลท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อจัดทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐานเดียวกันให้สำเร็จ จะเห็นได้ว่า การแก้โจทย์ยาก ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เพียงชั่วข้ามคืน
หลายคนอาจจะ “ท้อ” ว่าทำในชั่วชีวิตเราคงไม่เสร็จ แต่อย่าลืมว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่อีกเพียงไม่กี่ปี แต่จะอยู่ไปอีกนานหลังเราเกษียณหรือหลังหมดรุ่นเราไปอีกหลายรุ่นต่อ ๆ ไป
บทความโดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ | อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) | www.facebook.com/DrSupot
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 7 ส.ค.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1139065