สหภาพยุโรป (EU) เริ่มใช้กฎหมายควบคุมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นครั้งแรกในโลก เพื่อควบคุมขอบเขตการใช้ปัญญาประดิษฐ์
เมื่อ 3 ส.ค. 2567 บุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำประเทศเบลเยียมรายงานว่า เป็นเวลากว่า 4 ปีที่รัฐสภายุโรปเริ่มดำเนินการร่างกฎหมายฉบับแรกของโลก เพื่อควบคุมขอบเขตการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) สำหรับธุรกิจ การพัฒนา AI เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ ทว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก และมีความหวาดกลัวว่า ระบบ AI จะคุกคามการทำงานที่หลากหลาย ทำให้ซอฟต์แวร์เฝ้าระวังต้องมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นอีกด้วย ถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตผู้ใช้งาน
กฎระเบียบของยุโรปเกี่ยวกับ AI ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์จากทุกประเทศสมาชิกของสหภาพ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2567 นับเป็นครั้งแรกที่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการใช้ AI โดยเฉพาะการใช้งานเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในโลก อันไม่อาจมองข้ามผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และบุคคลทั่วไป นับเป็นจุดจบของการใช้ลูกเล่นของเทคโนโลยีแบบไร้ขอบเขต
สื่อด้านเศรษฐกิจ CNBC ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้กำหนดขอบเขตแนวทางตามความเสี่ยงในการควบคุม AI ในการวิเคราะห์ข้อความ ซึ่งหมายความว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ จะได้รับการควบคุมแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคม
การประยุกต์ใช้โปรแกรม AI ถือว่ามี “ความเสี่ยงสูง” ไม่ว่าจะใช้กับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (เกิดอุบัติเหตุต่อเนื่องจากรถยนต์ Tesla บางรายถึงแก่ชีวิต) อุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบการอนุมัติสินเชื่อ ระบบการให้คะแนน ในระบบการศึกษา และระบบระบุตัวตนด้วยไบโอเมตริกระยะไกล รวมทั้งการใช้งานเชิงพาณิชย์ใดๆ ที่ครอบคลุมในหมวดหมู่นี้จะต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงอย่างเข้มงวดและระบบบรรเทาผลกระทบที่จะติดตามมา
การใช้งาน AI ในรูปแบบอื่นๆ จะถือว่าขัดแย้งกับกฎหมายยุโรป เราพูดถึง “ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้” ตัวอย่างเช่น กรณีของระบบ “การให้คะแนนทางสังคม” ซึ่งจัดประเภทพลเมืองตามการรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงใช้ในการสืบสวนแบบ “คาดการณ์” ซึ่งจะพยายามประเมินความน่าจะเป็นที่บางคนจะก่ออาชญากรรม ในทำนองเดียวกัน ห้ามใช้เทคโนโลยีในการจดจำอารมณ์ในที่ทำงานหรือในโรงเรียน
แน่นอนว่า เป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ลงทุนมหาศาลในการพัฒนา AI คือเป้าหมายแรก แม้ว่าทั้ง Microsoft, Alphabet หรือ Meta จะไม่ได้อยู่ในยุโรป แต่สหภาพยุโรปก็เป็นตัวแทนของตลาดที่พวกเขาจะต้องปรับตัวให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกฎหมายเหล่านี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศในภูมิภาคอื่นด้วย
“กฎระเบียบของ AI มีผลกระทบนอกเหนือไปจากภายในสหภาพยุโรป” นายชาร์ลี ทอมป์สัน รองประธานอาวุโสของบริษัทไอที Appian ยืนยันกับ CNBC “สิ่งนี้นำไปใช้กับองค์กรใดๆ ที่มีการดำเนินงานหรือผลกระทบในสหภาพยุโรป ซึ่งหมายความว่ากฎระเบียบของ AI มีแนวโน้มที่จะนำไปใช้กับคุณไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดก็ตาม สิ่งนี้จะนำไปสู่การตรวจสอบยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มงวดมากขึ้น เกี่ยวกับการดำเนินงานของพวกเขาภายในตลาดเดียวของสหภาพยุโรปและการใช้ข้อมูลของพลเมืองสหภาพยุโรป”
สำหรับ AI ที่สร้างเนื้อหาซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่คุ้นเคยนั้น จัดอยู่ในหมวดหมู่ “วัตถุประสงค์ทั่วไป” ไม่ได้หมายความว่า ChatGPT และ Gemini จะไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับประกันการปกป้องข้อมูลผู้ใช้อย่างเพียงพอ ด้วยความโปร่งใสบนพื้นฐานโมเดล AI
อย่างไรก็ตาม นักพัฒนา AI กล่าวว่า สหภาพยุโรปจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า โมเดลโอเพนซอร์ส ซึ่งเปิดให้สาธารณะใช้งานได้ฟรีและสามารถใช้เพื่อสร้างแอปพลิเคชัน AI ตามรูปแบบเฉพาะตัวต้องไม่ถูกควบคุมเข้มงวดเกินไป
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 3 ส.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2805233