นักโทษชาวรัสเซีย 8 คนที่ได้รับการแลกเปลี่ยนตัวกับนักโทษชาวอเมริกัน เดินทางกลับถึงบ้านแล้ว โดยมีนายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียและครอบครัวของพวกเขารอต้อนรับที่สนามบิน ร่วมด้วยนายอันเดรย์ เบลูซอฟ รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย และนายอเล็กซานเดอร์ บอร์ตนิคอฟ ผู้อำนวยการ FSB
จากนั้น ประธานาธิบดีปูติน กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับสั้นๆ ขอบคุณที่ให้ความภักดีต่อคำสาบาน และแสดงความยินดีกับการกลับมา
รัสเซียและชาติตะวันตกหลายประเทศแลกเปลี่ยนนักโทษรวม 24 ราย ถือเป็นการแลกเปลี่ยนนักโทษครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 15 ปี ในกลุ่มของนักโทษอเมริกันประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหว ผู้นำฝ่ายค้าน นักข่าวและเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์
ส่วนในกลุ่มของชาวรัสเซียกลับประกอบไปด้วยสายลับ นักฆ่า และอาชญากรทางไซเบอร์ ได้แก่
นายวาดิม คราซิคอฟ ถูกคุมขังในเยอรมนีตั้งแต่ปี 2564 จากโทษจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาฆาตกรรมผู้นำกองกำลังเชเชนในเชชเนีย เมื่อปี 2562 ศาลเยอรมนีมีความเห็นว่านายคราซิคอฟกระทำการตามคำสั่งของทางการรัสเซีย และใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อเดินทางไปเยอรมนี
นายอาเตมา ดุลท์เซฟ และนางอันนา ดุลท์เซวา ที่มีเบื้องหน้าคือ นายลุดวิก กิสช์ และนางมาเรีย เมเยอร์ คู่รักชาวอาร์เจนตินาที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสโลวีเนียพร้อมกับลูก 2 คนตั้งแต่ปี 2560 เขาบริหารบริษัทไอทีสตาร์ทอัพ และเธอดำเนินกิจการแกลลอรีศิลปะออนไลน์ แต่แท้จริงทั้งคู่เป็นสายลับรัสเซีย นายดุลท์เซฟ ถูกจับกุมในปี 2565 ส่วนนางดุลท์เซวา ถูกจับกุมในปีนี้ ทั้งคู่รับสารภาพว่าเป็นสายลับและปลอมแปลงเอกสาร มีโทษจำคุก 19 เดือน และในการเดินทางกลับมารัสเซียครั้งนี้พวกเขาทั้ง 4 คนเดินทางกลับมาพร้อมกัน
นายมิคาอิล มิคุชิน ซึ่งเป็นชื่อจริงของนายโฮเซ อัสซิส จิอัมมาเรีย ชาวบราซิล อาจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยอาร์กติกแห่งนอร์เวย์ เขาถูกควบคุมตัวในเมืองทรอมโซ เมื่อปี 2565 ฐานเป็นสายลับหน่วยข่าวกรองทางทหารของรัสเซีย
นายพาเวล รุปสตอฟ ซึ่งเกิดที่มอสโกวและย้ายไปสเปนตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก เขาใช้ชื่อนายปาโบล กอนซาเลซ นักข่าวชาวสเปน ในตอนที่ถูกจับกุมในโปแลนด์ใกล้กับชายแดนยูเครนเพียงไม่กี่วันหลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครนในปี 2565 แต่จากการตรวจสอบพบว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยข่าวกรองทางทหารของรัสเซีย
นายโรมัน เซเลซเนฟ ถูกจับในปี 2557 จากการแฮ็กฐานข้อมูลของผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ เพื่อขโมยข้อมูลบัตรเครดิต ในการตรวจสอบแล็ปท็อปของเขา พบว่าเขามีหมายเลขบัตรเครดิตที่ถูกขโมยไปมากถึง 1.7 ล้านหมายเลข และทำกำไรได้อย่างน้อย 2 ล้านเหรียญสหรัฐจากการขายข้อมูล นอกจากนี้ เขายังเป็นบุตรชายของนายวาเลรี เซเลซเนฟ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาของรัสเซียมายาวนาน
นายวลาดิสลาฟ คยูชิน เขาถูกจับกุมที่สวิตเซอร์แลนด์ในปี 2564 และถูกส่งตัวมาดำเนินคดีในสหรัฐฯ ฐานแฮ็กข้อมูลภายในของบริษัทใหญ่ในรูปแบบของ “คนวงใน” ซึ่งทำเงินได้หลายล้านดอลลาร์
นายวาดิม โคโนชเชนโก ถูกควบคุมตัวในเอสโตเนีย ในปี 2565 ขณะพยายามลักลอบนำอาวุธและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไปยังรัสเซีย และถูกส่งตัวมายังสหรัฐฯ ในปี 2566 ฐานสงสัยว่ามีการลักลอบค้าอาวุธและละเมิดมาตรการคว่ำบาตร
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : จส.100 / วันที่เผยแพร่ 2 ส.ค.67
Link : https://www.js100.com/en/site/news/view/142472