สถานการณ์ไฟใต้ที่ไม่มีแนวโน้มดีขึ้น หนำซ้ำ “รัฐไทย” ยังอยู่ในสถานะที่กล่าวได้ว่า “เสียเปรียบทุกประตู”
ทำให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะบัดปากกาวิเคราะห์สภาพปัญหาในมิติที่ไม่ค่อยมีใครกล้านำเสนอ
อาจจะคิดไม่ถึง คิดไม่ทัน หรือไม่อยากถูกทัวร์ลง…
แต่เมื่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชนกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย กับการจัดการปัญหาที่ไร้ทิศทางของรัฐบาล ผสานกับความขะมักเขม้นในเขตงานของบรรดา “แนวร่วมมุมกลับ” ทั้งหลาย
เรื่องแบบนี้จึงถึงเวลาต้องหยิบขึ้นมาพูดกันแบบตรงไปตรงมา ด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้รู้เท่าทันพลวัตของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ไม่ได้ใช้ “สมรภูมิเดียว” ในการต่อสู้อีกต่อไป
และไทยในฐานะของความเป็น “รัฐ” ก็ไม่ใช่ว่าจะคงสถานะได้เปรียบอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีพลวัต และดิสรัปได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้!!!
ภาคใต้กับ 2 นายกฯ!
หลายคนที่ติดตามปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีความรู้สึกคล้ายกันว่า หลังจากการเปิดประเด็นรายละเอียดของ “JCPP” ในเรื่องการเจรจาที่เกิดขึ้นในยุโรป ระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยและผู้แทนของขบวนการ “บีอาร์เอ็น” (BRN) ซึ่งเป็นขบวนการติดอาวุธมุสลิม ที่เป็น “ผู้ก่อเหตุความรุนแรง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยแล้ว ความรุนแรงในพื้นที่ดูจะขยับตัวมากขึ้นจนน่ากังวล
น่าสนใจว่า แทนที่เอกสาร JCPP ที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น จะเป็น “สัญญาณเชิงบวก” ถึงการมาของสันติภาพ อันเป็นผลจากการเจรจาที่เกิดขึ้น (จนถึงขนาดต้องไปประชุมกันถึงยุโรป)
แต่สิ่งที่เกิดในความเป็นจริง ดูเหมือนขบวนติดอาวุธนี้กลับสร้างเหตุความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า ทำไม “ข้อตกลงสันติภาพ” กลายเป็นการสร้าง “เงื่อนไขแห่งความรุนแรง” ในตัวเอง
แน่นอนว่า การก่อเหตุความรุนแรงด้วย “ปฏิบัติการก่อการร้าย” ในพื้นที่ ด้านหนึ่งคือ การชิงความได้เปรียบในทางทหาร และในอีกด้านคือการสร้าง “ภาพแทน” ของความเป็นเจ้าของอำนาจรัฐในการควบคุมพื้นที่ เพราะพวกเขาสามารถเลือกเวลาและสถานที่ได้ตามความต้องการ จนดูเหมือนรัฐไทยแทบจะทำได้ลำบากในการยับยั้งเหตุก่อนที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นจริง
การประกาศศักดาด้วยการก่อการร้าย ยังช่วยสร้างความหวาดกลัวให้กับทั้งเจ้าหน้าที่และมวลชนในพื้นที่ แทบไม่ต่างจากภาพของกองกำลังเวียดกงในยุคสงครามเวียดนาม ที่เปิดปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่ของเวียดนามใต้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะความรุนแรงเช่นนี้คือ เครื่องมือในการสร้าง “อำนาจรัฐใต้ดิน” ของขบวนติดอาวุธที่ซ้อนทับอยู่กับอำนาจรัฐของทางราชการ
นอกจากนี้ การสร้างความกลัวด้วยการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้คือ “การรุกทางทหาร” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างจากองค์กรติดอาวุธทั่วโลกกระทำกัน
10 ปัจจัย…ผลพลอยได้จากความรุนแรง
ปฏิบัติการความรุนแรงดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์หลักที่ประมาณการได้ ดังนี้
1) ความรุนแรงเป็นการโฆษณาที่ชัดเจน สำหรับการแสวงหาการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐและองค์กรภายนอกประเทศที่เห็นด้วยกับทิศทางและการโฆษณาทางการเมืองขององค์กรนี้
2) ภาพความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการโฆษณา เพื่อการแสวงหาความสนับสนุนทางการเมืองจากภายนอกและภายใน ที่เชื่อในเรื่อง “รัฐเอกราช” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทย และสนับสนุนการแยกดินแดน เพราะจุดหมายปลายทางของ BRN มีความชัดเจนในการสร้างรัฐเอกราชใหม่
3) เพื่อการแสวงหาสมาชิกใหม่ด้วย “กระบวนการบ่มเพาะความรุนแรง” เพราะความรุนแรงจะช่วยดึงคนที่ตอบรับกับอุดมการณ์ของขบวนติดอาวุธให้เข้าร่วมในรูปแบบและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ด้วยการสร้าง “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” (historical narrative) ที่อิงอยู่กับ “วาทกรรมเรียกร้องดินแดนคืน” ในแบบอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนโดยทั่วไป
4) เพื่อการสร้าง “พื้นที่แห่งความกลัว” ให้เกิดขึ้นในทางจิตวิทยาสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประเด็นนี้เป็นความต้องการพื้นฐานของขบวนติดอาวุธทั่วโลกที่ต้องสร้างความกลัว เพราะความกลัวเป็นเครื่องมือทางการเมืองในตัวเอง ดังเช่นที่ “กลุ่มรัฐอิสลาม” (IS) เคยใช้อย่างได้ผลมาแล้ว
5) เพื่อสร้างภาพของตัวขบวนการในแบบประชานิยมว่า เขาเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ไม่มีขบวนการอื่นใดกล้าขึ้นมาเป็นคู่แข่งในทางการเมือง
6) เพื่อสร้างสภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” ให้เกิดในพื้นที่ที่เป็นปัญหา เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นภาพที่ช่วยบ่งบอกว่า รัฐไทยยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่จนสามารถรักษาความปลอดภัยได้จริง
ขณะเดียวกัน ก็เป็นการบ่อนทำลายรัฐไทยไปด้วยในตัวเอง เพราะ 20 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการแก้ปัญหา
7) ใช้เป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ฝ่ายรัฐใช้กำลังในการปราบปรามให้มากขึ้น ซึ่งหากรัฐใช้กำลังตอบโต้กับความรุนแรงที่ขบวนการดังกล่าวได้สร้างขึ้นแล้ว ก็จะยิ่งทำให้รัฐไทยตกเป็น “จำเลย” ในสายตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและภายนอก และรวมทั้งเป็น “ผู้ร้าย” ของรัฐบาลตะวันตกอีกด้วย
8) การสร้างความรุนแรงในพื้นที่ย่อมเป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับฝ่ายรัฐ เพราะเป็นการสร้างแรงกดดันให้รัฐต้องยอมทำตามที่ขบวนติดอาวุธนี้ต้องการ
แต่ในทางกลับกันก็ไม่มีหลักประกันเลยว่า ถ้ารัฐยอมทำตามในลักษณะของการดำเนิน “นโยบายแบบยอมตามใจข้าศึก” (หรือ appeasement policy) จริง ขบวนดังกล่าวจะยอมลดระดับความรุนแรงลง
เช่น ที่ผู้นำอังกฤษเคยเชื่อว่า ถ้ายอมให้ฮิตเลอร์ยึดดินแดนใน พ.ศ. 2481 แล้ว ฮิตเลอร์จะไม่ก่อสงครามใหญ่ แต่แล้วนโยบายชุดนี้กลับจบลงด้วยการที่ฮิตเลอร์ขยายอำนาจด้วยการโจมตีโปแลนด์ใน พ.ศ. 2482 อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2
9) การสร้างความรุนแรงด้วยการก่อการร้ายเช่นนี้ กลับกลายเป็นคำอธิบายที่ “พวกสุดโต่ง” เหล่านี้ ใช้เป็นข้ออ้างกับองค์กรในภาคประชาสังคม องค์กรในโครงสร้างอำนาจรัฐไทย และองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและภายนอกว่า “ความรุนแรงเป็นความจำเป็น” เพราะพวกเขาถูกฝ่ายรัฐไทยรังแก
(ในทางกลับกัน เราแทบไม่เคยเห็นการที่องค์กรเหล่านี้จะเรียกร้องให้เกิดการลดระดับความรุนแรงลงจริงๆ แต่อย่างใด จนทำให้เกิดภาพลักษณ์ในทางการเมืองว่า องค์กรเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็น “แนวร่วม” ให้แก่ขบวนติดอาวุธดังกล่าว มากกว่าจะเป็นปัจจัยในการช่วยแก้ปัญหา)
10) การสร้างเหตุความรุนแรงต่าง ๆ ก็เพื่อยืนยันถึงการดำรงอยู่ของขบวนติดอาวุธนี้ การดำรงอยู่เป็นประโยชน์โดยตรงในการแสวงหาความสนับสนุนในทุกรูปแบบ รวมทั้งการแสวงหาที่พักพิงซึ่งเป็น “ฐานที่มั่น” ในอีกรูปแบบหนึ่ง ตลอดรวมถึงการสนับสนุนในส่วนที่เกิดกับกลุ่มผู้นำขบวนการและครอบครัว
เมื่อการ “รุกทางทหาร” ประสาน “แนวร่วม” ทุกมิติ
ภาพของการ “รุกทางทหาร” ที่ประสานเข้ากับการ “รุกทางการเมือง” ผ่าน “แนวร่วม” ในส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรเอ็นจีโอภายนอกที่มีพลังในการสร้างอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ และองค์กรแนวร่วมภายในที่มีอำนาจในกระบวนการการเมืองภายใน รวมทั้งแนวร่วมในระดับตัวบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานความมั่นคงทั้งที่สวมเครื่องแบบและที่เป็นพลเรือน …
แน่นอนว่า “การรุกใหญ่” หลัง JCPP เป็นความท้าทายด้านความมั่นคงที่สำคัญของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเสมือนรัฐไทยกำลังตกอยู่ในวงล้อมของความรุนแรงที่ BRN ซึ่งเป็นขบวนติดอาวุธเปิดการรุกอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นจึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีเมื่อนายกรัฐมนตรีของไทยและมาเลเซียจะได้มีโอกาสพบกันในภาวะเช่นนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของสองประเทศ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง ซึ่งนายกฯ ไทยควรใช้โอกาสนี้ แสดงทัศนะให้ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยจะไม่รับ JCPP ซึ่งเป็นผลผลิตของเอ็นจีโอตะวันตก (ซึ่งดำเนินการที่เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์)
ขณะเดียวกัน ก็ควรยืนยันให้ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ต้องการยุติการพูดคุยสันติภาพ แต่ต้องการเห็นการพูดคุยที่เกิดขึ้นดำเนินไปบนหลักการที่ต้องลดทอนความรุนแรง และสร้างความสงบให้แก่ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทั้งที่เป็นไทยมุสลิมและไทยพุทธ
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 3 ส.ค.67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/130652-pmsurachart.html