ฉากทัศน์ของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยากจะคาดเดา และมีเรื่องเซอร์ไพรส์ปรากฏให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งตอนนั้นรัสเซียเป็นฝ่ายนำกำลังทหารรุกรานข้ามพรมแดนยูเครน แต่ ณ ปัจจุบัน กลับเป็นฝ่ายยูเครนที่ยกกำลังพลบุกข้ามชายแดนสู่ภูมิภาคคุสค์ (Kursk) ทางตะวันตกของรัสเซีย ซึ่งนับถึงวันนี้ (13 สิงหาคม) ก็ครบ 7 วัน ที่ทหารเคียฟบุกเข้าไปในแผ่นดินรัสเซีย โดยรุกคืบลึกเข้าไปหลายสิบกิโลเมตร และยึดหมู่บ้านไว้แล้วหลายสิบแห่ง
การเล่นเกมเดิมพันสูงล่าสุดของรัสเซียยังไม่แน่ชัดว่าจะส่งผลอย่างไรต่อทิศทางของสงคราม ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมายูเครนดูเป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่าจะเป็นฝ่ายบุก และนี่คือสรุปภาพรวมของปฏิบัติการยูเครนบุกรัสเซียที่เกิดขึ้น
6 สิงหาคม เปิดฉากปฏิบัติการบุกรัสเซีย
กองทัพยูเครนสร้างความประหลาดใจให้กับมอสโก ด้วยการเปิดฉากโจมตีภูมิภาคคุสค์ ในเช้าวันที่ 6 สิงหาคม เวลา 08.00 น. ระหว่างที่การสู้รบในยูเครนยังคงดำเนินอยู่
ข้อมูลจากฝ่ายรัสเซียระบุว่า ทหารยูเครนประมาณ 300 นาย พร้อมรถถัง 11 คัน และรถหุ้มเกราะอีกกว่า 20 คัน ได้บุกเข้ารัสเซียโดยมุ่งเป้าไปใน 2 ทิศทาง ได้แก่ หมู่บ้านโอเลชเนีย (Oleshnya) ในเมืองซุดชา (Sudzha) และหมู่บ้านนิโคลาเยโว-ดาร์ยิโน (Nikolayevo-Darino)
โดยฝ่ายรัสเซียได้ส่งเครื่องบินรบพร้อมโดรนและปืนใหญ่โจมตีตอบโต้และอ้างในแถลงการณ์ช่วงแรกว่า ได้ผลักดันทหารยูเครนกลับข้ามแดน พร้อมทั้งสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ฝ่ายยูเครน ก่อนที่ต่อมาจะแก้ไขแถลงการณ์ว่าการสู้รบยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัสเซียในการผลักดันให้ทหารยูเครนถอยหลังกลับดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยกองทัพยูเครนสามารถรุกคืบลึกเข้าไปในแผ่นดินรัสเซียพร้อมยึดหมู่บ้านต่างๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทางการท้องถิ่นต้องเร่งประกาศภาวะฉุกเฉินและอพยพประชาชน ซึ่งจนถึงวันนี้มีรายงานการอพยพประชาชนแล้วกว่า 1.2 แสนคน ในขณะที่พลเรือนรัสเซียเสียชีวิตแล้ว 12 คน
จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมรัสเซียจนถึงวานนี้ (12 สิงหาคม) ระบุว่า กองกำลังทหารยูเครนอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินรัสเซียประมาณ 30 กิโลเมตร ขณะที่สำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า ทัพยูเครนได้เคลื่อนเข้าสู่ภูมิภาคเบลโกรอดที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว โดยสามารถยึดหมู่บ้านได้หลายแห่ง
โดย พล.ท. โอเล็กซานดร์ ซีร์สกี (Oleksandr Syrskyii) ผู้บัญชาการกองทัพบกยูเครน อ้างว่า ตอนนี้กองทัพเคียฟสามารถยึดดินแดนรัสเซียคิดเป็นพื้นที่มากกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร
ภายหลังการบุกของยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมประกาศคำมั่นอย่างเจ็บแค้นว่า “ยูเครนจะต้องได้รับการตอบโต้อย่างสาสม”
ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครน ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการบุกรัสเซียที่เกิดขึ้น โดยได้วางแผนปฏิบัติการนี้ร่วมกับ พล.ท. ซีร์สกี เพื่อทวงคืนความยุติธรรมแก่ยูเครน และได้นำสงครามกลับคืนให้รัสเซีย หลังจากที่รัสเซียยัดเยียดสงครามแก่ประเทศอื่น พร้อมยืนยันว่า “รัสเซียจะต้องถูกบังคับให้สร้างสันติภาพ”
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียตั้งข้อสังเกตว่า การบุกของยูเครนนั้นอาจได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ
แน่นอนว่าประเทศที่ถูกสงสัยที่สุดคือพันธมิตรและผู้สนับสนุนหลักของยูเครนอย่างสหรัฐฯ โดย คารีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวยืนยันว่า “สหรัฐฯ ไม่ได้รับทราบถึงแผนการโจมตีคุสค์ของยูเครน
ส่วนตัวละครอื่นๆ ในภูมิภาคอย่าง เบลารุสในฐานะพันธมิตรหลักของรัสเซีย ก็ออกมาแสดงท่าที โดยประกาศจะส่งกองกำลังของตนไปยังชายแดนยูเครน อ้างเหตุผลว่า ยูเครนละเมิดน่านฟ้าเบลารุสระหว่างการบุกโจมตีคุสค์ และชี้ว่าการที่ยูเครนละเมิดน่านฟ้าเบลารุสถือเป็นการยั่วยุ และเบลารุส ‘พร้อมที่จะตอบโต้’
สาเหตุการตัดสินใจและกลยุทธ์ของยูเครน
การบุกโจมตีแผ่นดินรัสเซียเกิดขึ้นหลังจากที่กองทัพยูเครนเริ่มประสบความพ่ายแพ้ในสมรภูมิที่แคว้นโดเนตสก์ ทางตะวันออก ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ฌอน เบลล์ (Sean Bell) อดีตนักบินขับไล่และนักวิเคราะห์ด้านการทหารมองว่า เหตุผลในการตัดสินใจบุกรัสเซียของยูเครน ประการแรกคือ ‘เพื่อชิงความได้เปรียบ’ จากการที่ทั้งสองประเทศนั้นมีพรมแดนติดกันที่ยาวมาก และเป็นไปได้สูงว่ากองทัพยูเครนสามารถเล็ดลอดเข้าไปในรัสเซียได้โดยที่ข่าวกรองของรัสเซียไม่สามารถรับรู้และป้องกันได้ล่วงหน้า
ประการที่สอง คือการเคลื่อนไหวของฝ่ายยูเครนได้แสดงให้เห็นว่ารัสเซียไม่ได้เป็นผู้คุมเกมสงครามนี้เพียงลำพัง และตอนนี้ยูเครนกำลังควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างชัดเจน
ความเสี่ยงต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ภูมิภาคคุสค์ยังเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คุสค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย และจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปยัง 19 แคว้นทั่วประเทศ
โดยหลังการบุกของยูเครน มีรายงานว่า ทางการรัสเซียได้เตรียมพร้อมเสริมมาตรการความปลอดภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ ขณะที่หลายฝ่ายจับตามองว่ายูเครนจะพุ่งเป้ายึดโรงไฟฟ้าแห่งนี้หรือไม่ ซึ่งทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) เฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตอนนี้จะไม่เกิดเหตุร้ายที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คุสค์ แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 สิงหาคม) ปรากฏรายงานว่าเกิดไฟไหม้ที่หอหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นจุดที่รัสเซียยึดครองอยู่ โดย IAEA ระบุว่า เหตุไฟไหม้ครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย ขณะที่สื่อรัสเซียรายงานว่า ไฟได้ดับลงแล้ว
หลังเกิดเหตุ เซเลนสกีกล่าวหาว่ารัสเซียเป็นผู้ก่อเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลมอสโกก็ตอบโต้และกล่าวหาว่าเป็นฝีมือรัฐบาลเคียฟ
ขณะที่ ราฟาเอล กรอสซี (Rafael Grossi) ผู้อำนวยการ IAEA ออกแถลงการณ์หลังเกิดเหตุ ระบุว่า “การโจมตีโดยประมาทเลินเล่อเหล่านี้ เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้า และเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางนิวเคลียร์” พร้อมเรียกร้องให้หยุดการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในทันที
ทิศทางสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะเปลี่ยนหรือไม่?
การบุกแผ่นดินรัสเซียที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่า ทำไมกองทัพยูเครนจึงสามารถบุกโจมตีภูมิภาคคุสค์ได้อย่างง่ายดาย
โดยเบลล์มองว่าปฏิบัติการของยูเครนครั้งนี้สามารถก่อให้เกิดผลกระทบได้ไกลถึงขั้นสามารถเปลี่ยนทิศทางของสงครามได้ แม้ว่านักวิจารณ์อีกหลายคนจะมองว่าการบุกโจมตีรัสเซียแบบกะทันหันของยูเครนนั้นค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและไม่รอบคอบ แต่เบลล์อธิบายว่า “โมเมนตัมและการชิงความได้เปรียบคือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำสงคราม ซึ่งทำให้ทุกคนไม่ทันตั้งตัว”
ผลจากการบุกโจมตีของยูเครนยังบีบบังคับให้รัสเซียต้องโยกกำลังทหารจากสมรภูมิแนวหน้าในแคว้นโดเนตสก์ ทั้งที่รัสเซียเริ่มเป็นฝ่ายรุกคืบและยึดพื้นที่จากยูเครนได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเบลล์มองว่าการเคลื่อนย้ายกำลังทหารรัสเซียไปอุดรูรั่วที่ภูมิภาคคุสค์จะช่วยลดแรงกดดันของทัพยูเครนในโดเนตสก์
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ด้านการทหารมองว่า การจะสามารถรักษาพื้นที่ในภูมิภาคคุสค์ได้นั้น ฝ่ายยูเครนจะต้องเร่งส่งทหาร รถถัง และทรัพยากรอื่นๆ ไปเพิ่ม
โดยปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นเดิมพันที่มีความเสี่ยงสูงมากของกองทัพเคียฟ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดแล้วกองทัพรัสเซียที่มีจำนวนมากกว่าจะสามารถเอาชนะและขับไล่ทัพยูเครนได้
แต่หากยูเครนยังคงยืนหยัดหรือสามารถเดินหน้าบุกยึดแผ่นดินรัสเซียได้ต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นเครื่องต่อรองที่ดีสำหรับยูเครนในหลายๆ ด้าน รวมถึงการเจรจาสันติภาพ
แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากภารกิจของยูเครนครั้งนี้ล้มเหลว สิ่งที่ตามมาก็อาจกลายเป็นการ ‘ทำลายขวัญกำลังใจ’ ของทหารยูเครนให้ย่ำแย่ลงมากกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
ภาพ: Viacheslav Ratynskyi / REUTERS
อ้างอิง:
https://indianexpress.com/article/explained/explained-global/ukraine-russia-kursk-9510172/
บทความโดย วิโรจน์ เลิศจิตต์ธรรม
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : The Standard / วันที่เผยแพร่ 13 ส.ค.67
Link : https://thestandard.co/7-days-ukraine-invades-russia/