หลังญี่ปุ่นประกาศเตือนอาจเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงสุดในรอบ 100 ปีบริเวณ “ร่องธรณีนันไค” ได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า เป็นการเตือนที่เกินความจำเป็นหรือไม่
หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 เขย่าพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา จนนักอุตุนิยมวิทยาต้องออกคำเตือนชั่วคราวเกี่ยวกับคลื่นสึนามิ
นอกจากนี้ คณะกรรมการพิเศษยังเตือนว่า อาจเกิด “แผ่นดินไหวครั้งใหญ่” อีกครั้งในไม่กี่สัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่หน่วยงานนี้ออกคำเตือนประเภทนี้ทั่วประเทศ จนทำให้รถไฟความเร็วสูงต้องลดความเร็วลงเพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉิน ทำให้การเดินทางล่าช้า และนายกรัฐมนตรีได้ยกเลิกการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ
AFP/STR/JIJI Press
ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวคาบสมุทรโนโตะของญี่ปุ่นเมื่อ 1 ม.ค. 2024 (แฟ้มภาพ)
ท้ายที่สุด รัฐบาลได้ยกเลิกคำเตือนส่วนใหญ่และรายงานว่าไม่มีความเสียหายร้ายแรงจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นยังคงมีระดับการเฝ้าระวังที่สูงอยู่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามว่า คำเตือนดังกล่าวจำเป็นหรือไม่ หรือแม่นยำหรือไม่ และมีความเสี่ยงหรือไม่ที่จะทำให้เกิดความตื่นตระหนกเกินความจำเป็น
ญี่ปุ่นเคยเผชิญกับแผ่นดินไหวรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง เพราะตั้งอยู่บนแนววงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ซึ่งเป็นบริเวณที่มักเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงและภูเขาไฟระเบิดอย่างรุนแรงในมหาสมุทรแปซิฟิก
โยชิโอกะ โชอิจิ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโกเบ กล่าวว่า “ญี่ปุ่นตั้งอยู่บนเส้นแบ่งเขตของแผ่นเปลือกโลก 4 แผ่น ซึ่งทำให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดในโลก”
เขาเสริมว่า “แผ่นดินไหวขนาด 6 ขึ้นไปทั่วโลกประมาณ 10% เกิดขึ้นในหรือรอบ ๆ ญี่ปุ่น ดังนั้นความเสี่ยงจึงสูงกว่าที่อื่น ๆ เช่น ยุโรปหรือสหรัฐฯ ตะวันออก ซึ่งแผ่นดินไหวเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก”
แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้คือแผ่นดินไหวโทโฮกุขนาด 9.1 ในปี 2011 ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นสึนามิครั้งใหญ่และภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 20,000 คน
นักอุตุนิยมวิทยาเตือนว่า ในอนาคตอันใกล้ อาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ร่องธรณีนันไค (Nankai Trough) ซึ่งจะเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ โดยอาจจะมีขนาดเกินกว่า 9
นักแผ่นดินไหววิทยาระบุว่า เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้ แม้ว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จะยังคงเป็นที่ถกเถียงก็ตาม
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เตือนมานานแล้วเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่ร่องธรณีนันไค จนทำให้ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าแผ่นดินไหวรุนแรงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจริง แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน โดยนักวิทยาศาสตร์บางคนโต้แย้งว่า การมุ่งความสนใจไปที่แผ่นดินไหวซึ่งมีโอกาสจะเกิดในญี่ปุ่นนั้นไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศเผชิญกับภัยคุกคามที่คล้ายกันแต่ได้รับความสนใจน้อยกว่ามาก
ร่องธรณีนันไคเป็นเขตการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกยาว 700 กิโลเมตร ซึ่งหมายถึงช่วงที่แผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งเคลื่อนตัวเข้าไปใต้แผ่นเปลือกโลกอีกแผ่น ซึ่งแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดมักเกิดขึ้นในเขตการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก
ตามรายงานเมื่อปี 2013 ของคณะกรรมการวิจัยแผ่นดินไหวของรัฐบาลญี่ปุ่น แผ่นเปลือกโลกใต้ทะเลฟิลิปปินส์กำลังเคลื่อนตัวช้า ๆ ลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกที่ญี่ปุ่นตั้งอยู่ โดยเคลื่อนตัวหลายเซนติเมตรต่อปี
รายงานของคณะกรรมการระบุว่า ที่ร่องธรณีนันไค มีแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นทุก 100-200 ปี แผ่นดินไหวครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1944 และ 1946 โดยวัดขนาดได้ 8.1 แมกนิจูดทั้งคู่ แผ่นดินไหวครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้กับญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2,500 รายและบาดเจ็บอีกหลายพันคน รวมถึงบ้านเรือนหลายหมื่นหลังได้รับความเสียหาย
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เตือนว่า จากการคำนวณระยะห่างระหว่างแผ่นดินไหวใหญ่แต่ละครั้ง มีโอกาส 70-80% ที่ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในร่องธรณีนันไคอีกครั้งภายใน 30 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีความรุนแรงระหว่าง 8-9 แมกนิจูด
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์เหล่านี้ และประโยชน์จากการคาดการณ์ระยะยาวที่ไม่แม่นยำ กลับเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากบางฝ่าย
โยชิโอกะ จากมหาวิทยาลัยโกเบ กล่าวว่าตัวเลข 70-80% นั้นน่าจะสูงเกินไป และข้อมูลดังกล่าวได้มาจากทฤษฎีเฉพาะอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้มีแนวโน้มผิดพลาดได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม เขาไม่สงสัยเลยว่า “แผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้” ในอนาคต
“ผมบอกนักเรียนของผมว่า แผ่นดินไหวที่ร่องธรณีนันไคจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อาจจะในรุ่นของคุณหรือรุ่นลูกหลานของคุณ” เขากล่าว
ด้าน โรเบิร์ต เกลเลอร์ นักแผ่นดินไหววิทยาและศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว มองว่า แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่และทุกเวลา ซึ่งหมายความว่า แทบไม่มีประโยชน์เลยที่จะคำนวณว่าแผ่นดินไหวครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อใดโดยพิจารณาจากเวลาที่แผ่นดินไหวครั้งก่อน ๆ เกิดขึ้น
ทั้งโยชิโอกะและเกลเลอร์กล่าวว่า มาตรการด้านความปลอดภัยที่ญี่ปุ่นดำเนินการในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมากเกินไปหรือถึงขั้นไม่จำเป็น
โยชิโอกะบอกว่า จริงอยู่ที่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งหนึ่ง อาจเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่สองที่ใหญ่กว่าตามมาได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทางการออกคำเตือนที่ไม่เคยมีมาก่อนเมื่อวันที่ 8 ส.ค. แต่ถึงอย่างนั้น โอกาสที่แผ่นดินไหวร่องธรณีนันไกจะเกิดขึ้นในวันถัดไปนั้นก็ต่ำ โดยอาจเพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงทั่วไปที่ 1 ใน 1,000 เป็น 1 ในไม่กี่ร้อย ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยกว่า 1%
เกลเลอร์เสริมว่า อันตรายของการคาดการณ์อนาคตมากเกินไปคือ “คุณจะเป็นเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ … คุณจะออกคำเตือนเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าปกติเล็กน้อย และประชาชนจะเบื่อคุณอย่างรวดเร็ว”
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสัญญาณของความเหนื่อยล้าของประชาชนในขณะนี้ เนื่องจากประชาชนทั่วประเทศอยู่ในภาวะเฝ้าระวังสูง
ซูไก โยตะ นักศึกษาอายุ 22 ปี กล่าวว่า การเห็นคำเตือนดังกล่าวทางโทรทัศน์ “ทำให้ผมรู้สึกเร่งร้อนและหวาดกลัว ราวกับเป็นเสียงปลุกให้ตื่น”
หลังจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 8 ส.ค. เขาได้จัดหาเสบียงฉุกเฉิน เช่น อาหารและน้ำ ตรวจสอบแผนที่ออนไลน์สำหรับพื้นที่อันตราย และพิจารณาไปเยี่ยมญาติพี่น้องในพื้นที่ชายฝั่งเพื่อช่วยวางแผนเส้นทางอพยพ
เขาบอกว่า “แผ่นดินไหวเมื่อไม่นานนี้ในวันปีใหม่เตือนผมว่า เราไม่สามารถรู้ได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อใด มันทำให้ผมตระหนักถึงพลังที่น่ากลัวของธรรมชาติ” โดยหมายถึงแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดที่ถล่มคาบสมุทรโนโตะเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2024 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากก็เพราะแผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นบ่อยครั้ง และภัยพิบัติในปี 2011 ได้ทิ้งรอยแผลใหญ่ไว้ในจิตใจของคนทั้งประเทศ
“ทุกครั้งที่เราได้เห็นการสูญเสียชีวิตอันน่าสลดใจ อาคารบ้านเรือนพังถล่ม และสึนามิที่สร้างความเสียหาย ทิ้งร่องรอยของความกลัวไว้เป็นความทรงจำ ความกลัวนี้น่าจะเกิดขึ้นกับประชาชนหลายคน ผมคิดว่านี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นพยายามเตรียมตัวให้ดีที่สุด” โยชิโอกะกล่าว
เกลเลอร์กล่าวเสริมว่า แม้ว่าการเน้นย้ำถึงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับร่องธรณีนันไคจะทำให้ผู้คนในภูมิภาคนี้เตรียมตัวรับมือเป็นอย่างดี แต่ก็ “ไม่ดีสำหรับส่วนอื่น ๆ ของประเทศ เพราะผู้คนคิดว่าเหตุการณ์นันไคนั้นอันตรายมาก แต่พวกเราในเมืองคุมาโมโตะหรือคาบสมุทรโนโตะปลอดภัยดี … ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงมีผลทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยแบบหลอก ๆ ยกเว้นในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้”
เรียบเรียงจาก CNN
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 13 ส.ค.67
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/230396