Summary
• วิทยุติดตามตัว หรือ ‘เพจเจอร์’ กลายเป็นเครื่องมือจุดชนวนระเบิดโจมตีกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2024 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย เป็นเด็ก 1 ราย และผู้บาดเจ็บราว 2,800 คน โดยฮิซบอลเลาะห์ระบุว่าหน่วยข่าวกรองอิสราเอล หรือ ‘มอสซาด’ เป็นผู้ลงมือครั้งนี้
• เพจเจอร์เป็นเทคโนโลยีตกรุ่นที่หลายประเทศเลิกใช้บริการไปนานหลายปีนับตั้งแต่สมาร์ตโฟนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักทั่วโลก แต่บางสาขาอาชีพในหลายๆ ประเทศยังใช้เพจเจอร์อยู่ เพราะเพจเจอร์รับส่งสัญญาณจากคลื่นวิทยุ จึงไม่ถูกโจมตีด้วยสปายแวร์ และยังใช้งานได้แม้ระบบสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตล่ม
• ช่วงต้นปี 2024 ผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ประกาศให้สมาชิกเลิกใช้โทรศัพท์มือถือเพราะอาจถูกดักฟังหรือสอดแนม จึงเปลี่ยนมาใช้เพจเจอร์ติดต่อสื่อสารกันแทน
• บริษัทไต้หวัน Gold Apollo แถลงชี้แจงว่าเพจเจอร์ที่ระเบิดอย่างต่อเนื่องในเลบานอนเป็นเครื่องรุ่น AR-924 ซึ่งผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัทซัพพลายเออร์ในยุโรป ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธประเมินว่าวัตถุระเบิดราว 3-5 กรัมน่าจะถูกซุกซ่อนอยู่ในเพจเจอร์ตั้งแต่ตอนประกอบเครื่องและถูกจุดชนวนด้วยข้อความซึ่งถูกส่งผ่านคลื่นวิทยุความถี่สูงยิ่ง (UHF)
สื่อตะวันตกบางส่วนเรียกปฏิบัติการจุดชนวนระเบิดด้วยวิทยุติดตามตัว หรือ ‘เพจเจอร์’ ว่า Pager-Bombs หลังเกิดเหตุระเบิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศเลบานอนเมื่อเวลา 15:30 น. วันที่ 17 กันยายน 2024 และคลิปบันทึกเหตุการณ์ซึ่งถูกส่งต่ออย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นภาพผู้คนที่กำลังเดินอยู่ในตลาดและพื้นที่สาธารณะอยู่ดีๆ ก็บาดเจ็บจากแรงระเบิดที่ปะทุขึ้นจากในกระเป๋ากางเกงหรือไม่ก็เข็มขัด แรงระเบิดทำให้หลายคนนิ้วขาด บาดเจ็บช่วงท้อง ไปจนถึงถูกแรงระเบิดอัดเข้าใบหน้า สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้อยู่ในเหตุการณ์จำนวนมาก
สำนักข่าว CNN รายงานว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุเพจเจอร์บอมบ์ในครั้งนี้มีอย่างน้อย 9 ราย และผู้บาดเจ็บอีกประมาณ 2,800 คน โดยผู้ได้รับผลกระทบมีทั้งสมาชิกกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์และพลเรือนทั่วไป โดยเด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกของสมาชิกฝ่ายการเมืองในระบบรัฐสภาของฮิซบอลเลาะห์เสียชีวิตขณะเล่นเพจเจอร์ของพ่อ
นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงหลายรายชี้เป้าว่าหน่วยงานรัฐบาลอิสราเอลน่าจะอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการเพจเจอร์บอมบ์ เพราะก่อนหน้านี้ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เคยประกาศว่าจะตอบโต้ฮิซบอลเลาะห์อย่างเต็มกำลัง หลังจากฮิซบอลเลาะห์แถลงจุดยืนเคียงข้างกลุ่มติดอาวุธฮามาสในปาเลสไตน์ ซึ่งก่อวินาศกรรมหลายจุดในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ทั้งยังยิงจรวดและปืนใหญ่โจมตีภาคเหนือของอิสราเอลอย่างต่อเนื่องช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่บริษัทเจ้าของแบรนด์เพจเจอร์ซึ่งถูกจุดชนวนระเบิดทั่วเลบานอนเป็นธุรกิจสัญชาติไต้หวันซึ่งทำสัญญาให้บริษัทซัพพลายเออร์ในประเทศแถบยุโรปเป็นตัวแทนผลิตและจัดจำหน่าย จึงยังไม่อาจระบุได้ว่าเพจเจอร์ที่ซุกซ่อนวัตถุระเบิดถูกส่งหรือปะปนไปกับเพจเจอร์ที่เป็นสินค้าปกติได้อย่างไร
แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้คือปฏิบัติการครั้งนี้เกี่ยวโยงกับตัวละครจำนวนมาก ทั้งที่อยู่นอกภูมิภาคตะวันออกกลาง และผู้ที่เป็น ‘คนใน’ เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและความมั่นคงบางส่วนเชื่อว่าเพจเจอร์บอมบ์ถูกจุดชนวนด้วยการส่งข้อความผ่านระบบส่งสัญญาณคลื่นวิทยุความถี่สูงยิ่ง จึงคาดว่าน่าจะมีคนในเครือข่ายฮิซบอลเลาะห์เป็น ‘ไส้ศึก’ ให้กับฝั่งอิสราเอลด้วย
‘มอสซาด’ อยู่เบื้องหลังเพจเจอร์บอมบ์หรือไม่?
สำนักข่าว AP รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวซึ่งเป็นคนในรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชุดปัจจุบัน ระบุว่าหน่วยข่าวกรองของอิสราเอล หรือ ‘มอสซาด’ (Mossad) ร่วมมือกับกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล (IDF) ปฏิบัติการโจมตีและตัดกำลังฮิซบอลเลาะห์ด้วยเพจเจอร์บอมบ์ครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลอิสราเอลไม่ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน
ส่วนเหตุผลที่หน่วยข่าวกรองมอสซาดถูกผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นเพราะปฏิบัติการใหญ่ในระดับนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและอาวุธจำนวนมาก ทั้งยังต้องเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากพอจะกดดันหรือแทรกแซงกระบวนการผลิตสินค้าของบริษัทเอกชนได้ ซึ่งมอสซาดเป็นหน่วยงานที่มีคุณสมบัติเหล่านั้น เพราะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการสอดแนมนอกประเทศ รวมถึงการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีด้านความมั่นคงที่ทั่วโลกยอมรับ
อย่างไรก็ดี บัญชีโซเชียลมีเดีย X ของมอสซาดโพสต์ข้อความหลังเกิดเหตุเพจเจอร์บอมบ์ได้ไม่นาน โดยย้ำว่ามอสซาดไม่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการดังกล่าว และสำนักข่าวที่อ้างว่ามอสซาดและ IDF อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นข้อมูลเท็จ
แต่ก่อนที่มอสซาดจะปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการเพจเจอร์บอมบ์ (ซึ่งทางฝั่งอิสราเอลเรียกว่า Beepers Operation) โทแพซ ลุก ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลอิสราเอล เป็นคนโพสต์ข้อความในบัญชี X ของตัวเองว่า นายกฯ เนทันยาฮู อนุมัติเห็นชอบปฏิบัติการดังกล่าว จนกระทั่งบัญชีของมอสซาดโพสต์ปฏิเสธความเกี่ยวข้อง ข้อความของที่ปรึกษารัฐบาลฯ จึงได้ถูกลบไป
ผู้ใช้ X จำนวนหนึ่งแสดงความเห็นว่าการเอ่ยอ้างความรับผิดชอบในการก่อเหตุ จะทำให้มอสซาดไม่ต่างอะไรกับกลุ่มก่อการร้ายที่ตัวเองพยายามจะปราบปราม และพลเรือนที่ถูกลูกหลงบาดเจ็บ-เสียชีวิตมีจำนวนไม่น้อย แต่ผู้แสดงความเห็นบางส่วนก็เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดที่ระบุว่า รัฐบาลอิหร่านคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้เพื่อสร้างปมขัดแย้งเพิ่มเติมให้กับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง เพราะที่ผ่านมาอิหร่านสนับสนุนอุดมการณ์ของฮิซบอลเลาะห์ในการต่อสู้กับอิสราเอลและสหรัฐฯ ซึ่งถูกแปะฉลากว่าเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสลาม
ทำไมฮิซบอลเลาะห์ถึงยังใช้เทคโนโลยีตกรุ่นอย่างเพจเจอร์?
แม้ว่าเพจเจอร์จะเป็นเทคโนโลยีตกรุ่นซึ่งหลายประเทศเลิกใช้บริการไปนานหลายปีนับตั้งแต่สมาร์ตโฟนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักทั่วโลก โดยกรณีของไทย บริษัทผู้ให้บริการส่งข้อความไปยังเพจเจอร์ล้วนยุติบทบาทไปตั้งแต่ปี 2002 และบริษัทในญี่ปุ่นที่ปิดตัวเป็นอันดับสุดท้ายของโลกก็ประกาศยุติบริการไปตั้งแต่ปี 2019 แต่ในความเป็นจริงแล้วบางสาขาอาชีพในหลายประเทศก็ยังใช้เพจเจอร์อยู่ เช่น แพทย์ หน่วยกู้ภัย ผู้ขับขี่พาหนะโดยสาร ไปจนถึงผู้ค้ายาเสพติด
ข้อมูลที่สำรวจล่าสุดระหว่างปี 2023-2024 โดยเว็บไซต์ LRS พบว่ายังใช้มีการเพจเจอร์ติดต่อสื่อสารระหว่างบุคลากรในกลุ่มอาชีพที่ว่ามาข้างต้นในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย และหลายประเทศในยุโรป โดยเพจเจอร์ที่ยังใช้งานอยู่จะรับและส่งข้อความผ่านสัญญาณคลื่นวิทยุความถี่สูงยิ่ง (Ultra High Frequency: UHF) ซึ่งมีความเสถียรกว่าสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ต จึงสามารถใช้งานได้ดีกว่าในพื้นที่ห่างไกลหรือในช่วงที่ระบบอินเทอร์เน็ตล่ม ปลอดภัยจากการถูกโจมตีด้วยสปายแวร์และมัลแวร์ และคลื่น UHF ไม่ส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่องช่วยพยุงปอดหรือหัวใจ
นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำสูงสุดของฮิซบอลเลาะห์ ได้ประกาศให้สมาชิกเลิกใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะอาจถูกดักฟังหรือสอดแนม พร้อมทั้งเปลี่ยนมาใช้เพจเจอร์ในการติดต่อสื่อสารกันแทน ทำให้กลุ่มติดอาวุธเป็นอีกหนึ่งผู้ใช้เทคโนโลยีตกรุ่นอย่างเพจเจอร์
นักวิเคราะห์คาดเดาว่าอิสราเอลน่าจะใช้เวลาหลายเดือนถัดมาในการวางแผนปฏิบัติการและลักลอบฝังวัตถุระเบิดลงในเพจเจอร์ล็อตใหญ่ซึ่งฮิซบอลเลาะห์สั่งซื้อและนำเข้ามาใช้กับกลุ่มสมาชิกของตัวเอง
นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงยังเชื่อด้วยว่า ปฏิบัติการครั้งนี้น่าจะได้รับความร่วมมือจาก ‘ไส้ศึก’ ที่แทรกซึมและปะปนอยู่กับเครือข่ายฮิซบอลเลาะห์ทั้งในและนอกเลบานอน เพราะปฏิบัติการนี้ต้องทำให้แน่ใจว่าเพจเจอร์ซึ่งถูกฝังระเบิดจะถูกส่งต่อหรือกระจายไปยังสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่เป็นเป้าหมายการโจมตีแบบไม่ผิดฝาผิดตัว แต่ก็ยังมีผู้โต้แย้งเช่นกันว่าการระบุเป้าหมายไม่มีทางทำได้อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ และมีความเสี่ยงสูงอย่างมากที่ปฏิบัติการนี้จะส่งผลกระทบต่อพลเรือนผู้ไม่เกี่ยวข้อง
5 ปัจจัยที่ทำให้เพจเจอร์กลายเป็นระเบิดสังหาร
คาร์ลอส เปเรซ อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดแห่งกองทัพอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคง TrustedSec. ให้สัมภาษณ์กับ AP ว่า การจุดชนวนระเบิดต้องอาศัยปัจจัยหลัก 5 ข้อ ได้แก่ 1. ภาชนะหรือเครื่องบรรจุ 2. แบตเตอรี 3. ตัวจุดชนวน 4. สารเคมีหรือวัตถุระเบิด และ 5. ประจุการระเบิด ซึ่งเพจเจอร์มีปัจจัย 3 อย่างพร้อมแล้วตั้งแต่แรก
ด้วยเหตุนี้ เปเรซจึงสันนิษฐานว่าการติดตั้งวัตถุระเบิดและประจุการระเบิดเพิ่มเติมในแผงวงจรเพจเจอร์จะต้องเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการผลิตและประกอบเครื่อง จากนั้นจึงค่อยถูกส่งต่อไปยังผู้รับสินค้าอย่างฮิซบอลเลาะห์ หรือในกรณีที่การติดตั้งวัตถุระเบิดเกิดขึ้นในเลบานอนก่อนที่จะมีการส่งต่อเพจเจอร์ไปยังสมาชิกฮิซบอลเลาะห์ ก็ยิ่งสอดคล้องกับทฤษฎีที่นักวิเคราะห์อีกหลายรายเชื่อว่าปฏิบัติการเพจเจอร์บอมบ์ครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากคนที่เข้าไปแทรกซึมอยู่ในเครือข่ายฮิซบอลเลาะห์เป็นเวลานานแล้ว
ส่วนกลไกการจุดชนวนระเบิด มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเกิดจากการจงใจส่งข้อความผิดพลาดไปยังเพจเจอร์ต่างๆ ที่ถูกฝังวัตถุระเบิดเอาไว้ และมีการประเมินว่าวัตถุระเบิดที่ถูกซุกซ่อนในเพจเจอร์แต่ละเครื่องน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 กรัม ซึ่งถือว่าเพียงพอจะทำให้เกิดแรงระเบิดขนาดย่อยที่โจมตีเฉพาะจุด แต่ก็มีผลให้บาดเจ็บหรือเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ถ้าเพจเจอร์ระเบิดใกล้กับอวัยวะสำคัญๆ ในร่างกายมนุษย์
เอ็น. อาร์. เจนเซน-โจนส์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านอาวุธในออสเตรเลีย Armament Research Services ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ AP เช่นกัน ระบุว่า อิสราเอลเคยถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมแทรกแซงระบบยิงขีปนาวุธนำวิถีของอิหร่านมาก่อนเมื่อปี 2023 โดยเป็นการลักลอบติดตั้งอุปกรณ์ชำรุดหรือมีตำหนิลงไปในกลไกของเครื่องยิงขีปนาวุธที่ผลิตโดยบริษัทต่างประเทศ แล้วส่งต่อไปยังผู้ประกอบขีปนาวุธ ซึ่งวิธีนี้จะส่งผลให้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เสียหายตั้งแต่ก่อนถูกใช้งาน
แม้รัฐบาลอิสราเอลจะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยบอกว่าเป็นข้อมูลเท็จ แต่พอเกิดเหตุเพจเจอร์บอมบ์ในเลบานอน ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากก็ลงความเห็นว่าวิธีที่ใช้ในครั้งนี้คล้ายกับเหตุการณ์ที่มีเบาะแสว่าเป็นฝีมือของอิสราเอลต่ออิหร่าน ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีมีการยืนยันหรือยอมรับจากฝ่ายใดทั้งสิ้น
ธุรกิจเอกชน อีกหนึ่งผู้ได้รับผลกระทบข้ามทวีป
นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากปฏิบัติการเพจเจอร์บอมบ์ในเลบานอน ยังมีผู้ได้รับผลกระทบทางตรงอีกราย คือ บริษัท Gold Apollo ผู้ผลิตเพจเจอร์จากไต้หวัน เพราะเพจเจอร์ที่เกิดระเบิดต่อเนื่องในเลบานอนถูกประทับตรายี่ห้อและชื่อรุ่นแบบเดียวกับสินค้าที่ผลิตโดย Gold Apollo ทำให้ ซู จิงเหลียน ประธานบริหาร Gold Apollo ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องนี้ทันที
สำนักข่าว CNN รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของประธานซู ระบุว่าเพจเจอร์ที่ระเบิดเป็นเครื่องรุ่น AR-924 ซึ่งผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัทซัพพลายเออร์แห่งหนึ่งในยุโรปซึ่งเซ็นสัญญาความร่วมมือกับทาง Gold Apollo ประมาณ 3 ปีที่แล้ว โดยตอนแรกบริษัทซัพพลายเออร์ดังกล่าวนำเข้าตัวเครื่องจากไต้หวันเพื่อนำไปจัดจำหน่ายในฐานะตัวแทนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทดังกล่าวได้ขอเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นการนำเข้าแผงวงจรภายในเครื่องเพื่อไปประกอบและจัดจำหน่ายเองโดยยังประทับยี่ห้อ Gold Apollo เหมือนเดิม และมีครั้งหนึ่งที่บริษัทมีปัญหาการเจรจาจัดส่งแผงวงจรล่าช้ากว่าปกติ
เอมอส ยาดลิน อดีตผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของอิสราเอล ซึ่งปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักยุทธศาสตร์ความมั่นคง แสดงความเห็นใน X ว่า การโจมตีฮิซบอลเลาะห์ในครั้งนี้ไม่ได้หวังผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตหรือความเสียหายร้ายแรง แต่ต้องการสร้างความหวาดระแวงในกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วกลุ่มติดอาวุธที่ขึ้นชื่อเรื่องปฏิบัติการลับและการบัญชาการที่ไม่เปิดเผยตัวตนก็มีช่องโหว่ให้ศัตรูแทรกซึมเข้าไปได้เช่นกัน จึงถือเป็นปฏิบัติการที่ส่งผลทางจิตวิทยามากกว่าจะพุ่งเป้าเอาชีวิต
การก่อเหตุครั้งนี้ถูกเปรียบเป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้นำฮิซบอลเลาะห์ให้ทบทวนจุดยืนของตัวเองในการหนุนหลังกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ แต่นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่าฮิซบอลเลาะห์จะแสดงท่าทีแข็งกร้าวและตอบโต้กลับอิสราเอลมากกว่าจะยอมถอยหรือเปลี่ยนท่าที เพราะการถูกโจมตีครั้งใหญ่โดยไม่ทำอะไรเลยจะมีผลต่อความเชื่อมั่นภายในสมาชิกเครือข่ายเช่นกัน
อ้างอิง: AP, CNN, The Economic Times, Gulf News, IRS Pagers, The Jerusalem Post, X/ Mossad Commentary, Reuters, Spok
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐพลัส / วันที่เผยแพร่ 18 ก.ย. 67
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104794