ไฟใต้ ณ ห้วงเวลานี้ ไม่ใช่สถานการณ์รุนแรงแบบปกติอย่างแน่นอน
แม้เหตุการณ์ความไม่สงบจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง หลายเรื่องไม่ค่อยเป็นข่าว ยกเว้นล่าสุดที่กลุ่มชายฉกรรจ์ชุดดำบุกปล้นปืน เผาอาคาร บ้านพัก และวางระเบิดภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา
ทว่าเมื่อเจาะรายเหตุการณ์ จะพบว่าล้วนร้ายแรงและสร้างความเสียหายหนักหน่วง
เช่น เหตุลอบวางระเบิดโจมตีรถกระบะของทหารพราน ในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อ 17 ก.ย.67 แรงระเบิดอัดรุนแรงกระทั่งรถพลิกคว่ำตกถนน เสียหายยับเยิน กำลังพลบาดเจ็บ 4 นาย
ก่อนหน้านั้น 3 วัน คือ วันที่ 14 ก.ย. คนร้ายวางระเบิดตู้เอทีเอ็ม ยิง และเผาอาคารสำนักงาน อบต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยเหตุบึ้มตู้กดเงินด่วน รุนแรงถึงขั้นตัวตู้ซึ่งเป็นเหล็กกระเด็นจากจุดติดตั้ง
ยังไม่นับคดีสำคัญที่ย้อนศรกลับไปเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างคดีตากใบ 2 สำนวนที่ทยอยขึ้นสู่ศาล แม้จะใกล้ขาดอายุความเต็มทีก็ตาม
ไม่ว่าสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลจะได้พิจารณาคดีตากใบหรือไม่ แต่ภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่และรัฐไทยก็เสียหายซ้ำอีก จากที่เคยเสียหายมาตลอด 20 ปีของเหตุการณ์
ทุกอย่างมาประดังในช่วงที่กระบวนการเรียกร้องสันติภาพผ่านโต๊ะเจรจาที่ฝ่ายรัฐมีแนวโน้มเสียเปรียบ ถูกดันเข้าเวทีรัฐสภา และขับเคลื่อนผ่านองค์กรฝ่ายการเมือง รวมถึงพรรคการเมือง ซึ่งมีจุดยืนตรงข้ามกับกองทัพ และ กอ.รมน. ผู้เป็นเจ้าภาพในภารกิจดับไฟใต้
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของเดือน ก.ย.ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด คือ
– เป็นช่วงเปลี่ยนปีงบประมาณ สลับกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง
– ฟากฝั่งทหาร มีการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
– ฟากฝั่งการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ แม้จะมีพรรคแกนนำคือเพื่อไทยพรรคเดิม แต่นายกฯคนใหม่
รู้กันดีว่า ปัญหาไฟใต้เปรียบเสมือน “ยาขม” ของรัฐบาลเพื่อไทย และรัฐบาลใต้ร่มของอดีตนายกฯ ทักษิณในอดีต ฉะนั้นสถานการณ์ในห้วงนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการ “รับน้อง” และจับจ้องว่ารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวอดีตนายกฯทักษิณ จะเดินหน้านโยบายดับไฟใต้อย่างไร
ข้อมูลข่าวเชิงลึกที่ได้รับมา ชัดเจนว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ตลอดจนพรรคเพื่อไทยหมายมั่นที่จะ “แก้มือ” ด้วยการปลดชนวนไฟใต้ให้ได้
แนวโน้มของการ “รื้อใหญ่” โครงสร้างที่เป็นกลไกดับไฟใต้ ทั้งหน่วยราชการ และคณะกรรมการชุดต่าง ๆ จะเกิดขึ้นแน่นอน
1.วางตัวเลขาธิการ สมช.คนใหม่ เป็นตำรวจมือดีจากหน่วยข่าว รับไม้ต่อจาก พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เลขาธิการ สมช.ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือน ก.ย.นี้
2.ตำรวจมือดีจากหน่วยข่าว อาจมีข้อจำกัดเรื่องการเทียบขั้น หรือ “ซี” เพราะตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เป็นข้าราชการพลเรือน ระดับ 11 จึงอาจมีการหามือดีอีกคนมาดำรงตำแหน่งคั่นเวลา
แต่มือดีคนนี้ไม่ใช่ไก่กา เป็นตัวจริงที่มีประสบการณ์และผ่านงานมาโชกโชน นั่นก็คือ นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
นายนันทพงศ์ เคยอยู่ สมช. และเคยทำงานเป็นคีย์แมนใน คปต. หรือ คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็น “หน่วยงานประสานกลาง” ที่เชื่อมระหว่างหน่วยในพื้นที่กับรัฐบาล ในภารกิจดับไฟใต้ยุค คสช.
นายนันทพงศ์ อาจจะขยับมาเป็นรองเลขาธิการ สมช. คุมภารกิจดับไฟใต้ หรืออาจขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.ห้วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ตำรวจมือดีจากหน่วยข่าว จะมารับไม้ต่อเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
3.งานภาคใต้ใน สมช.ถูกกำกับและ “บังคับวิถี” โดยนายทหารระดับนายพล ชื่อย่อ “ส.” ที่เคยผ่านงานภาคใต้ และเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.รอย ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาก็มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาขึ้นมาซ้อน “คณะพูดคุยดับไฟใต้” หลังทิศทางการพูดคุยถูกทักท้วงว่ารัฐบาลไทยกำลังเสียเปรียบบีอาร์เอ็น
4.มีแนวโน้มเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. เป็นนายทหารที่เคยผ่านงานภาคใต้ และเคยอยู่ในคณะพูดคุยฯมาก่อน
ตามข่าวมีการพูดถึงชื่อ พลเอกชินวัฒน์ แม้นเดช อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และยังอ้างว่ามีสัญญาณตอบรับจาก “คนโตบ้านจันทร์ฯ” เรียบร้อยแล้ว ส่วนความจริงจะถึงขนาดตามที่อ้างเลยหรือไม่…ต้องรอติดตาม
5.มีการจับตาบัญชีแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ในส่วนของ “รองแม่ทัพภาคที่ 4” มีการส่ง พลตรี ชาคริต อุจะรัตน (ตท.28) ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 เป็นรองแม่ทัพภาค 4 เพื่อจ่อขึ้นแม่ทัพภาคที่ 4 ในปีหน้า ต่อจาก พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ป้ายแดง ที่มีเวลาแค่ 1 ปีในการหน้าที่
เรื่องนี้เริ่มมีการวิจารณ์กันหลายวง โดยเฉพาะในหมู่นายทหารทัพภาค 4 เพราะทิศทางการทำงานจะเปลี่ยนไป หากได้นายทหารจาก “รบพิเศษ” มาเป็นแม่ทัพ โดยเฉพาะในภารกิจดับไฟใต้
ในอดีตเคยมีนายทหารสายรบพิเศษมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 บ้างเหมือนกัน ในห้วง 20 ปีไฟใต้ เช่น พล.อ.องค์กร ทองประสม ขณะที่ในระดับรองแม่ทัพ ก็เคยมี พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ส่วนระดับปฏิบัติในพื้นที่ ก็มี “รบพิเศษ” เป็นหน่วยเฉพาะกิจ ปฏิบัติงานอยู่ด้วยเช่นกัน
หากปีหน้ามีการเปิดทางให้ “นายทหารรบพิเศษ” ขึ้นเป็นแม่ทัพ ย่อมแปลว่าทิศทางงานดับไฟใต้จะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแม่ทัพภาคที่ 4 จำนวน 4 คนนับย้อนขึ้นไป ในห้วงเวลาเกือบ 1 ทศวรรษ เป็นสายลูกหม้อกองทัพภาคใต้ทั้งสิ้น
ตั้งแต่ พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ หรือ “บิ๊กเดฟ”
ต่อด้วย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือ “แม่ทัพเกรียง”
สานต่อที่ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค หรือ “แม่ทัพต้น”
และล่าสุด พล.ท.ไพศาล หนูสังข์
โดยมีหัวขบวนคือ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชน์ หรือ “บิ๊กเมา” ซึ่งเป็นแม่ทัพช่วงปี 2553-2556
ฉะนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของแม่ทัพ ยุทธศาสตร์และรูปแบบการทำงานย่อมเปลี่ยนตาม
ที่สำคัญมีข่าวว่านายทหารรบพิเศษผู้นี้ จริง ๆ แล้วจะขึ้นแม่ทัพปีนี้เลยด้วยซ้ำ แต่ติดอุปสรรคบางประการ จึงรอขึ้นปีหน้า
หากมองเชื่อมโยงถึงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ที่ฝ่ายการเมืองวาง “ตัวจริงจากตำรวจหน่วยข่าว” เอาไว้รอขึ้นปีหน้า ก็พอจะเห็นร่องรอย และภาพจิ๊กซอว์ชัดเจนขึ้น
6.สำคัญที่สุด คือการเตรียมหาช่องทางประกาศให้ “บีอาร์เอ็น” เป็นองค์กรก่อการร้าย ไม่ใช่นักสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดนปาตานีตามที่ฝ่ายขบวนการกล่าวอ้าง ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างละเอียดรอบคอบ
สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงทั้่งหมดนี้จะทำได้แค่ไหน และจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไร เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์… และคงเห็นผลในระยะไม่นาน!
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 23 ก.ย.67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/talk-with-director/131949-nscarmy.html