ในยุคที่การหลอกลวงแพร่หลาย ทุกคนมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะฉลาดแค่ไหน เพราะ ‘สแกมเมอร์’ ใช้ทั้งเทคโนโลยีและจิตวิทยาอย่างแยบยล ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและจิตวิทยาได้อธิบายวิธีการของนักต้มตุ๋นเหล่านี้
คาดว่าทุกคนคงจะเคยได้ยินเรื่องราวคนถูกหลอกลวงต้มตุ๋นทางออนไลน์มาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดูดเงินในบัญชี การถูกหลอกให้โอนเงิน หรือ การล่อลวงอื่น ๆ ซึ่งเรื่องนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้กระทั่งคนที่น่าจะมีความรู้ดีก็ตาม อย่างเช่นกรณีของ โมนิกา โคเทลลิงแฮม
เรื่องเริ่มต้นจากตอนที่ โคเทลลิงแฮม ได้รับโทรศัพท์ที่มีเลขรหัสพื้นที่เดียวกับที่ๆ พ่อของเธออาศัยอยู่ ปลายสายอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรของสหรัฐฯ บอกว่าพบพัสดุที่มีพาสปอร์ตกับใบขับขี่ที่ขโมยมา ทำให้เธอรู้สึกเป็นกังวลและต่อมาก็มีคนโทรอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้เธอโอนเงินบิตคอย์นให้ 18,000 เหรียญ เพื่อแก้ปัญหานี้
แล้วโคเทลลิงแฮมก็ทำตาม ถึงแม้ว่าเธอเองจะเป็นจิตแพทย์ที่น่าจะรู้เรื่องจิตวิทยาดีก็ตาม ถึงแม้จะเต็มไปด้วยคำเตือนจากพนักงานธนาคารและตู้โอนเงินว่าให้ระวังการสแกมหรือการหลอกลวงต้มตุ๋น ถึงแม้ว่ามันจะดูน่าสงสัยก็ตามที แต่สภาพของโคเทลลิงแฮมที่ถูกทำให้รู้สึกหวาดวิตกและตกที่นั่งลำบาก ก็ยังคงทำการโอนเงินให้ฝ่ายตรงข้ามที่เป็นสแกมเมอร์
เธอบอกว่า ถึงแม้ว่าอีกส่วนหนึ่งของเธอจะรู้ว่ามันน่าจะเป็นการหลอกลวงก็ตาม แต่เธอก็ยังทำแล้วมันก็กลายเป็นเรื่องแสนเจ็บปวด
คนจำนวนมากประสบปัญหาแบบเดียวกับโคเทลลิงแฮม ในยุคสมัยที่เรียกว่า “ยุคแห่งสแกม” หรือ “ยุคแห่งการหลอกลวงต้มตุ๋น” ในปี 2566 มีชาวสหรัฐฯ ที่ถูกหลอกลวงต้มตุ๋นเป็นเงินรวมแล้วราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 14 นี่ยังไม่รวมกรณีตกสำรวจอื่นๆ คือคนอื่นๆ ที่เคยถูกหลอกแล้วไม่ได้รายงานให้ภาครัฐทราบ
แอพ RoboKiller ที่เป็นแอพคัดกรองเบอร์โทรเข้า เคยทำการสำรวจพบว่า ในเดือนหนึ่งนั้น ผู้ใช้สมาร์ทโฟนในสหรัฐฯ ต้องเจอกับข้อความสแปมโดยเฉลี่ย 42 ข้อความ และการโทรแบบสแปม โดยเฉลี่ย 28 ครั้ง
การสแกมหรือหลอกลวงต้มตุ๋นทางไซเบอร์นั้นมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การสแกมด้วยการหลอกล่อเชิงชู้สาวที่เรียกว่า romance scam การสแกมหลอกลวงให้ลงทุน, การสแกมสมัครงานปลอม ซึ่งการสแกมในยุคปัจจุบันนี้ก็มีเล่ห์เหลี่ยมซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อน ทำให้สามารถหลอกได้แม้กระทั่งคนที่มีความสงสัยและระมัดระวังในเรื่องแบบนี้ แล้วมันก็เกิดขึ้นไปทั่วในระดับที่เรียกว่าเป็น “การระบาดหนัก”
อะไรที่ทำให้สแกมแพร่ระบาดขนาดนี้?
ก่อนหน้านี้เคยมีการระบาดใหญ่ไปทั่วโลกของโรคที่เรียกว่า COVID-19 ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุของเรื่องนี้ เพราะการกักตัวจากสังคมช่วงโควิดทำให้คนเหงามากกว่าเดิม เคยมีงานวิจัยบ่งชี้ว่าคนยิ่งเหงายิ่งเสี่ยงต่อการถูกหลอกได้ง่าย บางคนอาจจะคิดว่าคนที่ถูกหลอกอาจจะเป็นคนสูงอายุที่ไม่เชี่ยวในเรื่องไอที แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลสำรวจจากสมาคมจิตเวชวิทยาอเมริกันระบุว่าคนรุ่นใหม่ Gen Z (ผู้เกิดช่วงปี 2540-2552) มีความวิตกกังวลและซึมเศร้ามากกว่าคนรุ่นก่อนๆ และมีโอกาสตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงมากถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (ผู้ที่เกิดช่วงปี 2489-2507)
อีกปัจจัยหนึ่งคือเทคโนโลยีที่ช่วยให้เหล่าสแกมเมอร์ทำงานง่ายขึ้น เช่นการอาศัย ‘บ็อต’ หรือโปรแกรมอัตโนมัติทำการโทรหาเหยื่อ แทนการให้คนกดโทรเอง ทำให้มีการโทรหาเหยื่อได้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ หรือมีการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ AI ในการส่งมีเมลหรือข้อความที่เขียนขึ้นอย่างระมัดระวังไปให้เป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีแหล่งออนไลน์ที่แฮกเกอร์เสนอขายบริการการแฮกกิ้งของตนเองได้ มีการใช้สคริปทำงานอัตโนมัติในการหลอกลวง และเครื่องมือต้มตุ๋นอื่น ๆ
ในยุคโซเชียลมีเดียแบบนี้ยิ่งทำให้สแกมเมอร์เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานได้ง่ายขึ้นแล้วใช้ข้อมูลเหล่านี้มาขู่หรือหลอกลวงเหยื่อ การที่ฐานข้อมูลส่วนบุคคลในที่ต่างๆ รั่วไหลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักต้มตุ๋นเอาข้อมูลตรงนี้ไปใช้กับเหยื่อ ถึงขั้นหลอกเหยื่อให้ตายใจได้ เช่นทำให้เชื่อว่าพวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง เป็นตำรวจบ้าง เป็นธนาคารบ้าง ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ใช่ ซึ่งแบบนี้เรียกว่า “อิมโพสเตอร์สแกม” หรือ “การหลอกลวงโดยผู้แอบอ้าง” แบบเดียวกับที่โคเทลลิงแฮมเผชิญ และมีคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่เผชิญกับอะไรเช่นนี้
สเตซี วูด ผู้เชี่ยวชาญประเด็นการต้มตุ๋นและศาสตราจารย์จากวิทยาลัยสคริปส์ แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า การที่สแกมเมอร์สามารถแอบอ้างเป็นเจ้าพนักงานรัฐแล้วหลอกคนอื่นได้ง่ายๆ เช่นนี้ ยังสะท้อนให้เห็นปัญหาหนึ่งในสังคมด้วย คือการที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในสถาบันภาครัฐ เพราะถ้าประชาชนรู้สึกสงสัยไม่ไว้วางใจรัฐบาลตัวเอง พวกเขาก็มักจะเชื่อคนอื่นที่มาต้มตุ๋นพวกเขา
เพราะคนเราก็อยากจะเชื่อในอะไรสักอย่างหนึ่ง พอรัฐบาลเชื่อถือไม่ได้ พวกเขาจึงเชื่อในสิ่งที่น่าจะแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ หรือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารักพวกเขา จะให้สิ่งดี ๆ กับพวกเขาแลกกับเงิน ซึ่งสแกมเมอร์ก็จะอาศัยช่องโหว่เหล่านี้ในการหลอกคน
เทคโนโลยีกับสแกม
ดัง ชาเดล ผู้อำนวยการเครือข่ายเฝ้าระวังการต้มตุ๋นของสมาคมผู้เกษียณอายุชาวอเมริกัน AARP ที่เคยต่อกรกับการต้มตุ๋นมาตั้งแต่ยุคคริสต์ทศวรรษ 1990s บอกว่าเทคโนโลยี “วอยซ์โอเวอร์ไอพี” หรือ VOIP ที่เป็นการสื่อสารด้วยเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้สแกมเมอร์ต่อสายถึงผู้คนนับแสนได้ในวันเดียวแบบฟรี ๆ นอกจากนี้ยังสามารถปลอมแปลงเบอร์ตัวเองให้ดูเหมือนมาจากเบอร์ของภาครัฐได้ด้วย
การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวของผู้คนจำนวนมากยังกลายเป็นเครื่องมือให้สแกมเมอร์ได้อีกด้วย เพราะสแกมเมอร์สามารถใช้ข้อมูลตัวเลขบัตรสวัสดิการ, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์, สมาชิกกลุ่ม ไปในการใช้หลอกลวงเหยื่อได้ เช่นกรณีที่สแกมเมอร์อาศัยเลขบัตรสวัสดิการของชาวอเมริกันครอบครัวหนึ่งในการขอเปลี่ยนรหัสผ่านธนาคาร 16 ครั้งกับธนาคารแห่งอเมริกา โดยที่ 15 ครั้งแรกพวกเขาล้มเหลว แต่ก็ทำสำเร็จในครั้งที่ 16 บางครั้งยังมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้กันทางแอพอย่างเทเลแกรมด้วย
สำหรับชาวไทยที่ติดตามข่าวอาจจะพอทราบกันมาบ้างถึงแหล่งสแกมในประเทศเพื่อนบ้าน รายงานของสถาบันเพื่อสันติภาพสหรัฐฯ ปี 2567 ระบุว่าเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่มีฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้การสแกมฉ้อโกงทรัพย์ผู้คนไปราว 64 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 2 ล้านล้านบาท) รายงานฉบับนี้ระบุอีกว่าในพม่ามี “แหล่งปฏิบัติการสแกม” ที่ล่อลวงคนด้วยโฆษณาจ้างงานปลอมๆ จับบุคคลเหล่านั้นกักขังหน่วงเหนี่ยวแล้วก็บังคับให้พวกเขาทำการโทรศัพท์เพื่อสแกมคนอื่น
กรณีของระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ก็กลายเป็นเครื่องมือของสแกมเมอร์เช่นเดียวกัน เช่น การใช้ AI จำลองเสียงและลักษณะของบุคคลจริงเพื่อที่จะเอาไปหลอกครอบครัวของบุคคลนี้ให้หลงเชื่อว่าเขาหรือเธอกำลังอยู่ในอันตราย เช่น กรณีของ เฟาเซียร์ วอนเดอเมียร์ ที่มีคนใช้เสียงคล้ายน้องสาวของเธอโทรเข้ามาอ้างว่าเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีเสียงผู้ชายดึงเอาเข้ามาพูดแทน แต่วอนเดอเมียร์ก็รู้สึกว่าเรื่องนี้น่าสงสัย จึงมีการตรวจเช็คจนพบว่าจริงๆ แล้วน้องสาวเธออยู่ที่บ้าน ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุแต่อย่างใด
แต่การที่สแกมเมอร์อาศัยจิตวิทยาทำให้คนเกิดความว้าวุ่นใจเป็นห่วงคนที่รักก็สร้างความรู้สึกเปราะบางทางใจให้กับผู้รับสายจนอาจจะถูกชักจูงจนตกเป็นเหยื่อได้ วอนเดอเมียร์บอกว่าตอนที่ได้ยินเสียงคนที่ตัวเองรักร้องขอความช่วยเหลือมันกระตุ้นให้ “เกิดปฏิกิริยาตลอดสนองต่อความเครียด” โดยทันที
อีกวิธีหนึ่งคือการหลอกลวงด้วยความรู้สึกทางบวกหรือการให้รางวัล เช่น หลอกเหยื่อว่าได้รับรางวัลบางอย่าง หรือหลอกว่าได้รับเงิน เคยมีงานวิจัยเมื่อปี 2021 จากองค์กร AARP ระบุว่าเหยื่อสแกมเมอร์มักจะเคยผ่านเหตุการณ์ชีวิตที่ตึงเครียดมากเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ตกเป็นเหยื่อ
มีคนบางกลุ่มเช่นกันที่ไม่พอใจกับการทำงานของรัฐบาลตัวเองซึ่งจัดการกับปัญหาสแกมเมอร์ไม่ได้เสียที จึงผันตัวกลายเป็นคนปราบสแกมเมอร์เสียเอง ในแบบที่เรียกว่า “ผู้หลอกดักสแกม” หรือ scam baiters พวกเขาจะทำการล่อให้สแกมเมอร์แฮ็กอุปกรณ์ไอทีที่พวกเขาเตรียมไว้แล้วเก็บหลักฐานส่งให้ทางการ เช่นกรณีของ จิม บราวน์นิง ผู้ที่ไม่เพียงแค่ดักจับสแกมเมอร์เท่านั้นยังทำช่องให้ความรู้ในเรื่องนี้ผ่านทางช่องยูทูบ @JimBrowning ที่มีผู้สมัครรับชม 4.43 ล้านราย
มีผู้หลอกดักสแกมอีกคนหนึ่งคือ Kitboga ที่มีผู้สมัครรับชมบัญชียูทูบอยู่ 3.6 ล้านราย ใช้วิธีการแบบเล่นงานกลับเหล่าสแกมเมอร์โดยตรง เช่น วิธีการล่อให้สแกมเมอร์เข้าถึงคอมพิวเตอร์ของเขาแล้วตัวเขาเองก็หาทางเล็ดลอดเข้าไปถึงคอมพิวเตอร์ของเหล่าสแกมเมอร์ได้แล้วก็ลบไฟล์ของสแกมเมอร์เหล่านั้น Kitboga บอกว่าที่เขาใช้วิธีนี้เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีทรัพยากรมากพอจะจัดการกับสแกมเมอร์ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากได้ทั้งหมด อีกวิธีหนึ่ง Kitboga บอกว่าต้องให้ความรู้ผู้คนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะโดนสแกม
กลลวงทางจิตใจอันแยบยล จิตวิทยาที่สแกมเมอร์ใช้หลอกคน
ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนอาจจะมองว่าพวกเขา “ไม่มีทางที่เราจะถูกสแกมแน่นอน” แต่ เมแกน แมคคอย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล มหาวิทยาลัยรัฐแคนซัส ก็บอกว่า ความคิดที่ว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นกับเรานั้น ก็เป็นอคติทางความคิดหรือ cognitive bias อย่างหนึ่งที่ทำให้เรายิ่งเสี่ยงต่อการถูกสแกม
อเล็ก เมลคูเมียน ผู้ก่อตั้งศูนย์จิตวิทยาการเงินกล่าวว่า “พวกสแกมเมอร์ใช้เทคนิควิธีการเน้นความกลัว เพื่อที่จะกระตุ้นสมองส่วนที่เก่าแก่ของพวกเราซึ่งเป็นส่วนที่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา” คือส่วนที่เกี่ยวกับการระวังอันตราย
สิ่งที่เมลคูเมียนพูดถึงคือการอ้างใช้คนในครอบครัว คนที่เรารัก มาอ้างว่ากำลังเดือดร้อนหรือเผชิญอันตราย ทำให้เราหวาดวิตกและส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกในสมองของเราก็จะเข้ามาควบคุมแทนที่ทำให้เราคิดพิจารณาสถานการณ์แบบไม่ใช้เหตุผล ซึ่งเมลคูเมียนมองว่าไม่ต่างอะไรกับพวกคนที่ข่มเหงรังแกคนอื่นหรือพวกบูลี่ที่อาศัยความกลัวในการกดดันให้คนถูกรังแกรู้สึกจนตรอก
เวลาเราอยู่ในห้วงอารมณ์อย่างความกลัวหรือหวาดวิตก มันก็ทำให้เราเสี่ยงต่อการถูกชักจูง แบบที่ แมคคอยเปรียบเทียบว่าสแกมเมอร์เหล่านี้เหมือนกับกำลัง “ทำสงครามจิตวิทยา” ให้ผู้คนรู้สึกผิด รู้สึกกลัว หรือรู้สึกเหงาน้อยลง ทำให้คนปล่อยอารมณ์นำทางการตัดสินใจของตัวเองแทนที่จะทำโดยเจตนาของพวกเขาเอง
แทคคอยให้คำแนะนำว่า การที่จะไม่หลงเชื่อสแกมเมอร์พวกนี้ คนเราต้องคอยมีสติเตือนตัวเองให้แน่ใจอยู่เสมอ เพราะในโลกนี้มีอยู่ไม่กี่เรื่องที่คนเราต้องการใช้เงินด่วนภายใน 1-2 ชั่วโมง เธอแนะนำให้ลองถามปลายสายให้ทิ้งเบอร์โทรกลับไว้ แล้วลองค้นอินเทอร์เน็ตและปรึกษาคนรอบข้างในเรื่องนั้น ๆ
นอกเหนือจากอารมณ์ทางลบอย่างเรื่องความกลัวและหวาดวิตกแล้ว สแกมเมอร์ยังใช้กลลวงอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับเหยื่อด้วยการสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีการใช้คำและวิธีการสื่อสารที่คล้ายกัน การที่สแกมเมอร์รับรู้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อยังนำมาใช้ทำให้ตัวเองดูทั้งน่าเชื่อถือและมีอำนาจมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องระวังอื่น ๆ จากอคติของพวกเราเองที่ทำให้คล้อยตามสแกมเมอร์ได้ง่าย คือ อคติการยืนยันความเชื่อเดิม ซึ่งสแกมเมอร์มักจะใช้สร้างข้อความให้เราคล้อยตามเพราะเป็นไปตามความเชื่อเดิมของเรา ต่อมาคือ อคติการมองโลกในแง่ดีเกินไปจนทำให้ประมาทว่ามีโอกาสที่จะเกิดอะไรไม่ดี และอคติเชิงเชื่อถือเพราะแค่เป็นผู้มีอำนาจ อย่างหลังนี้เอง ที่ทำให้สแกมเมอร์มักจะอ้างตัวว่าเป็นคนจากภาครัฐเพื่อหลอกต้มตุ๋นคนอื่น
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องระวังคือสแกมเมอร์บางส่วนอาจจะพยายามสร้าง “หนี้ในใจ” ให้กับเราด้วยการทำอะไรบางอย่างให้เราและโน้มน้าวให้เรายอมตามด้วยการตอบแทน เพื่อไม่ให้เรารู้สึกเป็นหนี้เขา หรือไม่ก็อาศัยความต้องการเร่งด่วนของเขามาอ้างเพื่อหลอกให้เราส่งเงินหรือทรัพย์สินให้ ซึ่งมักจะเจอในสแกมเมอร์เชิงชู้สาว
เรียบเรียงจาก
The Age of Scams, Yahoo!, 19-09-2024
The Psychological Trick Scammers Rely on and How to Protect Yourself, Time, 25-02-2024
There’s a Reason Even The Smartest People Fall For Scams, Very Well Mind, 17-09-2024
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://www.youtube.com/@JimBrowning
https://th.wikipedia.org/wiki/วอยซ์โอเวอร์ไอพี
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ประชาไท / วันที่เผยแพร่ 29 ก.ย.67
Link : https://prachatai.com/journal/2024/09/110871