เหตุรุนแรงทั้งระเบิดและเผาอาคาร บ้านพัก ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อ.แว้ง จ.นราธิวาส เริ่มชัดเจนว่า เป้าหมายที่แท้จริงของกลุ่มคนร้าย คือ “ปล้นอาวุธปืน”
แม้จะยังมีข้อสงสัยที่ต้องตรวจสอบในเชิงลึกกันต่อไป โดยเฉพาะจำนวนปืนลูกซองที่มีเก็บรักษาไว้มากถึง 10 กระบอก ถึงขั้นที่หน่วยข่าวในพื้นที่ยังตกใจ เพราะทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้ปืนล็อตใหญ่ไปทันที จากการก่อเหตุเพียงครั้งเดียว
แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ณ เวลานี้ก็คือ อาวุธปืนของทางราชการถูกปล้นบ่อยครั้ง เพียงแต่ก่อนหน้านี้เป้าหมายเป็น ชรบ. หรือชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ดังเช่นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 ก.ค.67 ปล้น 4 จุด 3 อำเภอของ จ.ยะลา ซึ่งทั้งหมดเป็นฐานปฏิบัติการของ ชรบ. ได้ปืนลูกซองของทางราชการไป 4 กระบอก ปืนพกส่วนตัวของ ชรบ.อีก 3 กระบอก
ทุกครั้งกลุ่มคนร้ายแม้จะมีการก่อเหตุอย่างอุกอาจก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำร้ายผู้ใด
แผนประทุษกรรมและลักษณะของการก่อเหตุ ทำให้หลายคนย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์ “ตระเวนปล้นปืน” ช่วงปี 2545-2546 โดยเป้าหมายมีทั้งสำนักงานอุทยานแห่งชาติ หน่วยทหารพัฒนา อพปร. และ ชรบ.
ก่อนจะเปิดปฏิบัติการใหญ่ ปล้นปืนจากค่ายทหารใน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส (ค่ายปิเหล็ง) วันที่ 4 ม.ค.2547 ที่เสมือนหนึ่งเป็น “วันเสียงปืนแตก” ได้อาวุธปืนสงครามไปทั้งหมด 413 กระบอก
ปฏิบัติการทั้งหมดนั้นเรียกขานกันภายหลัง จากปากคำของคนในขบวนการก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุมว่า “ยุทธศาสตร์ปืนของรัฐคือปืนของเรา”
ผ่านมา 22 ปี เหตุการณ์คล้าย ๆ เดิมวนมาเกิดขึ้นอีกครั้ง แม้จะไม่ถี่เท่า แต่ก็อุกอาจไม่แพ้กัน
กล่าวเฉพาะการปล้นปืนจากสำนักงานอุทยานแห่งชาติ เกิดขึ้นอย่างน้อย ๆ 3 เหตุการณ์ โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนปี 2547 จำนวน 2 เหตุการณ์ ตามที่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทวนความทรงจำระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2567 ขณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา
ส่วนอีก 1 ครั้งเกิดขึ้นหลังปล้นปืนครั้ังใหญ่จากค่ายทหารในปี 2547
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่า การปล้นอาวุธปืนแต่ละครั้ง คนร้ายได้ปืนไปจำนวนมาก โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติบางลาง ได้ไปถึง 33 กระบอกในคราวเดียว
ทีมข่าวรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ในอดีตมารายงานดังนี้
วันที่ 20 มิ.ย.2545 มีคนร้ายไม่ทราบกลุ่ม จำนวน 4 คน พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าไปในสำนักงานอุทยานแห่งชาติบางลาง เขตติดต่อระหว่าง อ.บันนังสตา และ อ.ธารโต จ.ยะลา จากนั้นได้งัดเข้าไปในคลังเก็บอาวุธของอุทยาน แล้วปล้นอาวุธปืนลูกซองยาว 16 กระบอก และปืนเอช.เค. 33 จำนวน 17 กระบอก รวม 33 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนจะหลบหนีไปอย่างลอยนวล
วันที่ 12 ก.ค.2545 คนร้ายไม่ทราบจำนวนเข้าไปงัดตู้เหล็กในคลังเก็บอาวุธชั่วคราวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป หมู่ 3 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ขนอาวุธปืนลูกซอง 5 นัดของทางราชการ จำนวน 8 กระบอก พร้อมกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง หลบหนีไปทางแนวสันเขาปูโย
วันที่ 20 ต.ค.2549 คนร้ายจำนวนกว่า 10 คน พร้อมอาวุธปืนสงครามครบมือ สวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้า บุกขึ้นบ้านพักของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบูโด -สุไหงปาดี ที่ น้ำตกปาโจ บริเวณถนนพิพุธปาโจ ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส พร้อมใช้อาวุธจี้บังคับเจ้าหน้าที่ให้บอกที่ซ่อนอาวุธสงคราม ได้อาวุธปืนลูกซองไป 1 กระบอก และกระสุน 5 นัด
ทั้ง 3 เหตุการณ์นับเฉพาะที่เกิดกับหน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เท่านั้น ไม่รวมหน่วยงานอื่น
เป็นไปได้หรือไม่ที่อาวุธปืนของฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงเริ่มขาดแคลน จึงต้องตระเวนปล้นกันอีกรอบ
แต่ที่แน่ ๆ คือ สัญญาณความสงบและสันติสุขยังไม่ปรากฏที่ดินแดนปลายด้ามขวาน
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 23 ก.ย.67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/131948-nationalparksouth.html