ศธ.เตือนภัยนักเรียน หลังพบการหลอกลวงทางออนไลน์ แอบอ้างเป็นครูแนะแนวเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวและทำธุรกรรมทางการเงิน
วันที่ 14 กันยายน 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งเหตุการณ์นักเรียนถูกหลอกลวงทางออนไลน์ เหตุเกิดในคืนวันที่ 11 กันยายน 2567 เวลาประมาณ 23.41 น. ผู้หลอกลวงได้สร้างบัญชีปลอมและใช้รูปโปรไฟล์ของครูแนะแนว ทำการติดต่อกับนักเรียนทางแอปพลิเคชันไลน์ Open Chat กลุ่มแนะแนวศึกษาต่อของนักเรียน ม.6 โดยแจ้งว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการยืนยันสถานะบัญชีของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และขอให้นักเรียนส่งข้อมูลส่วนตัว อาทิ ชื่อ-นามสกุล สถานะบัญชีในแอปพลิเคชัน กยศ. และข้อมูลทางการเงินอื่น ๆ เพื่อทำการแก้ไขปัญหา และอ้างเหตุผลว่านักเรียนมีปัญหาในการยืนยันบัญชีทางการเงิน ทำให้เด็กหลงเชื่อและให้ข้อมูลส่วนตัว เลขบัญชีธนาคาร ข้อมูลบัตรเครดิต และรหัส OTP ผ่านทางลิงค์ที่ผู้แอบอ้างส่งมา ทำให้เงินในบัญชีธนาคารของเด็กถูกโอนออกไปยังบัญชี ShopeePay (Thailand) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,600 บาท
ทั้งนี้ ครูแนะแนวของโรงเรียนได้ทำการตรวจสอบและยืนยันว่า บัญชีผู้ใช้ที่ติดต่อกับนักเรียนไม่ใช่ของครูแนะแนวตัวจริง และครูไม่เคยมีการติดต่อขอให้นักเรียนทำธุรกรรมทางการเงินแต่อย่างใด และเรียกประชุมนักเรียนที่กู้ยืมเงิน กยศ. เพื่อชี้แจงและเตือนภัยเกี่ยวกับการหลอกลวงทางการเงินออนไลน์ทันที พร้อมทั้งขอให้นักเรียนระมัดระวังในการส่งข้อมูลส่วนตัวและการทำธุรกรรมทางการเงินกับบุคคลที่ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโดยตรง
โฆษก ศธ. เปิดเผยอีกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยในโลกจริงหรือโลกออนไลน์ รวมทั้งตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับนักเรียนและครูแนะแนวจากการถูกแอบอ้างโดยมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่าง ๆ จึงขอความร่วมมือให้ผู้ปกครอง นักเรียน และครู ปฏิบัติตามหลักป้องกันภัยออนไลน์ อย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. ระมัดระวังในการส่งข้อมูลส่วนตัวหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินหลีกเลี่ยงการส่งข้อมูลผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่ไม่ได้รับการยืนยัน และควรติดต่อกับผู้รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น
2. ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนทำธุรกรรม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการติดต่อที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่หรือครู ให้สอบถามหรือปรึกษากับทางโรงเรียนโดยตรง
3. อย่าหลงเชื่อผู้ที่ติดต่อมาขอข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินโดยไม่ได้รับการยืนยันตัวตน โดยเฉพาะในกรณีที่อ้างถึงการยืนยันข้อมูลการกู้ยืมเงิน กยศ. ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบทางธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. ไม่ส่งข้อมูลบัตรเครดิต รหัส OTP หรือข้อมูลการเงินผ่านลิงค์ที่ไม่รู้จัก เพราะอาจนำไปสู่การสูญเสียเงินในบัญชีหรือการถูกหลอกลวง
“จากกรณีดังกล่าวพบว่ามิจฉาชีพปลอมบัญชีครูแนะแนว ติดต่อขอข้อมูลของนักเรียนในช่วงกลางดึก ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่เวลาที่จะมาขอข้อมูลกัน และหากเกิดปัญหาเอกสารต่าง ๆ นักเรียนควรไปพบครูแนะแนวที่โรงเรียนโดยตรงจะปลอดภัยที่สุด แต่ด้วยความไม่เท่าทันกลโกงจึงทำให้ถูกหลอกไปได้ อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการยืนยันจะปกป้องนักเรียนไม่ให้ถูกหลอกอีกไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม และจากนี้จะหารือกับกองทุน กยศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ในอนาคต เพื่อปกป้องนักเรียน ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากมิจฉาชีพ และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของการทำธุรกรรมทางการเงินในระบบการศึกษา” นายสิริพงศ์ กล่าว
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : แนวหน้า / วันที่เผยแพร่ 14 ก.ย.67
Link : https://www.naewna.com/local/829068