รัฐบาลไทยรักไทยในอดีต เมื่อ 20 ปีที่แล้ว นำโดย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นห้วงเวลาที่ไฟใต้ปะทุรุนแรงขึ้นมา จากเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬาร เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ตามด้วยเหตุรุนแรงรายวันยืดเยื้อยาวนานจนถึงปัจจุบัน
รัฐบาลเพื่อไทยในอดีตเมื่อ 11 ปีที่แล้ว นำโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผย เปิดหน้า เปิดตัว บนโต๊ะเจรจา เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ทำให้ขบวนการก่อความไม่สงบนาม “บีอาร์เอ็น” มีสถานะเป็นคู่ต่อสู้กับรัฐไทย และจนถึงวันนี้ กระบวนการพูดคุยสันติสุขก็ยังดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่บรรลุข้อตกลง ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่าฝ่ายไทยเสียเปรียบ
รัฐบาลเพื่อไทยปัจจุบัน นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ไฟใต้ที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นเปิดเกมรุกทั้งทางทหาร และทางการเมือง แบบรอบด้าน “ไฮบริด” อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
แต่ทว่าในนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ย.นี้ กลับเขียนถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงแค่ 1 บรรทัดไม่ขาดไม่เกิน
และปัญหานี้ไม่ติด 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้วย
ที่สำคัญนโยบายรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำเช่นกัน และแถลงไปเมื่อปีที่แล้ว คือปี 2566 นโยบายดับไฟใต้ก็ไม่อยู่ในลิสต์ 10 อันดับเร่งด่วนเช่นเดียวกัน
การให้ความสำคัญต่อปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน ต้องย้อนไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กันเลยทีเดียว
“ทีมข่าวอิศรา” ย้อนเปรียบเทียบนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร, นายเศรษฐา ทวีสิน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีนัยอย่างไรต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ที่ผู้รู้หลายคนประเมินว่ากำลังเดินทางมาถึงจุดเสี่ยงสำคัญที่อาจร้ายแรงถึงสูญเสียดินแดน
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ชุด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งจะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย.2567 ระบุถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการทันที 10 นโยบาย คือ
1.รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ
2. รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs
3.รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค
4.รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี
5.รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ (ดิจิทัล วอลเล็ต)
6.รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย
7.รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว
8.รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร
9.รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/ มิจฉาชีพและอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
10.รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ชุดของ นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 ระบุถึงนโยบายเร่งด่วน 4 นโยบายที่ต้องดำเนินการโดยเร็ว เพื่อเร่งแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชน คือ
1.การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
2.การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน
3.การผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
4.การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมสตรี ชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2562 มีนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง คือ
1.การแก้ไขปัญหาในการดํารงชีวิตของประชาชน
2.การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
3.มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
4.การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม
5.การยกระดับศักยภาพของแรงงาน
6.การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต
7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21
8.การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจํา
9.การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
10.การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน
11.การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย
12.การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชนและการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนญ
จากนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีทั้ง 3 ชุด ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี 3 คน จะพบว่าในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนายเศรษฐา จะมุ่งเน้นไปการเร่งช่วยเหลือประชาชนเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สิน การลดค่าใช้จ่าย และการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงนโยบายการการเติมเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการรรณงค์หาเสียง
เช่นเดียวกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ซึ่งคล้ายคลึงกับกับนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา แต่มีการต่อยอด เพิ่มนโยบายเร่งด่วนในเรื่องการสร้างรายได้ของรัฐ นำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี, ยกระดับการทำเกษตรดั้งเดิมเป็นเกษตรทันสมัย, แก้ปัญหายาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติ และการจัดสวัสดิการสังคม
ส่วนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะมีบางนโยบายเร่งด่วนที่เหมือนกับ 2 รัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังมีเรื่องเร่งด่วนที่แตกต่าง คือ การสนับสนันการศึกษา การแก้ปัญหาทุจริตในวงราชการ การยกระดับศักยภาพแรงงาน
และที่สำคัญคือ การเร่งสร้างความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุแนวนโยบายว่า “น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ มาเป็นหลักในการดำเนินการ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้านการศึกษา เศรษฐกิจและสังคม พร้อมดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จัดสวัสดิการที่เหมาสมแก่เจ้าหน้าที่รัฐ และแก้ปัญหาภายในประเทศด้วยกฎหมายไทยและสากล”
ถือเป็นนโยบายดับไฟใต้ที่รัดกุมและตั้งการ์ดสูงให้ปัญหาความไม่สงบ ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน เป็นปัญหาภายในของไทย และน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานมาใช้ นั่นก็คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 10 ก.ย. 2567
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/scoop/131602-pmpolicy.html