ในสายตาของนักวิชาการระดับ “กูรู” อย่าง อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ที่ส่งสัญญาณเตือน 10 ประเด็นความมั่นคงเฉพาะหน้า ท้าทายรัฐบาลแพทองธาร
ปรากฏว่าใน 10 เรื่องนั้น มี “ไฟใต้” หรือ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมอยู่ด้วย
สะท้อนว่าสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ดีขึ้นเลย ในสายตาของผู้ติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด หนำซ้ำยังล่อแหลมยิ่งกว่าเก่า
วิเคราะห์ต่อยอดจากอาจารย์สุรชาติ จะพบความน่ากังวลโดยบังเอิญ ก็คือ ไฟใต้ 3 ยุคที่สุ่มเสี่ยง อ่อนไหว และเปราะบางที่สุดนั้น ล้วนเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มีผู้นำนามสกุล “ชินวัตร” ทั้งสิ้น กล่าวคือ
นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลไทยรักไทย
– 4 ม.ค. 2547 ปล้นปืนครั้งใหญ่ ปฐมบทไฟใต้รอบใหม่ และยืดเยื้อมาเข้าปีที่ 21
– ก.ค.2548 ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้ต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลเพื่อไทย
– ปี 2555 จ่ายเยียวยาเหยื่อไฟใต้สูงสุด 7.5 ล้าน (กรือเซะ / ตากใบ ฯลฯ) เป็นมิติใหม่หวังสร้างความเข้าใจ นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ
– 28 ก.พ.2556 เปิดโต๊ะพูดคุยสันติภาพ (บนโต๊ะ-ทางการ) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ปัญหาใต้ กับกลุ่มบีอาร์เอ็น
– ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทำให้บีอาร์เอ็นมีตัวตนในเวทีนานาชาติ และยกสถานะกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐ “โนเนม” ให้มีสถานะเทียบเท่ารัฐไทยหรือไม่
นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร รัฐบาลเพื่อไทย
– ไฟใต้ผลัดใบ
– ความรุนแรงยังคงอยู่
– เปิดแนวรุกทางการเมือง
– ขยายฐานแนวร่วมกับองค์กรในโครงสร้างการเมืองไทย
– พูดคุยสันติสุขต่อเนื่องทุกรัฐบาล ยิ่งคุยยิ่งเสียเปรียบ ยิ่งเสี่ยงพ่ายแพ้
อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข อธิบายสถานการณ์ไฟใต้ที่รอการแก้ไขจากรัฐบาลแพทองธาร ว่ากำลังล่อแหลมอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับรัฐ ชื่อว่า “บีอาร์เอ็น” กำลังเปิดแนวรุก 2 ด้านปิดล้อมรัฐไทย นั่นก็คือ
รุกทางทหาร => ดำรงความรุนแรงผ่าน 2 ทศวรรษ ปีนี้ปีที่ 21 ยังเกิดคาร์บอมบ์แล้ว 2 ครั้ง แถมมีพลวัต ปรับรูปแบบ ไม่ใช่รถโจรกรรม แต่มีขบวนการใช้รถหลุดจำนำราคาถูกมาก่อเหตุ ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่สกัดจับได้
รุกทางการเมือง => พูดคุยสันติสุขบนโต๊ะเจรจา => กดดันให้รัฐไทยยอมรับเอกสาร JCPP (แผนปฏิบัติการสร้างสันติสุขแบบองค์รวม) => รุกผ่านกระบวนการรัฐสภา
การรุกทางการเมืองโดยผ่านองค์กรในโครงสร้างทางการเมืองของรัฐไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง กรรมาธิการ หรือรัฐสภา โดยฝ่ายที่มีความเห็นโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน กลายเป็นวิธีการที่แยบยลของบีอาร์เอ็น ไม่ต้องปล้นปืนแต่ก็สามารถรุกฆาตรัฐไทยได้
อาจารย์สุรชาติมองว่ารัฐไทยกำลังเสี่ยงติดกับดัก โดยเฉพาะการเสนอร่างกฎหมายบังคับทิศทางของกระบวนการสันติภาพ ซึ่งผลักดันโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญในระบบรัฐสภาของไทยเอง
“ร่างกฎหมายสันติภาพใต้ อิงอยู่กับกระบวนการทางรัฐสภา เป็นตัวอย่างของการต่อสู้ทางการเมืองที่น่าสนใจ รัฐไทยไม่เคยเผชิญ…ฉะนั้นรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างใคร่ครวญว่าจะรับมืออย่างไร” อาจารย์สุรชาติ กระตุกเตือน
ทีมข่าวอิศราตรวจสอบข้อเสนอในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กมธ.สันติภาพใต้ ที่มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน
และมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่กันมาด้วย ยกร่างโดย นายนัจมุดดีน อูมา อดีต สส.นราธิวาส 4 สมัย และคณะ
สาระสำคัญของร่างกฎหมายกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับว่าน่าสนใจและน่าจับตาอย่างยิ่ง เช่น
– ให้มีคณะกรรมการสันติภาพระดับชาติถาวร คือ สมช.
– ให้สภาที่ปรึกษา ศอ.บต.เป็นคณะกรรมการระดับพื้นที่
– มีอำนาจตั้ง “คณะพูดคุย” โดยองค์ประกอบของคณะพูดคุย เสนอจากทั้งสองฝ่าย
– เขียนยกเว้นการเอาผิด และมีมาตรการคุ้มกัน (immunity) การกระทำที่ ทั้งในแง่พื้นที่และกฎหมายไทย ไม่ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 1 “ราชอาณาจักรไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” ไม่ผิดยุยงปลุกปั่น ไม่ผิด 157 เพื่อให้กระบวนการสันติภาพ กระบวนการพูดคุย และกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ ทำได้อย่างเสรี และเปิดกว้าง
– กำหนดให้มี “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับ “คณะพูดคุย” และกระบวนการสันติภาพ
– กฎหมายฉบับนี้ใช้เฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีกำหนดเวลา 15 ปี
– มีการเสนอตั้ง “กองทุนเยียวยา” เพื่อดูแลเหยื่อจากความรุนแรง
ล่าสุดหลังจากข้อเสนอเกี่ยวกับร่างกฎหมายกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีข้อสังเกตเชิงโต้แย้งจากผู้รู้หลายฝ่าย
หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ นักกฎหมายอิสระ และยังมีความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ อีกหลายคน เช่น
– การใช้คำว่า “สันติภาพ” ในกฎหมาย และกำหนดเป็นชื่อกฎหมาย ถือว่าถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะสุ่มเสี่ยงไปสอดรับกับกฎบัตรสหประชาชาติฉบับต่างๆ อาจทำให้ไทยถูกแทรกแซงจากต่างชาติได้ในปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาภายในของไทย และระดับความรุนแรงของปัญหา ยังไม่ถึงขั้นต้องใช้กระบวนการสันติภาพในความหมายของสากล
– เป็นการเขียนกฎหมายรับรองกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับรัฐหรือไม่
– กระบวนการสันติภาพต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย (ตามที่เคยตกลงกันไว้แล้ว) แต่กลับมีการเขียนกฎหมายให้กระทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยได้ (immunity)
– จำกัดการใช้กฎหมายแค่ 15 ปี แต่ก็ต่ออายุได้ เงื่อนไขการต่อคืออะไร
– ให้คณะกรรมการระดับชาติเสนอเลิกใช้กฎหมายพิเศษได้
– “พื้นที่ปลอดภัย” ไม่ควรมี และไม่ควรเขียนในกฎหมาย เพราะเท่ากับยอมรับว่า บางพื้นที่ของไทยไม่ปลอดภัย
– นายกฯโยนเป็นเรื่องสภาไม่ได้ เพราะมีการเสนอตั้ง “กองทุนเยียวยา” จึงเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน นายกฯต้องให้ความเห็นชอบ
เรื่องนี้ยังมีรายละเอียดอีกมาก ทั้งข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ ข้อสังเกตจากฝ่ายต่าง ๆ และการขับเคลื่อนทางความคิดของทั้งสองฝ่าย
ทีมข่าวอิศราจะนำมารายงานเป็นลำดับต่อไป เพราะถือเป็น “เผือกร้อนชิ้นใหญ่” ต้อนรับรัฐบาลแพทองธาร
ภาพจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 5 ก.ย.67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/talk-with-director/131459-pheuthaisouth-2.html