วันก่อนผมกำลังออกจากบ้าน เพื่อไปทำธุระที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พอขึ้นรถผมบอกคนขับว่า จะไปที่ไหน ทันใดนั้น นาฬิกาอัจฉริยะของผม ที่เชื่อมต่อกับมือถือ และมือถือที่เชื่อมต่อกับรถยนต์ของผมที่มี Apple Maps อยู่ก็ขึ้นมาแจ้งว่าอีก 25 นาที ผมจะถึงห้างนั้น
ผมค่อนข้างจะแปลกใจว่า AI รู้ได้อย่างไรว่าผมจะไปไหน กรณีนี้ไม่น่าจะเป็นการดักฟังเสียงผม แต่ก็เดาว่าเขาน่าจะจับพฤติกรรมผมได้ว่า 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เวลานี้ผมจะเดินทางไปห้างแห่งนั้น ทำให้ Apple Maps ที่ติดอยู่กับรถยนต์คาดการณ์สถานที่ที่จะไปได้
ทุกครั้งที่ผมขึ้นรถยนต์ นาฬิกาอัจฉริยะก็จะคาดการณ์ว่าผมกลับบ้าน และจะแจ้งมาว่าอีกกี่นาทีถึงบ้าน แม้ผมไม่เคยบอกเขาว่าบ้านผมอยู่ไหน แต่ด้วยข้อมูลสถานที่ต่างๆ ที่ผมไปจำนวนมากพอ ทำให้เขาคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าบ้านผมอยู่ที่ไหน
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ AI จะเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ เพราะในปัจจุบัน เราเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์มากมาย ทั้งสมาร์ทโฟน นาฬิกาอัจฉริยะ และอุปกรณ์ IoT ต่างๆ การใช้งานโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันต่างๆ ทำให้ AI สามารถเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมของเราได้อย่างลึกซึ้ง
ผมดูหนังผ่านช่องทีวีสตรีมมิ่งต่างๆ เมื่อเปิดเครื่องทีวีก็จะขึ้นเมนูรายการที่แนะนำมาให้ดู จะซื้อของออนไลน์ก็จะแนะนำสินค้าที่เราน่าจะอยากซื้อมาให้เลือก เล่นโซเชียลมีเดียก็จะแนะนำคนที่รู้จักมาให้เพิ่มเป็นเพื่อน ผมใส่นาฬิกาอัจฉริยะอยู่ตลอดเวลาแม้แต่ตอนนอน เขาก็จะบอกเราทุกเช้าว่าการนอน การออกกำลังกาย หรือแม้การเต้นของหัวใจเราเป็นอย่างไร แถมให้คำแนะนำว่าวันนี้ควรนอนกี่ชั่วโมง หรือออกกำลังกายมากน้อยเพียงใด
ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกป้อนเข้าสู่โลกออนไลน์โดยอัตโนมัติ แม้จะดูว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้เราดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น ทำให้สะดวกสบายในการช็อปปิ้งหรือดูหนังเพราะมี AI คอยแนะนำให้ หรือแม้แต่จะช่วยติดตามรถหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ แต่ก็น่าเป็นห่วงว่า ข้อมูลเหล่านี้เราคงไม่ได้รู้คนเดียว มันอยู่บนออนไลน์ที่อาจมีความเสี่ยงที่คนอื่นๆ เข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งนำมาสู่ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล
แม้เราจะไม่รู้ตัว แต่บริษัทและองค์กรต่างๆ สามารถติดตามตำแหน่งที่อยู่และพฤติกรรมของเราได้จากข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต วิธีการติดตามมีหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น :
1. ฮอตสปอตไร้สาย : มีจุดเชื่อมต่อ Wi-Fi ฟรีอยู่ทั่วไปในทุกครั้งที่อุปกรณ์ของเราค้นหาสัญญาณ Wi-Fi ก็เท่ากับเปิดเผยตำแหน่งที่อยู่ให้กับจุดเชื่อมต่อเหล่านั้น บริษัทที่ให้บริการฮอตสปอตสามารถรวบรวมข้อมูลการเชื่อมต่อได้
2. อุปกรณ์บลูทูธ : เครื่องรับสัญญาณบลูทูธที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะสามารถตรวจจับอุปกรณ์ของเราได้ ทำให้รู้ว่าเราอยู่ในบริเวณนั้น
3. เสาสัญญาณโทรศัพท์ : โทรศัพท์มือถือของเราจะสื่อสารกับเสาสัญญาณตลอดเวลา ทำให้สามารถระบุตำแหน่งของเราได้อย่างคร่าวๆ
4. แอปพลิเคชัน : แอปต่างๆ ในมือถือมักขออนุญาตเข้าถึง GPS และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เพื่อส่งข้อมูลกลับไปยังบริษัทแม่ บ่อยครั้งที่ผู้ใช้ยอมรับเงื่อนไขการใช้งานโดยไม่ได้อ่านอย่างละเอียด
5. การอัปเดตอัตโนมัติ : แอปจำนวนมากทำงานเบื้องหลังตลอดเวลาเพื่อตรวจสอบการอัปเดตและรายงานการใช้งาน ซึ่งอาจรวมถึงการส่งข้อมูลตำแหน่งและการใช้งานอื่นๆ
6. โซเชียลมีเดีย : แพลตฟอร์ม เช่น Facebook, Twitter และ LinkedIn เก็บข้อมูลการใช้งาน การแชร์ตำแหน่ง และการแท็กเพื่อน ทำให้สามารถสร้างโปรไฟล์ผู้ใช้ที่ละเอียดได้
7. การซื้อขายออนไลน์ : ทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าออนไลน์ ข้อมูลการซื้อ ที่อยู่จัดส่ง และข้อมูลติดต่อจะถูกบันทึกไว้ ซึ่งสามารถใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคได้
8. อุปกรณ์สวมใส่ : นาฬิกาอัจฉริยะและอุปกรณ์ติดตามสุขภาพอื่นๆ เก็บข้อมูลสุขภาพและกิจกรรมของเรา ซึ่งอาจถูกใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและสุขภาพ
9. การถ่ายภาพดิจิทัลและการจดจำใบหน้า : เทคโนโลยีจดจำใบหน้าสามารถระบุตัวบุคคลในภาพถ่ายได้ ซึ่งใช้ในการค้นหารูปภาพและระบบรักษาความปลอดภัย แต่ก็อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้
ข้อมูลเหล่านี้ถูกรวบรวมและวิเคราะห์โดยบริษัทใหญ่ๆ ในการสร้างโปรไฟล์ผู้ใช้เพื่อให้กับนักการตลาด นักวิจัย ขององค์กรสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค และก็มีความเสี่ยงที่จะรั่วไหลไปสู่มิจฉาชีพได้เช่นกัน หากบริษัทไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ดูแลข้อมูลให้ดีพอ
หากมองในแง่ดี ประโยชน์ของ AI ในการติดตามบุคคลมีหลายประการ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลจากหลายแหล่งเพื่อสร้างภาพรวมของบุคคลได้อย่างแม่นยำ ช่วยในการค้นหาบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อเพื่อนเก่าหรือการสืบสวนคดี เพิ่มความปลอดภัยโดยการติดตามตำแหน่งของบุคคลในกรณีฉุกเฉิน และเป็นการปรับปรุงบริการให้เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน
อย่างไรก็ตาม ความสามารถเหล่านี้ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวที่ต้องคำนึงถึง ในหลายๆ เรื่อง ดังเช่น
1. การเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ : ระบบ AI ต้องการข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้การควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทำได้ยากขึ้น เราแทบไม่รู้เลยว่าข้อมูลของเราถูกเก็บไว้ที่ไหนบ้าง
2. การใช้ข้อมูลในทางที่ผิด : ข้อมูลส่วนตัวอาจถูกนำไปใช้ในการหลอกลวงหรือขโมยตัวตน เช่น การใช้ AI เพื่อสร้างเสียงปลอมในการหลอกลวงทางโทรศัพท์
3. การเลือกปฏิบัติ : AI อาจมีอคติในการตัดสินใจ เช่น ในการคัดเลือกผู้สมัครงานหรือระบุตัวผู้ต้องสงสัย เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ฝึกฝนอาจมีอคติอยู่แล้ว
4. การละเมิดสิทธิ์ : ข้อมูลส่วนตัว เช่น ภาพถ่าย อาจถูกนำไปใช้ในการฝึกฝน AI โดยที่เจ้าของข้อมูลไม่รู้ตัวและไม่ได้อนุญาต
5. การสูญเสียความเป็นส่วนตัว : AI สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากหลายแหล่งเพื่อสร้างโปรไฟล์ที่ละเอียดของบุคคล ทำให้แทบไม่มีความเป็นส่วนตัวเหลืออยู่ในโลกดิจิทัล
ในยุคที่ AI มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน การรักษาความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องท้าทายแต่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราต้องตระหนักว่าทุกการกระทำในโลกดิจิทัลล้วนทิ้งร่องรอยไว้ และข้อมูลเหล่านี้สามารถถูกนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล
การสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของเทคโนโลยีและการปกป้องความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้ ผู้พัฒนาเทคโนโลยี ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
ในฐานะผู้ใช้ เราควรเริ่มจากการให้ความสำคัญข้อมูลส่วนตัวของเราเอง ระมัดระวังการแชร์ข้อมูล และเรียนรู้วิธีการปกป้องตนเองในโลกดิจิทัล ขณะเดียวกัน เราควรสนับสนุนนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ท้ายที่สุด การรักษาความเป็นส่วนตัวในยุค AI ไม่ใช่เพียงเรื่องของเทคโนโลยีหรือกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของจริยธรรมและความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม เราต้องสร้างวัฒนธรรมที่เคารพความเป็นส่วนตัวและใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้เราสามารถใช้ประโยชน์จาก AI และเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวและอิสรภาพของเราไป
บทความ ธนชาติ นุ่มนนท์
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 5 ก.ย.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1143350