จำนวนเครื่องรับจ่ายบิตคอยน์อัตโนมัติ (Bitcoin ATM) กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า สถานการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาชญากรรมทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ตู้ ATM ที่ทำธุรกรรมด้วยบิตคอยน์มีลักษณะคล้ายกับตู้ ATM เงินสด โดยมีการใช้รหัส PIN และมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการถอน เช่นเดียวกับตู้ ATM ทั่วไป
อย่างไรก็ดี ตู้ ATM บิตคอยน์ต่างจากตู้ ATM เงินสดตรงที่เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีชนิดนี้มีมูลค่าสูง ซึ่งทำให้ตู้ ATM บิตคอยน์กลายเป็นเป้าหมายหลักของแฮกเกอร์ ด้วยเหตุนี้ตู้ ATM เงินสดที่มักจะติดตั้งอยู่ข้างจุดจำหน่ายขนมและเครื่องดื่มชูกำลังในสถานีบริการน้ำมันนั้น อาจไม่ได้รับความสนใจจากมิจฉาชีพมากนัก ในขณะที่ตู้ ATM บิตคอยน์กลับถูกหมายตาจากมิจฉาชีพมากกว่า
ทิโมธี เบตส์ ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยทางไซเบอร์จจากวิทยาลัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าตู้ ATM เหล่านี้มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทั้งทางกายภาพและทางไซเบอร์ ซึ่งทำให้ตกเป็นเป้าหมายหลักของเหล่าแฮ็กเกอร์และมิจฉาชีพ”
ตู้ ATM บิตคอยน์มีความเสี่ยงที่จะถูกแฮ็กเกอร์ติดตั้งมัลแวร์บนเครื่องเพื่อจารกรรมรหัสส่วนตัว ขโมยเงิน หรือปลอมแปลงการทำธุรกรรม โดยเบตส์กล่าวในเรื่องนี้ว่า “สิ่งที่น่ากังวลมากเป็นพิเศษคือตู้ ATM ที่ไม่ได้รับการอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอ” นอกจากนี้ ช่องโหว่ของเครือข่ายก็เป็นจุดอ่อนเช่นกัน “หากการสื่อสารเครือข่ายของเครื่องไม่ได้รับการรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอ มิจฉาชีพก็สามารถดักจับการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างตู้ ATM และเซิร์ฟเวอร์ได้ ซึ่งนำไปสู่การโจรกรรมข้อมูลหรือการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต”
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณเตือนภัยที่มีต่อตู้ ATM บิตคอยน์ทั้งจากแฮ็กเกอร์และมิจฉาชีพ โดยคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FTC) รายงานในสัปดาห์นี้ว่า การหลอกลวงเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง 1,000% นับตั้งแต่ปี 2563
อลิซ เฟรย์ หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของบริษัทเอาต์เซต พีอาร์ (Outset PR) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและสื่อสารด้านบล็อกเชน แนะนำว่า ในการป้องกันการหลอกลวงเหล่านี้ ผู้ใช้งานควรระมัดระวังและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคำขอให้ชำระเงินผ่านตู้ ATM บิตคอยน์ เนื่องจากธุรกิจที่ถูกกฎหมายแทบจะไม่เรียกร้องการชำระเงินด้วยบิตคอยน์ผ่านเครื่องจักร
“การตรวจสอบความถูกต้องของการทำธุรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบกระเป๋าเงินของผู้รับว่ามีการเชื่อมโยงกับองค์กรที่น่าสงสัยหรือไม่นั้น เป็นสิ่งสำคัญมาก” เฟรย์กล่าว และเพิ่มเติมว่าผู้ใช้งานควรใช้ตู้ ATM ที่ได้รับอนุญาตจากผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือเพื่อลดความเสี่ยง
ทั้งนี้ เฟรย์ได้เปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า เกือบ 74% ของตู้ ATM บิตคอยน์ทั่วโลกนั้น ดำเนินการโดยผู้ให้บริการเพียง 10 รายเท่านั้น ซึ่งได้แก่ Bitcoin Depot, CoinFlip, Athena Bitcoin, RockItCoin, Bitstop, Margo, Coinhub, Localcoin, Byte Federal และ Cash2Bitcoin
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ / วันที่เผยแพร่ 9 ก.ย. 2567
Link : https://www.infoquest.co.th/2024/427884