สหรัฐฯ กังวล “ฐานทัพเรือเรียม” ของกัมพูชาอาจกำลังถูกเปลี่ยนเป็น “ฐานทัพเรือจีน” หลังพบเรือรบจีนจอดแช่นานนับปี
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ แสดงความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับฐานทัพเรือ “เรียม” (Ream) ของกัมพูชา โดยเฉพาะเมื่อมีภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นเรือรบ 2 ลำที่แลดูคล้ายรบคอร์เวต A56 ของ “กองทัพเรือจีน”
นั่นทำให้เกิดความกลัวว่า จีนกำลังขยายฐานทัพของตนนอกเหนือจากเกาะ 3 แห่งที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เพราะท่าเรือเรียมนี้จีนเป็นคนสร้างให้ โดยมีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ และบนบกยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่จีนเป็นคนสร้างเช่นกัน ซึ่งสันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับกองทัพเรือจีน
ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธความเป็นไปได้ดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญของกัมพูชาที่ห้ามไม่ให้มีกองกำลังทหารต่างชาติประจำการอย่างถาวร และระบุว่าฐานทัพเรียมเปิดให้กองทัพเรือฝ่ายพันธมิตรทุกแห่งใช้
Seun Sam นักวิเคราะห์นโยบายจากราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชา กล่าวว่า“โปรดเข้าใจว่า นี่คือฐานทัพของกัมพูชา ไม่ใช่ของจีน กัมพูชามีขนาดเล็กมาก และศักยภาพทางการทหารของเรามีจำกัด เราจึงต้องการการฝึกอบรมเพิ่มเติมจากเพื่อนนอกประเทศ โดยเฉพาะจากจีน”
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายไม่เชื่อถือในคำอธิบายดังกล่าวนัก
ประเทศจีนมีจำนวนเรือรบในกองทัพเรือมากกว่าสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันจีนมีฐานทัพทหารในต่างแดนเพียงแห่งเดียว คือที่จิบูตีในแอฟริกา ซึ่งสร้างขึ้นในปี 2016 ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ มีฐานทัพประมาณ 750 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นอยู่ในจิบูตีเช่นกัน และอีกหลายแห่งอยู่ในประเทศใกล้กับจีน เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เชื่อว่า ความไม่สมดุลกำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากความทะเยอทะยานที่จีนประกาศไว้ว่าจะเป็นมหาอำนาจทางการทหารระดับโลก นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งตามกฎหมายของจีนจะต้องสร้างขึ้นตามมาตรฐานทางการทหาร
บางคนในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในที่สุดจีนจะมีเครือข่ายฐานทัพทั่วโลก หรือท่าเรือพลเรือนที่สามารถใช้เป็นฐานทัพได้ และหนึ่งในฐานทัพแรก ๆ เหล่านี้คือฐานทัพเรือเรียม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปลายสุดด้านใต้ของกัมพูชา
ความจริงแล้ว กัมพูชาเคยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มากกว่าในช่วงก่อนปี 2017 แต่ได้ลดความช่วยเหลือลงหลังจากนั้น เมื่อพรรคฝ่ายค้านหลักของกัมพูชาถูกสั่งห้าม และผู้นำของพรรคถูกเนรเทศหรือจำคุก
รัฐบาลกัมพูชาซึ่งพึ่งพาความช่วยเหลือและการลงทุนจากจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว ได้เปลี่ยนพันธมิตรอย่างกะทันหัน โดยยกเลิกการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ ที่เคยจัดเป็นประจำ และเปลี่ยนไปใช้การซ้อมรบที่เรียกว่าโกลเดนดรากอน (Golden Dragon) ซึ่งจัดร่วมกับจีนในปัจจุบันแทน
ในปี 2020 อาคาร 2 หลังที่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ ในเมืองเรียมถูกทำลายลง และจีนได้เริ่มขยายสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ดังกล่าวอย่างกว้างขวางแทน
เมื่อปลายปี 2023 ท่าเทียบเรือแห่งใหม่ก็ถูกสร้างขึ้น ท่าเทียบเรือนี้มีความยาวเกือบ 363 เมตร ซึ่งแทบจะเหมือนกับท่าเทียบเรือที่ฐานทัพในจิบูตีทุกประการ และยาวพอที่จะรองรับเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดของจีนได้ โดยมีเรือคอร์เวต A56 จำนวน 2 ลำจอดอยู่ และจอดอยู่เกือบทั้งปีที่ผ่านมา
กัมพูชาอ้างว่า เรือเหล่านี้จอดอยู่เพื่อการฝึกและเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกซ้อมโกลเดนดรากอนในปีนี้ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า จีนกำลังสร้างเรือรบ A56 ลำใหม่2 ลำสำหรับกองทัพเรือของตนเอง และยืนกรานว่าการประจำการของจีนในเรียมนั้นไม่ถาวร จึงไม่ถือเป็นฐานทัพ
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้หยุดยั้งเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ จากการแสดงความกังวลต่อการขยายฐานทัพ ซึ่งภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า นอกจากท่าเทียบเรือใหม่แล้ว ยังมีอู่แห่งใหม่ โกดังสินค้าใหม่ และสิ่งที่ดูเหมือนสำนักงานบริหารและที่พักอาศัยพร้อมสนามบาสเกตบอล 4 สนาม
ในปี 2019 Wall Street Journal รายงานเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างกัมพูชาและจีนในการเช่าพื้นที่ 77 เฮกตาร์ของฐานทัพเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งรวมถึงการประจำการของบุคลากรทางทหารและอาวุธด้วย
รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธรายงานดังกล่าวว่าเป็นข่าวปลอม แต่ที่น่าสังเกตก็คือ จนถึงขณะนี้ มีเพียงเรือรบจีนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้จอดที่ท่าเทียบเรือแห่งใหม่นี้ เรือพิฆาตญี่ปุ่น 2 ลำที่มาเยือนเมื่อเดือน ก.พ. ได้รับคำสั่งให้จอดที่เมืองสีหนุวิลล์ที่อยู่ใกล้เคียงแทน
แต่ฐานทัพของจีนในเรียมที่ปากอ่าวไทยนั้นสร้างความกังวลให้กับเพื่อนบ้านของกัมพูชาอย่างไทยและเวียดนาม เพราะเมื่อรวมกับฐานทัพอื่น ๆ ในทะเลจีนใต้ ทำให้อาจถูกมองได้ว่า จีนกำลังพยายามที่จะปิดล้อมชายฝั่งของเวียดนาม
เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ เวียดนามโต้แย้งการอ้างสิทธิ์ของจีนในเกือบทุกเกาะในทะเลจีนใต้ และกองกำลังของเวียดนามก็เคยปะทะกับจีนมาแล้วในอดีต
ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติของไทยเองก็แสดงความกังวลเป็นการส่วนตัวต่อความคิดที่จะสร้างฐานทัพของจีนไว้ทางใต้ของท่าเรือหลักของกองทัพเรือไทยในสัตหีบ นอกจากนี้ ไทยและกัมพูชายังคงมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอื่นอยู่อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เวียดนามและไทยไม่น่าจะแสดงข้อร้องเรียนเหล่านี้ต่อสาธารณะ เพราะไทยต้องการหลีกเลี่ยงการสร้างคลื่นลูกใหญ่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญกับจีน ในขณะที่เวียดนามต้องการหลีกเลี่ยงการปลุกปั่นความรู้สึกต่อต้านเวียดนามในกัมพูชา และหลีกเลี่ยงการแสดงความไม่พอใจต่อจีน
ในขณะเดียวกัน นักยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และอินเดียกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคตของฐานทัพจีนในมหาสมุทรอินเดีย เช่น ท่าเรือฮัมบันโตตาในศรีลังกา ซึ่งบริษัทของรัฐจีนได้เช่าเป็นเวลา 99 ปีในปี 2017 หรือท่าเรือกวาดาร์ในปากีสถาน ซึ่งได้รับการพัฒนาใหม่ด้วยเงินทุนจากจีนเช่นกัน
เรียบเรียงจาก BBC
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTV / วันที่เผยแพร่ 8 ต.ค.67
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/234239