ความตึงเครียดที่คุกรุ่นมานานหลายเดือน ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเปียงยางกล่าวหารัฐบาลกรุงโซล ว่าส่งโดรนหลายลำเข้าสู่เมืองหลวงของพวกเขา หนำซ้ำยังปล่อยใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งเกาหลีเหนือระบุว่าเป็นการยั่วยุที่อาจนำไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธ หรือถึงขั้นสงคราม
หลังจากกล่าวหาเกาหลีใต้หนักขึ้นเรื่อย ๆ ในวันศุกร์ที่ 12 ต.ค. เปียงยางระบุว่าพวกเขาได้สั่งการให้ทหารบริเวณชายแดนเตรียมยิงอาวุธ ซึ่งนั่นทำให้ฝ่ายกรุงโซลสวนกลับว่า พวกเขาก็พร้อมตอบโต้ และเตือนว่า หากความปลอดภัยของพลเรือนของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง นั่นจะเป็นสัญญาณการสิ้นสุดของรัฐบาลเกาหลีเหนือ
เวลาล่วงเลยมาจนถึงเมื่อวันอังคาร เกาหลีเหนือตัดสินใจระเบิดบางส่วนของถนน 2 เส้นที่เชื่อมโยงพวกเขากับเกาหลีใต้ ตามที่ขู่เอาไว้ก่อนหน้านี้ และวันต่อมา พวกเขาก็อ้างว่ามีคนหนุ่มสาวกว่า 1.4 ล้านคน แห่สมัครหรือกลับเข้าสู่กองทัพ
เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นชี้ว่า ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีทั้งสองกำลังอยู่ในจุดสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่า เกาหลีใต้คือศัตรูหมายเลข 1 ของรัฐบาลของเขา
โดรน, ใบปลิว และระเบิด
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. กระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือกล่าวหาเกาหลีใต้ว่า ส่งโดรนหลายลงมายังกรุงเปียงยางในตอนกลางคืน ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับปล่อยใบปลิวที่มีข้อความโฆษณาชวนเชื่อและข่าวรือไร้สาระลงมาเป็นจำนวนมาก
เหตุการณ์นี้ทำให้ คิม โย-จอง น้องสาวของ คิม จอง-อึน ออกมาเตือนเกาหลีใต้ว่าจะเกิดผลที่ตามมาอันเลวร้าย หากมีโดรนบินเข้ามาอีก และบอกด้วยว่า มีหลักฐานชัดเจนว่า กองทัพอันธพาลจากฝ่ายใต้คือผู้อยู่เบื้องหลังการยั่วยุนี้ ก่อนจะเผยแพร่รูปถ่ายวัตถุที่พวกเขาระบุว่าเป็นโดรนกำลังบินบนท้องฟ้า และภาพใบปลิวต่าง ๆ
ตอนแรกเกาหลีใต้ปฏิเสธเรื่องการส่งโดรนเข้าสู่เกาหลีเหนือ แต่คณะเสนาธิการทหารร่วมระบุในภายหลังว่า พวกดเขาไม่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาลเปียงยางได้
ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสงสัยว่า โดรนดังกล่าวอาจเป็นฝีมือของกลุ่มนักเคลื่อนไหว ซึ่งเคยส่งบอลลูนขนใบปลิวเข้าสู่เกาหลีเหนือมาแล้ว แต่นาย กัค ซัง-ฮัค ผู้นำกลุ่มแนวร่วมความเคลื่อนไหวปลดปล่อยเกาหลีเหนือ ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ส่งโดรนเข้าสู่เกาหลีเหนือเลย
ต่อมาในวันจันทร์ คิม จอง-อึน ประชุมร่วมกับบรรดาผู้นำกองทัพ, รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและกลาโหม รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ซึ่งคิมมอบหมายให้พวกเขามีปฏิบัติการป้องปรามสงคราม และใช้สิทธิ์ในการป้องกันตนเอง รวมถึงกำหนดแนวทางการตอบสนองทางทหารอย่างฉับพลัน
นาย อี ซองจุน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความสัมพันธ์สาธารณะของคณะเสนาธิการร่วมของเกาหลีเหนือ เพิ่มออกมาพูดในตอนนั้นว่า เกาหลีเหนืออาจมีการยั่วยุขนาดเล็ก เช่นระเบิดถนนที่เชื่อมต่อกับทั้ง 2 ประเทศ ต่อมาในวันอังคารก็มีข่าวว่าถนนกยอนกี กับถนนทงแฮ โดนระเบิดทันที
ถนนทั้ง 2 สายถูกปิดไปนานแล้ว แต่นักวิเคราะห์มองว่า การทำลายมันเป็นการส่งสัญญาณว่า คิม จอง-อึน ไม่ต้องการเจรจากับเกาหลีใต้อีกแล้ว
หลังเกิดเหตุระเบิด กองทัพเกาหลีใต้ก็ระบุว่า พวกเขายิงอาวุธจากพรมแดนฝั่งตัวเอง เพื่อแสดงแสนยานุภาพ และเพิ่มการตรวจตราเกาหลีเหนือ ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น รัฐบาลจังหวัดกยองกี ซึ่งล้อมรอบกรุงโซลเอาไว้ ก็กำหนดให้พื้นที่ชายแดน 11 จุด เป็นเขตอันตราย เพื่อหยุดไม่ให้ประชาชนไปส่งใบปลิวข้ามพรมแดน ณ จุดนั้น
นายคิม ซง-จุง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกยองกีระบุว่า พวกเขาลงความเห็นว่าการส่งใบปลิวเข้าสู่เกาหลีเหนือในตอนนี้ เป็นการกระทำที่อันตรายมาก และอาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งทางทหาร รวมถึงทำให้ชีวิตและความปลอดภัยของพลเรือนของเราตกอยู่ในอันตราย
คนหนุ่มสาว 1.4 ล้านเข้าร่วมกองทัพ
เมื่อวันพูดที่ผ่านมา เกาหลีเหนือออกมาอ้างว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนหนุ่มสาวมากถึง 1.4 ล้านคน รวมถึงนักศึกษาและสมาชิกกลุ่มสันนิบาตเยาวชน ลงทะเบียนคำร้องขอเข้าร่วม หรือขอกลับเข้าสู่กองทัพ เพื่อสู้ต่อต้านเกาหลีใต้ โดยภาพถ่ายที่เผยแพร่โดยเคซีเอ็นเอ แสดงให้เห็นกลุ่มคนหนุ่มสาวจำนวนมากมาลงนามในคำร้องในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย
คำกล่าวอ้างของเกาหลีเหนือเป็นความจริงแค่ไหน เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ แต่พวกเขาเคยอ้างลักษณะคล้ายกันนี้มาแล้วเมื่อปีก่อน โดยสื่อท้องถิ่นรายงานในตอนนั้นว่า ประชาชน 800,000 คนสมัครใจเข้าร่วมกองทัพเกาหลีเหนือเพื่อต่อสู้กับสหรัฐฯ และในปี 2017 ก็มีรายงานว่า คนงาน สมาชิกพรรคแรงงาน และทหารเกือบ 3.5 ล้านคน สมัครใจเข้าร่วมหรือกลับเข้าร่วมกองทัพ
ตามข้อมูลจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (IISS) เกาหลีเหนือมีทหารประจำการ 1.28 ล้านนาย และทหารกองหนุนประมาณ 600,000 นาย และมีทหารกองกำลังแรงงานชาวนาพิทักษ์แดงจำนวน 5.7 ล้านคน ซึ่งหลายหน่วยไม่มีอาวุธ
เกาหลีเหนือกำลังวางแผนอะไร?
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เกาหลีเหนือกำลังใช้เหตุการณ์เรื่องโดรน จุดกระแสสนับสนุนภายในประเทศ ด้วยการทำให้มันดูเหมือนว่า ภัยคุกคามต่อประเทศกำลังเพิ่มสูงขึ้น และการใช้คำว่า “รัฐแยก” (separate states) เพื่อสื่อถึงเกาหลีใต้ และเลิกใช้คำว่า “คนชาติเดียวกัน” (compatriot) และ “การรวมชาติ” (unification) ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนนั้น
“รัฐบาลเกาหลีเหนือพึ่งพาการเมืองแบบใช้ความหวาดกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องมีศัตรูภายนอก” ศ.คัง ทง-วาน ผู้สอนวิชารัฐศาสตร์และการทูตที่มหาวิทยาลัย ทง-อา ในเมืองปูซาน กล่าว “เมื่อไรก็ตามที่ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น เกาหลีเหนือก็จะเน้นย้ำเรื่องภัยคุกคามภายนอก เพื่อเพิ่มความภักดีต่อรัฐบาล”
ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวด้วยว่า การตอบโต้กันไปมาระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นว่า พวกเขากำลังติดอยู่ใน “เกมไก่อ่อน” ที่ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในสถานการณ์เหมือนกับขับรถพุ่งเข้าหากัน แต่ไม่มีใครยอมหักหลบก่อน เพราะจะกลายเป็นไก่อ่อน
“ณ จุดนี้ไม่มีฝ่ายใดยอมประนีประนอม” ศ. คิม ทง-ยับ จากมหาวิทยาลัยศึกษาเกาหลีเหนือในกรุงโซล กล่าว และเสริมว่า เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่เชื่อใจกัน รัฐบาลกรุงโซลก็จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า จะจัดการวิกฤตินี้อย่างไร
2 เกาหลีจะมุ่งสู่สงครามหรือไม่?
จริงๆ แล้ว เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ยังอยู่ในภาวะสงครามระหว่างกัน เนื่องจากพวกเขาไม่เคยลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพใด ๆ ตอนที่สงครามเกาหลีจบลงในปี 2496
การรวมชาติกับฝ่ายใต้ เป็นนโยบายสำคัญของเกาหลีเหนือนับตั้งแต่พวกเขาก่อตั้งประเทศ แม้ความเป็นไปได้จะห่างใกล้ออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง คิม จอง-อึน ประกาศในเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า พวกเขาจะละทิ้งเรื่องการร่วมชาติกับเกาหลีใต้แล้ว และพาเกาหลีเหนือเข้าหารัสเซียมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีปัญหากับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า สถานการณ์ของเกาหลีทั้งสองจะไม่บานปลายกลายเป็นสงคราม โดย ศ.คังกล่าวว่า “ผมไม่คิดว่าสถานการร์ที่เกิดขึ้นจะลุกลามไปถึงระดับกลายเป็นสงคราม เกาหลีเหนือกำลังใช้ประโยชน์จากการเผชิญหน้าทางทหาร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้การประสานงานภายในประเทศ”
ขณะที่ ศ.คิม ระบุว่า “ผมกังขาในความสามารถของเกาหลีเหนือในการเริ่มทำสงครามเต็มรูปแบบ รัฐบาลเปียงยางรู้ดีถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะตามมาจากความขัดแย้งในระดับนั้น”
ด้าน ศ. นัม ซง-อุก จากมหาวิทยาลัยเกาหลี ในกรุงโซล เชื่อว่า ความขัดแย้งล่าสุดอย่างเรื่องโดรน สุดท้ายจะยังคงอยู่ในระดับ สงครามน้ำลาย เพราะเกาหลีเหนือและใต้ต่างรู้ว่า พวกเขาสามารถแบกรับผลจากการทำสงครามเต็มรูปแบบได้ และความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อยู่ในระดับต่ำมาก
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 17 ต.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2820426