การส่ง SMS คือช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ AI ในการหลอกลวงประชาชนให้กดลิงก์ เป็นอันดับ 1 ควบคู่กับการใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือหลอกลวง โดยส่วนใหญ่มิจฉาชีพต้องการขโมยข้อมูลมากที่สุด โดย 53% เหยื่อมักสูญเงินให้มิจฉาชีพภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมง
รัฐบาลและเอกชนต่างมีความพยายามในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ทั้งการบล็อกเบอร์ การตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ประสานกับธนาคารเพื่อระงับการโอน ทว่าการทำงานยังมีความทับซ้อนกัน ทั้งในเรื่องงบประมาณ และการประสานงาน
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีงบประมาณ 12 ล้านบาท ในการทำเรื่อง Sender name เพื่อระบุตัวตนผู้ส่งข้อความ รวมถึงประสานกับค่ายมือถือในการใส่เครื่องหมาย + นำหน้าเบอร์มิจฉาชีพ เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรับสาย ทว่าที่ผ่านมา ก็ยังพบเบอร์ผู้ส่งที่มีรายชื่อผิดปกติจำนวนหลายแสนเบอร์ เพราะการขายบริการ SMS ของค่ายมือถือ เป็นการขายยกล็อต
เรื่องนี้ทั้ง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านโทรคนาคม ที่ต้องการยกระดับการระบุตัวตนในการโทรและการส่ง SMS รวมถึงการส่งข้อความในโซเชียลมีเดีย ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก ด้วย
“ผมมีแนวคิดว่า เบอร์โทรเข้าควรมีการระบุชื่อแทนเบอร์โทรไปด้วย เพราะหลังจากที่ทุกคนได้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนให้ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์แล้ว น่าจะทำได้” กสทช.สมภพ ให้ความเห็น”
ขณะที่กระทรวงดีอีเอง ก็มีแนวคิดในการทำ ศูนย์ต้านข้อมูลฉ้อโกงแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลมิจฉาชีพระหว่างรัฐ และ เอกชน ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมต่อข้อมูล ทั้ง แบลคลิสต์ และ ไวท์ลิสต์ กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานตำรวจ และธนาคารด้วย จากนั้นจะนำ AI เข้ามาวิเคราะห์เพื่อวางแผนจัดการกับมิจฉาชีพที่ฉลาดขึ้นทุกวัน
ทว่า กระทรวงดีอี ต้องใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท ล่าสุดได้ทำเรื่องของบกับกสทช.แต่ยังไม่ผ่าน เนื่องจากกรรมการกสทช.เห็นว่า อาจเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกัน เพราะกสทช.ก็มีโครงการ Sender name อยู่ ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่า
ด้านเอกชนที่กำลังบุกตลาดในประเทศไทยอย่างหนัก อย่าง Whoscall ก็พยายามทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐคือ กสทช.เพื่อให้ประชาชนติดตั้งแอปพลิเคชันบล็อกเบอร์มิจฉาชีพ ทว่าในมุมของกระทรวงดีอี กลับมองว่า Whoscall เป็นแอปพลิเคชันของต่างชาติ มีการเก็บข้อมูลประชาชนอยู่ต่างประเทศหรือไม่ และ ที่สำคัญคือ ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหา เรื่อง การอัพเดทข้อมูลเบอร์โทรได้ เพราะเมื่อใดที่มิจฉาชีพถูกบล็อกเบอร์ เบอร์นั้นจะติดเป็นแบลคลิสต์ ไม่สามารถนำเบอร์มาหมุนเวียนใช้ในตลาดได้ หากมีประชาชนทั่วไปนำไปใช้ ก็อาจจะถูกขึ้นเป็นแบลคลิสต์
“ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ Whoscall สามารถตรวจพบสายโทรเข้าจากมิจฉาชีพได้เกือบถึง 19 ล้านครั้ง” นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) เปิดเผยสถิติมิจฉาชีพ
เขายังได้เปิดสถิติรายงานสถานการณ์การหลองลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทย (State of Scams in Thailand) ประจำปี 2567 ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยกว่า 9,360 คนจากหลากหลายกลุ่มประชากรตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่า
● กว่า 1 ใน 4 หรือ 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
● 58% รับมือกับมิจฉาชีพบ่อยขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 โดย 89% ต้องรับมือกับมิจฉาชีพ อย่างน้อยเดือนละครั้ง
● กว่า 1 ใน 3 หรือ 39% สูญเสียเงินให้มิจฉาชีพภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ และมีเพียง 2% ที่ได้ทรัพย์สินคืนทั้งหมดหลังจากถูกหลอก
● มูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอกเฉลี่ยอยู่ที่ 1,106 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาทต่อคน
● การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและการหลอกลวงที่ใช้เทคโนโลยี AI เป็นรูปแบบกลโกงที่ถูกพบมากที่สุด
สำหรับแอปพลิเคชัน Whoscall ทั้งเวอร์ชั่นฟรีและพรีเมียมนอกเหนือจากฟีเจอร์ Caller ID และ Smart SMS Assistant ที่เป็นด่านหน้าในการป้องกันสายโทรเข้า และข้อความหลอกลวงแล้ว ปัจจุบัน Whoscall ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ เช่น ID Security (เช็กข้อมูลรั่วไหม) เพื่อช่วยตรวจสอบความปลอดภัย ของข้อมูลส่วนบุคคลเช็ก Auto Web Checker เพื่อปกป้องผู้ใช้จากการคลิก ลิงก์ฟิชชิ่ง รวมไปถึง Scam Alert ศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพ
ต้องยอมรับว่า ไม่ว่ากี่ปี ปัญหาการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ก็ยังคงวนอยู่แต่เรื่องเดิม ๆ เพราะทุกครั้งที่ ไม่ว่า รัฐ หรือ เอกชน ออกมาตรการป้องกัน มิจฉาชีพมักก้าวไปก่อน 1 ก้าวเสมอ หากประเทศไทยมีการประสานงานและมีการคาดการณ์ล่วงหน้า ทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ก็อาจจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : Post Today / วันที่เผยแพร่ 11 ต.ค.67
Link : https://www.posttoday.com/business/714427