จากสถานการณ์ล่าสุดที่อิหร่านโจมตีตอบโต้ อิสราเอล ด้วยขีปนาวุธกว่า 180 ลูก เพื่อล้างแค้นให้กับผู้นำฮิซบอลเลาะห์ที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของ อิสราเอล ในเบรุตนั้น ทำให้ความตึงเครียดเพิ่มทวีและเกิดความกังวลว่าความขัดแย้งจะขยายวงกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เตือนว่า สงครามในเลบานอนมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไป กลายเป็นอีกหนึ่งแนวรบเหมือนกับสงครามในยูเครนและสงครามในกาซา ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ดร.สุรชาติ กล่าวว่า อิสราเอล มีความต้องการสร้างดินแดนกันชน หรือ Buffer Zone ในเขตชายแดนภาคเหนือหรือตอนใต้ของเลบานอน เพื่อให้ชาวยิวกลับไปอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหากอิสราเอลบุกเข้าไปยึดพื้นที่ดังกล่าวได้ ก็จะคล้ายกับเหตุการณ์ในทศวรรษ 1980 ที่นำไปสู่ความขัดแย้งกับฮิซบอลเลาะห์จนถึงทุกวันนี้ และอาจทำให้อิสราเอลเข้าไปติดกับสงครามทางบกในเลบานอน ซึ่งอิสราเอลเคยเผชิญมาแล้ว และพบว่าอิสราเอลไม่ได้ชนะสงครามในเลบานอน
“เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ สร้างความอิหลักอิเหลื่อให้กับทั้งอิสราเอล, สหรัฐอเมริกา, เลบานอน รวมถึงอิหร่านด้วย
“สำหรับฝ่ายค้านในอิสราเอลนั้น เกิดคำถามว่าหากส่งทหารราบบุกเข้าไปในเลบานอนเหมือนเมื่อทศวรรษ 1980 จะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือไม่ เพราะยุคนั้นฮิซบอลเลาะห์ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อขับไล่อิสราเอล แล้วก็ทำได้สำเร็จ จนสร้างชื่อเสียงให้กับกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ และผลที่ได้อาจไม่ใช่ชัยชนะ แต่อาจกลายเป็นติดกับดักสงครามทางบกที่มีค่าใช้จ่ายมาก” ดร.สุรชาติกล่าว
อาจารย์มองว่า เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ต้องการทำสงครามด้วยเหตุผลทางการเมือง เพื่อให้สงครามช่วยในการดำรงอยู่ในทางการเมือง และตอบสนองพรรคการเมืองปีกขวาเป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะมีประชาชนออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลมุ่งให้ความช่วยเหลือตัวประกันเป็นหลักก็ตาม ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ ขณะที่สงครามในเลบานอนจะไม่ช่วยเรื่องตัวประกันชาวยิวในกาซา
สำหรับสหรัฐฯ นั้น ดร.สุรชาติ มองว่า เวลานี้มีกระแสกดดันให้สหรัฐฯ ต้องตัดสินใจว่าจะยกระดับการสนับสนุนอิสราเอลหรือไม่ ขณะที่ฐานเสียงเดโมแครตบางส่วนที่เป็นเชื้อสายอาหรับเรียกร้องให้ยุติสงคราม ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งประเด็นตะวันออกกลางก็เป็นส่วนหนึ่งในการหาเสียงของผู้สมัครด้วย ถ้าสุดท้ายแล้วสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอิสราเอลมากขึ้น ก็อาจส่งผลต่อการช่วยเหลือยูเครนในสงครามกับรัสเซีย และอาจเผชิญกับแรงต้านในบ้าน ทั้งฝ่ายต่อต้านสงครามและชุมชนเชื้อสายอาหรับ
ส่วนเลบานอน แม้ประชาชนบางส่วนจะไม่ชอบฮิซบอลเลาะห์ โดยมองเป็นภัยคุกคามความมั่นคง แต่ฮิซบอลเลาะห์ก็เป็นพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งในเลบานอน มีสมาชิกในสภา และในอดีตก็มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับอิสราเอล แต่หากฮิซบอลเลาะห์เลือกเดินหน้าโจมตีอิสราเอล ก็เสี่ยงที่จะทำให้อิสราเอลตอบโต้กลับด้วยการทำลายระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดในเลบานอน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ระบบสื่อสารของฮิซบอลเลาะห์ถูกตัดขาด และกลุ่มผู้นำถูกปลิดชีพจนเกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจ แต่การโจมตีเลบานอนจะทำให้คนในประเทศหันมาสนับสนุนฮิซบอลเลาะห์มากขึ้น เพื่อต่อต้านการทำสงครามของอิสราเอล
ส่วนอิหร่านก็เป็นตัวแปรสำคัญของความขัดแย้งนี้ ที่ผ่านมาอิหร่านพยายามจำกัดการโจมตีแบบจำกัดเท่าที่ทำได้ แต่อาจารย์มองว่าอิสราเอลต้องการดึงอิหร่านเข้าสู่สงครามเต็มตัว เพื่อที่จะดึงสหรัฐฯ ให้เข้ามาร่วมด้วย เพราะอิหร่านในอีกด้านไม่มีความพร้อมในการทำสงครามใหญ่กับอิสราเอล และมีปัญหาภายในต่อเนื่อง
ดังนั้นจึงเกิดสถานการณ์ที่สร้างความอิหลักอิเหลื่อให้กับทุกฝ่าย และทำให้สถานการณ์สงครามถูกยกระดับมากขึ้น และเป็นความเสี่ยงชุดใหญ่ของโลกก่อนสิ้นปี 2024 และปัญหาจะกลายเป็นโจทย์สงครามต่อเนื่องในปี 2025 ที่จะต้องดูต่อถึงผู้นำใหม่ของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้
“แต่ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงสถานการณ์โลกที่ยังคงมีความเปราะบาง และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในไตรมาสสุดท้าย และในต้นปี 2025 ด้วย” ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้าย
ภาพ: Ammar Awad / Reuters
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : The Standard / วันที่เผยแพร่ 2 ต.ค.67
Link : https://thestandard.co/middle-east-crisis-thai-experts-warn/