CGTN : จีนเดินบนเส้นทางของตัวเองนับตั้งแต่สถาปนาประเทศเมื่อปี 1949 และประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง แต่ชาติตะวันตกยังขาดความเข้าใจกับเอกลักษณ์ของจีน และใช้มุมมองของอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบตะวันตก โดยไม่เคารพสิทธิของจีนในการเลือกรูปแบบการปกครองของตนเอง
บรรดานักวิชาการและนักการเมืองตะวันตกมักจะวิพากษ์วิจารณ์ระบบที่ไม่ใช่แนวทางของตะวันตกว่าด้อยกว่าหรือไร้ความชอบธรรม โดยหลายครั้งก็ไม่ได้เข้าใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และบริบททางสังคม
ชาติตะวันตกมักใช้แนวคิดว่า สังคมตะวันออกด้อยกว่าและไร้อารยธรรม แนวคิดเช่นนี้สร้างความชอบธรรมให้การล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก และยังฝังแน่นให้วิธีคิดของชาวตะวันตกมาจนถึงทุกวันนี้ ชาติตะวันตกมักยืนกรานถึงความเหนือกว่าของประชาธิปไตยเสรี โดยอ้างว่าเสรีภาพของปัจเจกชนเป็นมาตรวัดที่สูงที่สุดของความสำเร็จของระบบการเมือง แต่ว่ามุมมองเช่นนี้ได้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า วัฒนธรรมที่แตกต่างกันย่อมให้ลำดับความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน
ประเทศจีนใช้ระบบ “ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตลอด” ซึ่งมีรากฐานจากวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และบริบททางสังคมที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน โดยมุ่งเน้นสังคมสมานฉันท์ และความกินดีอยู่ดีโดยรวม ซึ่งเป็นคุณค่าที่บ่มเพาะมาจากปรัชญาจีน ตะวันตกเน้นความเป็นปัจเจก แต่จีนเน้นประโยชน์สาธารณะ
ตะวันตกวิจารณ์ระบบของจีนด้วยความโอหัง ยึดถือประชาธิปไตยเป็นสากล แต่ว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็เป็นผลผลิตของสังคมและประวัติศาสตร์ที่เฉพาะตัวเช่นกัน จึงไม่สามารถนำไปใช้อย่างง่ายๆ กับดินแดนอื่นที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ประชาธิปไตยเสรีแบบตะวันตกจึงไม่ใช่หนทางเดียวที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และยิ่งไม่ใช่รูปแบบการปกครองแบบเดียวที่มีความชอบธรรม
การขาดความเคารพในระบบการเมืองของจีน ได้ก่อปัญหาเมื่อชาติตะวันตกมีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตก สังคมตะวันตกมักจะมองว่าการแสดงออกของบุคคลอย่างที่ตรงไปตรงมาเป็นเรื่องที่ดี แต่มองข้ามว่าในวัฒนธรรมตะวันออกนั้นให้ความสำคัญกับความสุภาพ การเคารพกัน และความสมานฉันท์ของสังคม ในประเทศจีนจะหลีกเลี่ยงการโต้แย้งแบบสาธารณะ และให้ความสำคัญกับกลุ่ม ขณะที่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกให้ค่ากับการรณรงค์ทางการเมืองและปัจเจก เมื่อตะวันตกไม่สามารถยอมรับถึงความแตกต่างนี้ก็จะบิดเบือนมุมมองต่อระบบการปกครองของจีน
“ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตลอด” ของจีนให้ความสำคัญเสถียรภาพในระยะยาว สังคมสมานฉันท์ และความก้าวหน้าของส่วนรวม ขณะที่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกให้ความสำคัญกับสิทธิของบุคคล และวงจรการเมืองระยะสั้น
ระบบของจีนมุ่งสร้างการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยั่งยืน ความแตกต่างนี้ไม่ได้ทำให้ระบบใดเหนือกว่าระบบอื่น และจำเป็นที่ต้องเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน
คนที่วิจารณ์ระบบของจีนมักจะละเลยความจริงที่ว่า ประชาชนจีนพึงพอใจต่อรัฐบาล ที่ช่วยให้ประเทศมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ชาติตะวันตกวิจารณ์เรื่องไม่มีการเลือกตั้งที่มีหลายพรรคการเมือง แต่ประชาชนจีนกลับชื่นชมรัฐบาลที่สามารถปรับปรุงชีวิตของพวกเขา จีนให้ความสำคัญกับ “การปกครองโดยธรรม” และการวางแผนระยะยาว ที่เป็นหลักในการสร้างความสำเร็จของจีนมาตลอด 75 ปี
ระบบการเลือกตั้งแบบตะวันตกเน้นการเผชิญหน้าและแบ่งแยก ไม่เหมาะกับสังคมจีน โดยวัฒนธรรมจีนให้ความสำคัญกับความปรองดองในสังคม และการหาเสียงทางการเมืองที่ยาวนานจะเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ
ในตะวันตก การเลือกตั้งมักจะเป็นการโจมตีกันและกัน แต่การปกครองแบบจีนเน้นที่การสร้างฉันทมติ และการตัดสินใจร่วมกัน
แนวทางเช่นนี้สอดคล้องกับปรัชญาขงจื่อที่เน้นความสมานฉันท์ และประโยชน์ร่วมกัน
นักการเมืองฝั่งตะวันตกมักจะใช้ประเด็นขัดแย้งเพื่อชนะการเลือกตั้ง แต่ในวัฒนธรรมจีน การทำเช่นนั้นจะถูกมองว่าหาประโยชน์ใส่ตัว และเป็นอันตรายต่อหมู่คณะ ระบบของจีนให้ความสำคัญกับเสถียรภาพและความอยู่ดีมีสุขของสังคมส่วนรวม
ความแตกต่างในวัฒนธรรมทางเมืองเช่นนี้คือเหตุผลที่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนจีนส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ระบบการเมืองของจีนก็ใช่ว่าจะไร้การท้าทาย แต่จีนได้ปฏิรูปและปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้สอดคล้องกับความจำเป็นอยู่ตลอด เหมือนกับระบบประชาธิปไตยตะวันตกที่มีพัฒนาการอยู่ตลอด จีนได้เผชิญกับความเปลี่ยนครั้งใหญ่ในช่วงหลายทศวรรษ และระบบการปกครองก็สะท้อนสถานการณ์เฉพาะตามการพัฒนา
ชาติตะวันตกต้องเคารพสิทธิของจีนที่จะเลือกเส้นทางของตัวเอง มากกว่าที่จะยัดเยียดค่านิยมและระบบของตนให้ประเทศอื่น ชาติตะวันตกควรจะเข้าใจและมีปฏิสัมพันธ์กับจีนอย่างที่จีนเป็น ไม่ใช่นั้นก็เสี่ยงที่จะพลาดโอกาสในการมีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับหนึ่งในประเทศที่มีความสำคัญมากที่สุดในโลก
“ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตลอด” ของจีน มีความชอบธรรม และเป็นรูปแบบการปกครองที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีน ชาติตะวันตกควรจะก้าวข้ามทัศนคติแบบอาณานิคม และเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิของจีนในการปกครองประเทศตามค่านิยมของตนเอง
อ่านเพิ่มที่ : China’s whole-process people’s democracy deserves respect
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 11 ต.ค.67
Link : https://mgronline.com/china/detail/9670000090931