// การติดตามจับกุมผู้ต้องหา-จำเลย //
รายชื่อจำเลย (สำนวน 1) ประชาชนฟ้องเอง ศาลนราธิวาสรับฟ้อง
จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาค 4 สส.เพื่อไทย
จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีต ผบ.พล.ร.5
จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีต ผบ.ศปก.ตร.
จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีต ผบช.ภ.9
จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีต ผกก.สภ.อ.ตากใบ
จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี รอง ผอ.กอ.สสส. อดีตรองปลัด มท.
จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าฯนราธิวาส
รายชื่อผู้ต้องหา (สำนวน 2) อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง วิสามัญฆาตกรรม
ผู้ต้องหาที่ 1 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร – อดีต ผบ.พล.ร.5
ผู้ต้องหาที่ 2 ร้อยตรี ณัฐวุฒิ เลื่อมใส – พลขับ
ผู้ต้องหาที่ 3 นายวิษณุ เลิศสงคราม – พลขับ
ผู้ต้องหาที่ 4 เรือโท วิสนุกรณ์ ชัยสาร – พลขับ
ผู้ต้องหาที่ 5 นายปิติ ญาณแก้ว – พลขับ
ผู้ต้องหาที่ 6 พันจ่าตรี รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ – พลขับ
ผู้ต้องหาที่ 7 พันโท ประเสริฐ มัทมิฬ – ผู้ควบคุมขบวนรถ
ผู้ต้องหาที่ 8 ร้อยโท ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ – พลขับ
// ข้อสังเกต //
1.คดีตากใบสำนวนแรก จำเลยที่ศาลประทับฟ้อง ล้วนเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
– ทุกคนมีศักยภาพ โอกาสได้ตัวไปฟ้องต่อศาล เป็นไปได้ยากมาก
– ยกตัวอย่างเทียบเคียงคดี นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม หนีหมายจับคดีที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และอัยการยื่นฟ้อง กรณีออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารวอเตอร์ฟรอนท์ เชิงเขาพระตำหนัก โดยมิชอบ สมัยดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา โดยไปพำนักอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อคดีขาดอายุความ ก็เดินทางกลับมา คดีก็จบไป เอาผิดอะไรไม่ได้
คดีตากใบสำนวนแรก หลายฝ่ายที่ติดตามอย่างเกาะติด จึงทำใจล่วงหน้าว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้ตัวจำเลยมาฟ้องภายในอายุความ
2.จำเลยที่ยังมีความเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีที่ทำงานเป็นหลักแหล่งที่สุด คือ พล.อ.พิศาล เพราะเป็น สส.ของเพื่อไทย ต้องเข้าประชุมสภา
– แต่ปรากฏว่า พล.อ.พิศาล ก็ทำเรื่องลาประชุม และหายหน้าไป แม้แต่พรรคเพื่อไทยต้นสังกัดก็อ้างว่าไม่รู้อยู่ที่ไหน
3.คดีตากใบ สำนวน 2 ผู้ต้องหา 7 คนจาก 8 คน เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย หลายคนไม่ได้รับราชการแล้วในปัจจุบัน
– ฝ่ายที่ติดตามคดีนี้จึงมีความหวังว่าน่าจะได้ตัวบางคนมายื่นฟ้องต่อศาลบ้าง
– แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการติดตามตัวผู้ต้องหาทั้งหมด
4.ศาลปัตตานีออกหมายจับผู้ต้องหาคดีตากใบสำนวน 2 แค่ 5 คน ส่วนอีก 3 คนออกเป็น “หมายเรียก”
– ให้เหตุผลว่ายังเป็นข้าราชการอยู่
– กระบวนการติดตามตัวน่าจะทำได้ไม่ยาก หากแจ้งหน่วยต้นสังกัด แต่เหตุใดจึงยังไม่มีความคืบหน้า
// การทำงานของตำรวจ และสภา //
1.คดีตากใบสำนวนแรก (ประชาชนฟ้องเอง)
– คดีสลายการชุมนุม และการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต กระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนมีความเห็น “ไม่สมควรสั่งฟ้อง” ทำให้คดีจบ กระทั่งญาติผู้สูญเสียต้องยื่นฟ้องเอง
– ศาลนราธิวาสประทับรับฟ้องตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.67 และออกหมายจับจำเลย 6 คนจาก 7 ทันที
– จำเลยที่ศาลไม่ได้ออกหมายจับ คือ พล.อ.พิศาล เพราะเป็น สส. และอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภา ศาลจึงทำหนังสือแจ้งให้สภาส่งตัว
– แต่สภากลับมองว่าเป็น “เอกสิทธิ์ สส.” (ห้ามจับกุม คุมขังสมาชิกในระหว่างสมัยประชุม) และสภาต้องประชุมเพื่อลงมติว่าจะอนุญาตส่งตัวหรือไม่ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคท้าย วางบรรทัดฐานใหม่แล้วว่า หากมีหมายจับ และศาลต้องดำเนินคดีอาญากับ สส. หรือ สว. ให้สามารถดำเนินการได้แม้อยู่ระหว่างสมัยประชุม
– เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เขียนไว้ชัด “สส.หรือ สว.ที่กระทำความผิด อาจได้รับโทษจำคุกในระหว่างสมัยประชุมได้…โดยไม่อาจอาศัยความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ตนไม่ถูกดำเนินคดีได้ต่อไป” เหตุใดผู้เกี่ยวข้องในสภา จึงไม่ทราบบรรทัดฐานใหม่นี้ หรือแกล้งไม่ทราบ
– ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ศาลนราธิวาสมีคำสั่งออกหมายจับ พล.อ.พิศาล เพราะไม่ไปศาล ไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และไม่ไปประชุมสภา จึงมีเจตนาหลบหนี
– หมายจับของศาลออกหลังประทับรับฟ้อง 1 เดือน 8 วัน โดยในช่วงที่ผ่านมาไม่ปรากฏความจริงจังของฝ่ายสภา และเจ้าพนักงานตำรวจ ในการติดตามตัวจำเลยที่ 1
2.คดีตากใบสำนวน 2 (คดีวิสามัญฆาตกรรม)
– เหตุเกิดปี 2547
– ยื่นคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และโอนคดีไปศาลจังหวัดสงขลา ในปี 2548
– ศาลจังหวัดสงขลาไต่สวนเสร็จสิ้น ส่งสำนวนคืนพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก ปี 2548
– อัยการสูงสุดเพิ่งได้รับสำนวนคดีจากตำรวจ 25 เม.ย.2567
– ตำรวจใช้เวลาทำคดี 19 ปี จึงมีความเห็น “ไม่สมควรสั่งฟ้อง”
– อัยการสูงสุดใช้เวลาไม่ถึง 4 เดือน กลับมีความเห็น “สั่งฟ้อง” (18 ก.ย.2567)
– นับจากวันที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง และแถลงข่าวใหญ่โตต่อสาธารณะ ผ่านไปถึง 13 วัน ตำรวจ สภ.หนองจิก จึงขออนุมัติศาลจังหวัดปัตตานีออกหมายจับผู้ต้องหา
คดีตากใบขาดอายุความ “641 ล้าน” เรียกคืนจากใคร?
โศกนาฏกรรมตากใบ มีการจ่ายเงินเยียวยากรณีพิเศษให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย และได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ จำนวนทั้งหมด 987 ราย เป็นเงิน 641 ล้านบาท ในรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
การจ่ายเยียวยากรณีพิเศษได้ ต้องมีเงื่อนไขประการหนึ่งคือ “คดีถึงที่สุดแล้ว”
แต่ผ่านมา 19 ปี เกือบ ๆ จะ 20 ปี ยังมีคดีตากใบที่ยังไม่จบ คือ คดีวิสามัญฆาตกรรม และคดีที่ศาลนราธิวาสประทับรับฟ้อง ตามที่ครอบครัวผู้สูญเสียยื่นฟ้องเอง
เมื่อคดียังไม่จบ แปลว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ “อาจมีคนผิด” ซึ่งคนผิดก็จะต้องถูกไล่เบี้ย รับผิดชอบค่าเสียหาย ซึ่งหมายถึง “เงินเยียวยา” แทนรัฐ
ฉะนั้นหากคดีนี้ขาดอายุความ โดยหาใครไปขึ้นศาลไม่ได้เลย ก็แปลว่า งบประมาณเยียวยา 641 ล้านบาท รัฐต้องรับผิดชอบทั้งหมด ไม่สามารถไล่เบี้ยใครได้ เพราะคดีขาดอายุความ
ผลเสียหายจึงตามมามากมาย ไม่ใช่แค่ไม่สามารถชี้ถูกชี้ผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ได้เท่านั้น แต่รัฐยังต้องใช้ภาษีอากรของคนไทยทั้งประเทศจ่ายเยียวยาให้ผู้สูญเสีย
แม้การเยียวยาจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสำคัญ แต่การที่รัฐต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยที่อาจไล่เบี้ยเอากับคนกระทำผิดได้ แต่สุดท้ายกลับทำอะไรไม่ได้ เพราะคดีขาดอายุความ ถือเป็นการเสียโอกาสอย่างยิ่งของประเทศไทย…ใช่หรือไม่
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 4 ต.ค.67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/stat-history/132293-lawsuitexpired.html