ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง สะบัดปากกาอีกครั้ง ในห้วงใกล้ครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ตากใบเต็มที
สาเหตุที่ต้องมีข้อเขียนแนวประเมินสถานการณ์ เพราะวาระครบรอบเหตุการณ์ตากใบปีนี้แตกต่างจากปีอื่นๆ เนื่องจากเป็นปีที่คดีตากใบจะขาดอายุความด้วย
และไม่ใช่ขาดแบบ “หายเงียบ” เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เป็นการขาดอายุความโดยที่ศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้องคดี และอัยการสูงสุดก็มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลปัตตานี รวมเป็น 2 สำนวนคดีแทบจะพร้อมกัน
เหตุนี้เองจึงทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้นำตัวผู้ที่ถูกฟ้องทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย
แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าผู้ถูกฟ้อง 14 คนทั้ง 2 สำนวน ไม่มีใครไปปรากฏตัวที่ศาล หรือยอมเข้าสู่กระบวนการเลย
จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หนำซ้ำยังกระทบพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาลเข้าอย่างจัง เนื่องจาก “จำเลยที่ 1” คนสำคัญที่สุด เป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค
แม้สุดท้ายเจ้าตัวจะลาออกจากพรรคไปแล้ว แต่กระแสเรียกร้องให้พรรคแสดงความรับผิดชอบก็ยังไม่จบลง
อาจารย์สุรชาติ จึงตัดสินใจวิเคราะห์พร้อมตั้งคำถามถึงปัญหาชายแดนใต้ว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป โดยมองข้ามช็อตไปในโจทย์ที่ว่าคดีตากใบขาดอายุความ
การคาดการณ์ในทางรัฐศาสตร์และความมั่นคง สรุปได้ 15 ประเด็น ดังนี้
แนวโน้มสถานการณ์คดีตากใบ
ยิ่งใกล้การหมดกำหนดเวลาของคดีตากใบ กระแสตากใบดูจะยิ่งร้อนแรงอย่างเห็นได้ชัด ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาอย่างมากว่า หากคดีหมดอายุความจากการที่จำเลยไม่ปรากฏตัวในศาลแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นทั้งในทางการเมืองและความมั่นคง
เราอาจจะคาดการณ์ไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยพอคาดเดาถึงแนวโน้มของสถานการณ์ได้ดังนี้
1.สถานการณ์ในทางการเมืองในเบื้องต้นน่าจะถึง “จุดสำคัญ” ในวันที่ 24 ตุลาคม นี้ เนื่องจากมีการเรียกให้รองนายกความมั่นคงและรัฐมนตรีกลาโหม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และแม่ทัพภาค 4 เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา เพราะเป็นการชี้แจงในวันสุดท้ายก่อนการสิ้นสุดคดี ซึ่งจะมีนัยทางการเมืองอย่างมากกับรัฐบาลและกองทัพโดยตรง
2.ปัญหาคดีตากใบสะท้อนถึงการรุกทางการเมือง ที่ทำให้ประเด็นปัญหาภาคใต้ถูกกดดันให้เข้าสู่เวทีรัฐสภาโดยปริยาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีการเรียกร้องจากกลุ่มก่อความไม่สงบให้ยกระดับปัญหาภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ไม่เกิดขึ้นจริง แต่ในครั้งนี้ ประเด็นถูกผลักดันให้เข้าสู่เวทีรัฐสภาได้จริงแล้ว ดังนั้น จึงน่าสนใจว่า แล้วนับจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นในบริบทของการรุกทางการเมืองที่จะตามมาหลังปัญหาคดีตากใบ
3.หลายฝ่ายคาดคะเนว่า โอกาสที่จำเลยทั้งหมดจะปรากฏตัวในศาล น่าจะไม่เกิดขึ้น และประเด็นนี้อาจจะถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างของการก่อเหตุความรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบ เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการใช้ความรุนแรง ซึ่งการก่อความรุนแรงนี้ จึงเป็นไปได้มากที่อาจจะเกิดในค่ำคืนของวันที่ศาลประกาศเรื่องคดี (ทั้ง 25 และ 28 ตุลาคมนี้)
4.ถ้าประเมินและมีแนวโน้มว่า การก่อเหตุความรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก เพราะการก่อเหตุจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อปัญหาคดีตากใบแล้ว กองทัพภาคที่ 4 อาจจะต้องเร่งออก “แผนเผชิญเหตุ” และกำหนดมาตรการในการระวังป้องกันสถานที่สำคัญในพื้นที่ รวมทั้งมาตรการในการป้องกันการโจมตีด้วยกำลัง การวางระเบิด และการใช้รถระเบิด อีกทั้งการป้องกัน “เป้าหมายที่มีความอ่อนแอ” (ในความหมายของ “soft targets” ในพื้นที่) เช่น การป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป ที่ไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง
5.ในทางปฏิบัตินั้น มาตรการในการระวังป้องกันดังกล่าวอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ดังที่ทราบกันดีว่า ฝ่ายรัฐไม่สามารถตรึงกำลังในพื้นที่ได้ทั้งหมดและในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีจุดที่สามารถใช้ก่อเหตุได้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีเสรีภาพในการเคลื่อนที่อยู่พอสมควร ด้วยความคุ้นชินกับพื้นที่ของท้องถิ่น แต่ต้องถือเป็นหลักการสำคัญว่า กองทัพภาคที่ 4 อันมีนัยหมายถึง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในสนาม จะต้องหาทาง “ลดทอน-จำกัด” ความรุนแรงที่จะเกิดให้ได้มากที่สุด
6.การก่อเหตุในอีกส่วนที่เห็นได้มาโดยตลอด คือ การมุ่งประสงค์ต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นภาพแทนความสำเร็จของปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ดังนั้น การสร้างมาตรการ “ป้องกันกำลังพล” (Force Protection) เช่นที่กองทัพตะวันตกได้จัดทำขึ้น เป็นหัวข้อสำคัญที่ผู้บังคับบัญชาควรให้ความสนใจ
7.น่าสนใจว่าต่อปัญหาตากใบนั้น กลุ่มก่อความไม่สงบจะจัดกำลังชุดใหญ่เข้าโจมตีหน่วยทหารในพื้นที่ เช่นที่เกิดในกรณีกรือเซะ (เมษายน2547) หรือไม่ หรือจะใช้ “ยุทธวิธีดาวกระจาย” ด้วยการส่งกำลังชุดเล็กออกปฏิบัติพร้อมกันหลายจุดในพื้นที่ เช่นที่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้งและสร้างภาพได้มาก
8.แม้การก่อเหตุจะเป็นเรื่องของการใช้กำลังทางทหาร แต่ผลที่เกิดขึ้นเป็นมิติทางการเมือง เพียงแค่เกิดภาพการโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบโดยประกาศถึงการผูกโยงกับปัญหาคดีตากใบ ก็ต้องถือว่า พวกเขาก็ประสบความสำเร็จของการโฆษณาทางการเมืองแล้ว หรือโดยนัย ภาพการปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ถูกใช้เผยแพร่บนสื่อต่างๆ เป็น “สงครามการเมือง” ในตัวเอง ซึ่งฝ่ายรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงต้องตระหนักในมิตินี้ โดยเฉพาะสภาวะของการที่ภาพเหล่านี้เป็นสงครามการเมืองในโลกออนไลน์ (ดังเห็นได้จากตัวแบบของกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง)
9.ถ้าคดีถูกยุติลงโดยไม่มีผู้ต้องหาปรากฏตัวในศาลแล้ว ก็อาจคาดได้ไม่ยากว่าน่าจะมีการจัดการชุมนุมประท้วงตามมาอย่างแน่นอน และน่าจะมีการชักชวนให้คนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากด้วย โดยเฉพาะการใช้เครือข่ายของคนรุ่นใหม่และบรรดาแนวร่วมต่างๆ ซึ่งภาพของการประท้วงในคดีตากใบครั้งนี้จะถูกขยายผล และถูกใช้เพื่อสร้างผลทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
10.กองทัพภาคที่ 4 จะต้องออกข้อกำหนดให้ชัดเจนที่จะไม่สลายการชุมนุมในครั้งนี้ เพราะการทำเช่นนั้น จะทำให้เกิดการปะทะ และนำมาซึ่งความสูญเสียของผู้ชุมนุม ซึ่งจะเป็นการ “เข้าทาง” ที่จะทำให้เกิด “ตากใบ 2” และจะกลายเป็นภาพลบทั้งของรัฐบาลและกองทัพไทย ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการโฆษณาทางการเมือง หากเกิดสภาวะตากใบ 2 แล้วสถานการณ์ภาคใต้อาจจะเป็น “จุดพลิก” อย่างมีนัยสำคัญต่อรัฐไทย
11.เจ้าหน้าที่จะต้อง “อดทน” ให้มากในการเผชิญกับการชุมนุม เพราะบทเรียนจากตากใบเป็นคำตอบในตัวเอง ที่จะต้องไม่ทำให้เกิดสภาวะของการปะทะ และความสูญเสีย
12.ยังต้องยืนยันเป็นหลักการเสมอว่า รัฐบาลจะต้องกล้าแสดง “การนำ” ด้วยการชี้แจงถึงปัญหาตากใบในปี 2547 และปัญหาสืบเนื่องในปีปัจจุบัน เพราะปัญหานี้มีทั้งบริบทความมั่นคงในพื้นที่ และบริบทการเมืองที่กรุงเทพฯ การไม่แถลงด้วยการ “ซื้อเวลา” จะยิ่งทำให้รัฐบาลตกเป็น “จำเลย” ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
13.นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอาจจะต้องตระหนักว่า ปัญหาตากใบในปี 2567 อาจก่อตัวเป็น “วิกฤติการเมือง” ได้ไม่ยาก ปัญหานี้จึงเสมือนนายกฯ และทีมงานกำลัง “ทำข้อสอบยาก” ที่สุดชุดหนึ่งในวิชา “การบริหารภาครัฐ”
14.ปัญหาคดีตากใบในปีที่ 20 เวียนมา จนทำให้เกิดภาพในอีกมุมหนึ่งว่าเป็นปัญหาจาก “ชินวัตรผู้พ่อ สู่ชินวัตรผู้ลูก” ปัญหานี้ในปี 2547 เป็นความท้าทายของรัฐบาลทักษิณเช่นไร ปัญหานี้ในปี 2567 ก็เป็นความท้าทายของรัฐบาลแพทองธารไม่ต่างกัน และอาจจะท้าทายมากขึ้นด้วย
15.คำถามสุดท้ายที่ไม่ชัดเจนคือ พรรคร่วมรัฐบาลคิดอย่างไรกับปัญหานี้หรือพรรคร่วมคิดเพียงว่า กรณีตากใบเป็น “ปัญหาของพรรคเพื่อไทย” เท่านั้น และพร้อมที่จะปล่อยให้พรรค พท. เผชิญกับการปลุกกระแสตากใบอย่างโดดเดี่ยว เพราะเห็นได้ชัดว่า พรรคและบุคคลากรที่มีตำแหน่งในรัฐบาล กำลังเผชิญปัญหานี้ด้วยความโดดเดี่ยวเป็นอย่างยิ่ง !
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 24 ต.ค.67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/132816-takbaiagain.html