ในที่สุด iPhone 16 ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ถึงแม้จะมีกระแสต่อต้าน Apple จากคนไทยเมื่อช่วงเดือนที่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เกินแก้ของ Apple เพราะการใส่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) เข้าไปทั้งใน Siri เวอร์ชั่นใหม่ ที่ฉลาดกว่าเดิม
Siri เวอร์ชั่นใหม่ช่วยเราตอบข้อความหรืออีเมล รวมทั้งสรุปย่อยอะไรที่ยาว ๆ ไปถึงขนาดแนะนำระดับความสุภาพของการตอบ รวมทั้งฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่ทำให้คนไม่น้อยลืมความขุ่นเคืองไปหมด
นี่คือการใช้ประโยชน์จากวิทยาการความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งแท้จริงแล้ว คำว่า “เทคโนโลยี” ไม่ได้หมายถึงความล้ำสมัยเท่านั้น แต่คือเทคโนโลยี คือสิ่งที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ด้วยสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องออกหาอาหาร แล้วเกิดความสนใจใฝ่รู้ ที่นำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ยังชีพ ก่อนพัฒนามาใช้เพื่อความสะดวกสบาย ขยายอำนาจทางการปกครอง และแย่งชิงผลประโยชน์กัน
เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 17 “เทคโนโลยี” (ซึ่งมีนิยามว่า การจัดทำอย่างเป็นระบบ) ถูกนำมาใช้เพิ่มผลิตภาพอย่างจริงจังจนโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ผสมผสานกระบวนการและปรับปรุงเครื่องจักรจนพัฒนาแบบก้าวกระโดด
เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจและวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น การให้บริการภาครัฐ การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ
แต่ช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความมหัศจรรย์ทางเทคโนโลยีนานาชนิดยิ่งทวีคูณมหาศาล เมื่อนวัตกรรมคอมพิวเตอร์และการสื่อสารสามารถผลิตเป็นสินค้าและบริการที่เข้าถึงได้ง่าย
เกิดปรากฏการณ์ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (Internet of Things) แทรกซึมทุกอณูของการดำเนินชีวิตและการทำงาน และเร่งให้ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI พัฒนาล้ำหน้าไปอย่างรวดเร็ว ช่วยมนุษย์คัดกรองและตอบสนองความต้องการแต่ละประเภทได้แม่นยำได้ทุกที่ทุกเวลา
ที่สำคัญยังปลดล็อกปัญหาหรือทลายข้อจำกัดสารพัดของมนุษย์ งานต่าง ๆ ตั้งแต่การสั่งและส่งอาหาร การบันทึกข้อมูลเข้าระบบ ไปจนถึงการแต่งและเรียบเรียงข้อความ การแปล การวินิจฉัยโรค การผ่าตัดโดยหุ่นยนต์ และการวิเคราะห์และสรุปผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) AI ก็สามารถรับจบอย่างรวดเร็วได้ด้วย
World Economic Forum ประมาณการว่า AI จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมโลกให้สูงขึ้นกว่า 522 ล้านล้านบาท ในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านล้านบาท
AI จะแทนที่ตำแหน่งงาน 85 ล้านตำแหน่ง และจะสร้างงานใหม่ขึ้นอีก 97 ล้านตำแหน่ง ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ทำให้เราเข้าสู่ “ยุคปฏิวัติปัญญาประดิษฐ์” ที่ AI กำลังรุกคืบมาทำงานแทนคนและเครื่องจักรแบบเดิมอย่างแทบไม่ทันตั้งตัว (หรือ บางจุดก็ตั้งตัวไม่ทันไปแล้ว)
ผลกระทบกับตำแหน่งงานจำนวนมหาศาลชวนให้คิดว่า ถ้าเราไม่เริ่มที่จะขยับรับมือกับ AI โดยด่วนแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศและคนไทย
ขอยกกรณีที่เกิดขึ้นจริงแล้วในสนามบินที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง หรือกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีการนำรถขนส่งสัมภาระ AI ไร้คนขับและไม่ต้องพึ่งพนักงานยกของมาทำหน้าที่ลำเลียงกระเป๋า ระหว่างเครื่องบินกับอาคารผู้โดยสาร
จากกรณีดังกล่าว เป็นไปได้ว่าในอนาคต สนามบินกว่า 30 แห่งของไทยเองก็จะนำระบบนี้มาใช้เช่นกัน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการบินให้ทัดเทียมกับสนามบินอื่น ๆ และแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
หากวันนั้นมาถึง นั่นแปลว่าพนักงานขับรถและขนของในสนามบินไทยราว 3,000 คน จะต้องว่างงานหรือดิ้นรนหางานใหม่ บางคนอาจโชคดีที่มีโอกาสและความสามารถมากพอจะผันตนเอง ไปปฏิบัติงานบังคับหรือซ่อมบำรุงรถยนต์หรือเครื่องยนต์ AI เหล่านี้ เพื่อดำรงเส้นทางของสายอาชีพเดิมได้
แต่สำหรับกลุ่มที่ ‘ไปไม่เป็น เข็นไม่ขึ้น’ จะโอนย้ายไปไหนก็มืดแปดด้านหากไม่ได้รับการบ่มเพาะทักษะให้ทันเวลา การขาดรายได้และปัญหาอื่น ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่กระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ ทั้งหนี้ครัวเรือน อาชญากรรม ยาเสพติด จะถาโถมเข้าหาทันที
ยังไม่รวมถึงสิ่งที่เราอาจไม่ได้คิดว่าจะเป็นปัญหาแต่แรก อย่างตอนที่ไทยได้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ 15 ประเทศ
เรามุ่งต่อรองเพื่อปกป้องสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่ไทยทำอยู่เป็นหลัก โดยแลกกับอุตสาหกรรมที่ไทยคิดว่าคงไม่ได้ใช้เร็ว ๆ นี้ อย่างการยอมกำหนดอัตราภาษีนำเข้าที่ 0% เป็นระยะเวลา 15 ปีสำหรับรถขนส่งสัมภาระ AIในท่าอากาศยาน ที่ในอนาคตก็ต้องใช้งานมันอย่างที่กล่าวถึงไปแล้ว
นี่เป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียว หากประมวลภาพรวมของทุกอุตสาหกรรมและวงงานอื่น ๆ ทั้งประเทศ ที่อีกไม่นานก็ต้องแทนกำลังคนด้วยหุ่นยนต์หรือ AI เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพกับรายได้เราจะเห็นคนตกงานเพิ่มอีกเท่าใด
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือนกรกฎาคม 2567 ระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปและเป็นกำลังแรงงานในปัจจุบันมีประมาณ 40.4 ล้านคน มีคนว่างงานราว 4 แสนคน (1%) จากประชากรทั้งหมดประมาณ 66 ล้านคน
ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง McKinsey ประเมินไว้ว่า AI จะสามารถเข้าทำงานที่มีลักษณะต่อเนื่องเป็นกิจวัตรได้ถึง 45% ของตำแหน่งงานในลักษณะนี้ทั้งหมด
จากตัวเลขทั้งหมด เมื่อคำนวณคร่าว ๆ ก็พออนุมานได้ว่า คนไทย 18.4 ล้านคนอาจไม่มีงานทำในอนาคตอันใกล้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้หรือฝึกฝนทักษะใหม่ที่จำเป็น
ไม่ว่าจะเป็นการรู้เท่าทันเทคโนโลยี การรู้เท่าทันภัยดิจิทัล การเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูล หรือการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อรับมือกับงานที่มีรูปแบบต่างจากเดิม
ไม่เพียงเป็นโจทย์สำหรับวัยทำงานเท่านั้น ในฐานะที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้นด้วยจำนวนประชากรอายุเกิน 60 ปีถึง 13 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดกลุ่มผู้สูงอายุก็ตกเป็นเป้าโจมตีของ AI เช่นกัน
เพราะผู้สูงอายุที่ยังจำเป็นต้องทำงานเพื่อหารายได้มาใช้หนี้สินหรือเลี้ยงดูครอบครัว เนื่องจากมีเงินเก็บไม่พอหรือต้องเป็นที่พึ่งพิงให้แก่บุตรหลานเพราะความไม่แน่นอนในอาชีพ ที่อาจเกิดจาก AI เจ้าปัญหานี้ด้วย
แม้ว่าบทความวิชาการเรื่อง “การปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ในวารสารสถาบันพระปกเกล้า โดยศิริมา ทองสว่าง และคณะ ระบุว่า รัฐไทยได้เตรียมแผนรองรับปัญหาผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา
จนถึงแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 3 (2566-2580) ที่สนับสนุนให้บูรณาการการทำงานด้านผู้สูงอายุตั้งแต่ระดับชาติถึงท้องถิ่น โดยกระจายอำนาจการตัดสินใจให้ชุมชนร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ และเพิ่มศักยภาพการบริหารงานด้านผู้สูงอายุให้แก่องค์กร ชุมชน ท้องถิ่น และผู้นำชุมชน
รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2566-2570) ยังชี้ให้เห็นว่า การพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานและภาระทางการคลังในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุจะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐจึงต้องอาศัยการส่งเสริมสุขภาพรูปแบบใหม่ที่เอื้อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
แต่คำถามเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น คือ จะมีหน่วยงานใดที่มีทรัพยากรและสมรรถนะพร้อมเพียงพอต่อการรับหน้าที่เป็นแกนหลัก จัดทำกระบวนการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะ ให้แก่คนต่างกลุ่ม ต่างวัย ต่างพื้นฐานการศึกษาหรือประสบการณ์ และต่างความพร้อม ไม่ว่าจะระดับประเทศหรือท้องถิ่น
เพื่อให้แต่ละกลุ่มสามารถรับมือกับ AI ได้เหมาะสมและทันการณ์ ซึ่งยังคงเป็นเรื่องค้างคาแต่ต้องตัดสินใจให้ได้ในเร็ววัน เพราะธุรกิจหรือองค์กรอาจปลดคนได้ แต่ประเทศจะกำจัดพลเมืองของตนออกไป เพียงเพราะไม่มีงานให้ทำนั้นไม่ได้ แต่คงจะขอทิ้งท้ายด้วยศัพท์ยุคนี้ว่า เราจะพร้อมกี่โมง
คอลัมน์ มองเมืองต่างมุม
อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล
สถาบันพระปกเกล้า
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 10 ต.ค.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1148520