จากเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นเหตุทำให้นักเรียน และครูเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ด้านความปลอดภัยของนักเรียนและครู
สช. ออกหนังสือซักซ้อม แจ้ง 6 แนวทางการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้แจ้งซักซ้อมแนวทางการพานักเรียนไปทัศนศึกษา ขอให้โรงเรียนพิจารณางดการพานักเรียนไปทัศนศึกษา ยกเว้นมีเหตุจำเป็น ขอให้โรงเรียนดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา
พ.ศ. 2562 ประกาศ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2562 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ประกาศ ณ วันที่ 28 เมษายน 2563 อย่างเคร่งครัด และพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ตรวจสอบสภาพรถหรือยานพาหนะและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพดี และพร้อมที่จะใช้การได้อย่างปลอดภัย พนักงานขับรถหรือควบคุมยานพาหนะด้วยความระมัดระวัง โดยประสานกรมการขนส่งทางบกให้ตรวจสภาพรถ ยางรถ อุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนออกเดินทาง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น
2. การพานักเรียนระดับต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไปนอกสถานศึกษา และการทัศนศึกษาควรมีผู้ปกครองร่วมเดินทางไปด้วย
3. กำหนดระยะเวลาและระยะทางในการเดินทางให้มีความเหมาะสม โดยพิจารณาสถานที่ใกล้โรงเรียนหรือภายในจังหวัด เป็นลำดับแรก
4. จัดทำประกันภัยการเดินทางให้แก่นักเรียน ครู และผู้เกี่ยวข้อง
5. จัดให้มีการซ้อมแผนเผชิญเหตุให้กับครูและนักเรียน
6. ให้โรงเรียนรายงานการพิจารณาอนุญาตต่อผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ตามแบบที่กำหนดในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฯ ก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
ทั้งนี้ ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดพิจารณาอนุญาตการพาไปนอกสถานศึกษา หากเห็นว่าอาจมีภัยอันตรายไม่ปลอดภัยให้ระงับ ยับยั้ง ได้ตามที่เห็นสมควร
สพฐ. กำหนด 16 แนวทางปฏิบัติพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดแนวทางปฏิบัติในการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษาของโรงเรียนในสังกัด ดังนี้
1. การพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา ให้พิจารณาถึงความพร้อมและความสามารถในการดูแลตนเองขั้นพื้นฐานของนักเรียน และพิจารณาเลือกสถานที่ดำเนินกิจกรรม/ ทัศนศึกษา/ แหล่งเรียนรู้ โดยคำนึงถึงระยะเวลาการเดินทาง สาระความรู้และการเรียนรู้ที่จะเกิดแก่นักเรียน ให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน แบ่งเป็น
1.1 ระดับปฐมวัย ต้องให้มีผู้ปกครองอาสาร่วมคณะไปด้วย และห้ามพานักเรียนออกนอกสถานศึกษา คละกับนักเรียนช่วงชั้นอื่น ให้เลือกสถานที่จัดประสบการณ์เรียนรู้ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษา ที่ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
1.2 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 ควรมีผู้ปกครองอาสาร่วมคณะไปด้วย และให้เลือกสถานที่ดำเนินกิจกรรม/ ทัศนศึกษา /แหล่งเรียนรู้ ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษา
1.3 ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ให้เลือกสถานที่ดำเนินกิจกรรม/ ทัศนศึกษา/ แหล่งเรียนรู้ ในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ
2. ตรวจสอบสภาพรถยนต์โดยสารก่อนเดินทาง ให้มีความปลอดภัยครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และให้ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองความปลอดภัย โดยจะต้องดำเนินการ ดังนี้
2.1 เอกสารใบรับรองการตรวจสอบสภาพรถจากกรมขนส่งทางบก ไม่เกิน 30 วัน
2.2 ห้ามใช้รถยนต์ที่ติดตั้งระบบจ่ายพลังงานเชื้อเพลิงด้วยแก๊ส
2.3 รถยนต์โดยสารต้องมีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่น มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ประตูฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ครบถ้วน และมีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
3. ต้องจัดทำแผนเผชิญเหตุ กรณีมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น และให้ผู้ประกอบการขนส่งรับผิดชอบดำเนินการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุให้แก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนออกเดินทาง
4. สถานศึกษาต้องจัดทำสัญญาเช่ารถกับผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งจากกรมขนส่งทางบก และใช้รถที่จดทะเบียนเป็นรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งต้องมีการทำประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ แบบสัญญาเช่ารถยนต์ต้องกำหนดเงื่อนไข เกี่ยวกับสภาพรถและพนักงานขับรถ พร้อมระบุความรับผิดชอบเกี่ยวกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้ชัดเจน
5. สถานศึกษาต้องจัดทำประกันอุบัติเหตุในการพานักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาไปนอกสถานศึกษา เว้นแต่กรมธรรม์ประกันภัยที่สถานศึกษาจัดทำไว้ ได้ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุในการเดินทางอยู่แล้ว
6. ตรวจสอบบันทึกการเดินรถ โดยพนักงานขับรถจะต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และรถยนต์โดยสารจะต้องหยุดพักรถไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนออกเดินทาง พร้อมประวัติพนักงานขับรถ/พนักงานประจำรถ
7. การพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา โดยใช้รถยนต์ไม่ต่ำกว่า 40 ที่นั่ง จำนวน 3 คันขึ้นไป ต้องจัดให้มีรถนำขบวน โดยมีป้ายข้อความที่ระบุโครงการ กิจกรรม และสถานศึกษาแสดงให้เห็นเด่นชัดติดที่ด้านข้างรถ และมีหมายเลขกำกับติดที่ด้านหน้า และด้านหลังรถในตำแหน่งที่ชัดเจน
8. ตรวจสอบเส้นทางก่อนการเดินทางโดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
9. หากเส้นทางที่ขับไกลเกินกว่า 4 ชั่วโมง ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีพนักงานขับรถ จำนวน 2 คน เพื่อสับเปลี่ยนขับ และจัดทำแผนการเดินทางให้มีระยะเวลาหยุดพักไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง หลังขับรถติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมง
10. กรณีที่เป็นการเดินทางในเส้นทางที่เป็นภูเขาลาดชันและคดเคี้ยว ให้ใช้รถยนต์โดยสารชั้นเดียวในการเดินทาง
11. ห้ามนำนักเรียนออกเดินทางในเวลากลางคืน
12. ต้องกำหนดให้มีครูที่เป็นผู้ควบคุมอย่างน้อย 2 คน และต้องผลัดกันทำหน้าที่คอยกำกับดูแลพนักงานขับรถไม่ให้ขับโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หากพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าวให้สั่งพักรถหรือหยุดการเดินรถทันที
13. ผู้ควบคุมต้องกำกับดูแลนักเรียนให้คาดเข็มขัดนิรภัย
14. ผู้ควบคุมต้องกำกับดูแล ไม่ให้มีการบรรทุกนักเรียนเกินจำนวนที่นั่งของรถยนต์โดยสาร
15. ให้ความสำคัญกับการทำสัญญา โดยให้เน้นเรื่องความปลอดภัยกับผู้รับจ้างโดยระบุประเด็นที่เกี่ยวข้องที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดไว้อย่างชัดเจน
16. ให้ถือเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ในการดูแล กำกับติดตาม ตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรการและแนวทางดังกล่าวข้างต้น อย่างละเอียดรอบคอบ
ศธ. ตั้งคณะทำงาน กำหนดมาตรการการคุ้มครองความปลอดภัย
(11 ต.ค. 67) นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา โดยรศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน คณะผู้บริหาร และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
จากเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้เป็นที่กระทบกระเทือนจิตใจคนไทยทั้งประเทศ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ย้ำชัดว่าต้องเป็นกรณีสุดท้าย จึงได้ตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา เพื่อเร่งดำเนินการในมาตรการและขยายผลโดยเริ่มจากประเด็นเร่งด่วนที่สังคมให้ความสนใจก่อน ไม่ใช่เฉพาะรถบัสทัศนศึกษาเท่านั้น แต่ต้องดูภาพรวมแผนเผชิญเหตุตามสถานศึกษาควบคู่กับสำนึกเรื่องความปลอดภัย ซึ่งหลังจากประกาศกระทรวงเรื่องงดทัศนศึกษาที่ไม่จำเป็น มีหลายหน่วยงานสับสนเรื่องการปฏิบัติ รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครอง เกิดความไม่สบายใจที่จะให้ผู้เรียนเดินทางไปทัศนศึกษา
โดย รมว.ศธ. ต้องการให้ภาพรวมการตั้งคณะทำงานชุดนี้เป็นที่ยอมรับของสังคม จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญในส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อคิดเห็นในส่วนของระบียบการเดินทางไปทัศนศึกษานอกสถานที่ แผนปฏิบัติการ รวมถึงกิจกรรมที่ต้องเกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ควรเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้น กำหนดช่วงอายุของผู้ไปทัศนศึกษา การตรวจสภาพรถ ความพร้อมของพนักงานประจำรถ พลังงานเชื้อเพลิงที่เลือกใช้ และอีกหลายด้านที่ต้องพิจารณาอยางละเอียดร่วมกัน และดูแนวทางการจัดการของต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น โซนยุโรป และโซนอเมริกา เพื่อขยายขอบเขตมาตรฐานความปลอดภัยของผู้เรียน
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์ / วันที่เผยแพร่ 14 ต.ค.67
Link : https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/331784