นายหวัง กุงวู นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวสิงคโปร์ สังเกตเห็นว่า จีนเป็นมหาอำนาจทางบกมาโดยตลอด ซึ่งสงครามฝิ่นในปี 2382 เน้นย้ำถึงจุดอ่อนด้านการรุกรานทางทะเลของจีน ส่งผลให้รัฐบาลปักกิ่ง ให้ความสำคัญกับการสร้างกองทัพเรือที่แข็งแกร่ง จนปัจจุบัน จีนกลายเป็นประเทศที่มีกองเรือรบผิวน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ตรงกันข้าม สิงคโปร์เป็นประเทศทางทะเลมาอย่างยาวนาน โดยพัฒนาจากท่าเรือการค้าในภูมิภาค เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1400 เป็นฐานทัพเรือสำคัญของสหราชอาณาจักร ซึ่งทรัพยากรที่มีจำกัด และจำนวนประชากรน้อย การอยู่รอดของสิงคโปร์จึงขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของกองทัพเรือ และตอนนี้ สิงคโปร์มีกองทัพเรือที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีนและสิงคโปร์ ต่างตระหนักถึงความสำคัญของอำนาจกองทัพเรือ ที่มีต่อความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา กองทัพเรือสิงคโปร์ (อาร์เอสเอ็น) และกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอเอ็น) จัดการฝึกความร่วมมือทางทะเลครั้งที่สาม และครั้งใหญ่ที่สุด โดยกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศ ระบุว่า การฝึกซ้อมครั้งนี้มีเป้าหมาย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศระดับทวิภาคี และแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
การฝึกซ้อมดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น จากข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้ และความกังวลของสิงคโปร์ เกี่ยวกับเสรีภาพในการเดินเรือ ส่งผลให้เกิดคำถามว่า ทำไมสิงคโปร์ยังคงเข้าร่วมการฝึกซ้อมทางทะเลกับจีน และอะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้จีนเข้าร่วมการฝึกซ้อมเหล่านี้
สำหรับสิงคโปร์ การเข้าร่วมการฝึกซ้อม ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความต้องการที่จะ “รักษาความเป็นกลาง” ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐ ส่วนสำหรับจีน การฝึกซ้อมเหล่านี้ช่วยสร้างความไว้วางใจกับสิงคโปร์ และรับประกันความมั่นคงของเส้นทางเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งในขณะเดียวกัน การฝึกซ้อมทางทะเลยังมีความสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีน ในการเป็นมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบด้วย
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐ และความกล้าแสดงออกที่เพิ่มขึ้นของจีน ในทะเลจีนใต้ ทำให้สิงคโปร์มีความกังวลเกี่ยวกับการถูกบังคับให้เลือกระหว่างรัฐบาลปักกิ่ง และรัฐบาลวอชิงตัน
บริบทข้างต้นส่งผลให้สิงคโปร์และจีน เริ่มจัดการฝึกความร่วมมือทางทะเลครั้งแรก เมื่อปี 2558 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศระดับทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมความไว้วางใจและความเข้าใจของทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้ การซ้อมรบทางทะเลยังมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับสิงคโปร์ เนื่องจากจีนยังมีความกังวลอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับความเป็นกลางของสิงคโปร์ โดยรัฐบาลปักกิ่งมองว่า สิงคโปณ์มีความใกล้ชิดกับสหรัฐ “มากเกินไป” มาโดยตลอด ซึ่งสังเกตได้จากการที่สิงคโปร์เข้าร่วมการซ้อมรบระดับพหุภาคีที่นำโดยสหรัฐ เช่น การซ้อมรบ “คอบร้าโกลด์” ในประเทศไทย และการซ้อมรบ “ซูเปอร์ การูดา ชิลด์” ในอินโดนีเซีย
เนื่องจากสิงคโปร์ตั้งอยู่ที่ใจกลางของช่องแคบมะละกา จีนจึงมองว่า การซ้อมรบทางทะเลร่วมกันเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ ในการรักษาความสัมพันธ์อันเป็นมิตรกับสิงคโปร์, รับรองความเป็นกลางท่ามกลางการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐ และรักษาความมั่นคงของช่องแคบ ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 10 ต.ค.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1148520