กองทัพอากาศอินโดนีเซียและไทยกำลังเพิ่มความร่วมมือด้านกลาโหมในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกันทางอวกาศและไซเบอร์ การฝึกซ้อมร่วม และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ในระหว่างการเยือนประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.ท. โทนี ฮาร์โจโน เสนาธิการกองทัพอากาศอินโดนีเซีย ได้ประชุมกับ พล.อ.อ. พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศของไทยและอินโดนีเซีย
การประชุมกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 มุ่งเน้นไปที่ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของความร่วมมือระดับภูมิภาค เนื่องจากไทยและอินโดนีเซียต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่ซับซ้อนและพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว การสนทนามุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ตามรายงานของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจําประเทศไทย
หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการเพิ่มความร่วมมือในการฝึกร่วมทางทหารเอลังไทยนีเซีย ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างอินโดนีเซียและไทยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียระบุ การฝึกซ้อมประจำปีที่สลับกันจัดระหว่างไทยและอินโดนีเซีย มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นมืออาชีพและการทำงานร่วมกันของกองทัพของทั้งสองประเทศ
ไทยและอินโดนีเซีย “ใช้งานระบบอาวุธหลายประเภทที่มีต้นกำเนิดจากตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ” รวมถึงเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 นายอเด พี. มาร์โบเอน นักวิเคราะห์ด้านกลาโหม กล่าวกับ ฟอรัม นั่นทำให้การฝึกซ้อมเอลังไทยนีเซียมีความสำคัญต่อการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติการร่วมกันและความไว้วางใจระหว่างกองทัพอากาศ นายมาร์โบเอนจากกรุงจาการ์ตากล่าวเสริม
การเยือนของ พล.อ.ท. โทนี ฮาร์โจโน ยังช่วยเน้นย้ำถึงบทบาทของการฝึกซ้อมในการเตรียมกองทัพอากาศสำหรับสถานการณ์การตอบสนองร่วมกัน นายนิโคเลาส์ ลอย ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยพัฒนาชาติ “ทหารผ่านศึก” ในยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าว “การฝึกซ้อมเอลังไทยนีเซียมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการประสานงานและเน้นย้ำความร่วมมือเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งภัยคุกคามแบบดั้งเดิมและไม่ใช่แบบดั้งเดิม” นายลอยกล่าวกับ ฟอรัม
แผนการเพิ่มความร่วมมือด้านอวกาศสอดคล้องกับที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียที่เส้นศูนย์สูตร นายมาร์โบเอน กล่าว ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพของอินโดนีเซียในการเป็นสถานที่ปล่อยจรวด ความร่วมมือดังกล่าวจะครอบคลุมการสื่อสารผ่านดาวเทียม การตรวจจับระยะไกล และการฝึกอบรมบุคลากรด้านปฏิบัติการอวกาศ
ไทยและอินโดนีเซียเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น และต้องการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการป้องกัน นายลอยกล่าว “อาเซียน รวมถึงอินโดนีเซีย กำลังกลายเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมไซเบอร์” นายลอยกล่าว ซึ่งทำให้จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวกรองทางไซเบอร์ และการเสริมสร้างความมั่นคงของเครือข่าย อินโดนีเซียและไทยร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความทนทานต่อการโจมตีทางไซเบอร์ในภูมิภาค และปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของชาติ
นอกเหนือจากการฝึกซ้อมทางทหารและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกลาโหมแล้ว ไทยและอินโดนีเซียยังเน้นย้ำความสำคัญของการประสานงานในการตอบสนองต่อภัยพิบัติภายในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน โครงการริเริ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของอาเซียนได้รับความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่น สึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2547
กองทัพอากาศอาจจัดตั้งศูนย์บัญชาการจัดการภัยพิบัติระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความพร้อมและการตอบสนองต่อภัยพิบัติ นายมาร์โบเอนกล่าว “ไทยและอินโดนีเซียได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับต้น ๆ” นายมาร์โบเอนกล่าว
ความพยายามร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติมีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากอาเซียนไม่ใช่สนธิสัญญาป้องกันประเทศ นายลอยกล่าว ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติดำเนินงานอยู่ก็เพื่อให้ความอ่อนไหวทางการเมืองและอธิปไตยอยู่ในระดับต่ำ แต่หากมีแนวทางแบบทวิภาคี ก็จะทำให้การประสานงานง่ายยิ่งขึ้น” นายลอยกล่าว แนวทางนี้ช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับอธิปไตย ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้กองทัพในอาเซียนสามารถจัดการกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมร่วมกันได้
ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมทวิภาคีทำหน้าที่เป็นแบบอย่างให้กับความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ นายลอยกล่าว “อินโดนีเซียไม่มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับประเทศไทย แต่มี 5 ประเทศในอาเซียนที่มีข้อพิพาทเรื่องดินแดน เช่น มีข้อพิพาทกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้” นายลอยกล่าว “ความร่วมมือนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มขีดความสามารถด้านกลาโหม แต่ยังส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันและสร้างความเชื่อมั่นในระดับภูมิภาคอีกด้วย”
กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : Indo-Pacific Defence Forum / วันที่เผยแพร่ 17 ต.ค.67
Link :https://ipdefenseforum.com/th/2024/10/อินโดนีเซียและไทยขยายค/