ถือเป็นสถานการณ์ด้านความมั่นคงซึ่งซับซ้อนที่สุด ในประวัติศาสตร์ 76 ปี นับตั้งแต่การถือกำเนิดของรัฐอิสราเอล
ด้านเขตเวสต์แบงก์ที่อิสราเอลยึดครอง นับตั้งแต่ชนะสงครามหกวัน เมื่อปี 2510 เผชิญกับเหตุรุนแรงและนองเลือดที่สุดในรอบนานกว่าสองทศวรรษ คู่ขนานไปกับสงครามในฉนวนกาซา โดยจนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 600 ราย
ด้านชายแดนทางเหนือของอิสราเอลซึ่งติดกับเลบานอน ยังคงเผชิญกับเหตุรุนแรงแทบไม่เว้นแต่ละวันเช่นกัน จากการที่กองทัพอิสราเอลโจมตีทางอากาศ และยิงปืนใหญ่ ตอบโต้กับการยิงจรวดและใช้โดรนของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางตอนใต้ของเลบานอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายร้อยราย แม้ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ แต่กองทัพอิสราเอลสูญเสียทหารที่นี่ไปแล้วหลายสิบนาย
ยิ่งไปกว่านั้น บรรยากาศของ “สงครามตัวแทน” ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านทวีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยต่าฝ่ายต่างโจมตีกันโดยตรงเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา และการเสียชีวิตของนายอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำสูงสุดฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส จากการถูกลอบสังหาร ที่กรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย กลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค
แม้ฉนวนกาซาอยู่ในสภาพพังราบเป็นหน้ากลอง ชนิดที่เรียกว่าต้องใช้เวลานานอีกหลายทศวรรษในการฟื้นฟู สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสยังห่างไกลจากคำว่าคลี่คลาย ประชาชนในฉนวนกาซาเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 40,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตในอิสราเอลอยู่ที่ประมาณ 1,200 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขคงที่นับตั้งแต่ช่วงต้นของสงคราม
ทั้งนี้ อิสราเอลกำหนดเป้าหมายสูงสุดของสงครามในฉนวนกาซา ที่ยืนยันว่า ต้องบรรลุให้ได้เท่านั้น นั่นคือ “การกวาดล้างกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก” และช่วยเหลือตัวประกันที่ยังติดค้างอยู่ในฉนวนกาซาอีกราว 100 คน ให้กลับออกมาได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของกลุ่มฮามาสคือ การรักษาสถานะของตัวเองที่แม้กำลังเสื่อมถอยไปตามความยืดเยื้อของสงครามครั้งนี้ แต่อีกนัยหนึ่งเสมือนเป็นการถ่วงเวลา ให้กลุ่มฮามาสมีเวลาประเมินสถานการณ์ ซึ่งอำนาจนำไปสู่การพันธมิตรอื่นของกลุ่มฮามาส อาจประกาศตัวยอมแพ้เช่นกัน
นอกจากนี้ โครงสร้างและเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินที่ซับซ้อน ยังคงเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล ในการติดตามล่าตัวบรรดาแกนนำของกลุ่มฮามาส ซึ่งเชื่อกันว่ากบดานอยู่ภายในอุโมงค์ รวมถึงนายยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำสูงสุดฝ่ายการเมืองคนปัจจุบัน และตัวประกันบางส่วนน่าจะกระจายตัวกันอยู่ภายในอุโมงค์ด้วย
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เงื่อนไขสำคัญที่สุดซึ่งอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังคงมีจุดยืนแตกต่างกันอย่างชัดเจน และยังคงยากที่จะประนีประนอม นั่นคือ อิสราเอลกล่าวว่า การหยุดยิงตามข้อตกลงแต่ละครั้งมีผลเพียงชั่วคราว ส่วนกลุ่มฮามาสยืนกรานว่า ต้องการหยุดยิงถาวรเท่านั้น
สำหรับสถานการณืในเขตเวสต์แบงก์นั้น จริงอยู่ที่ “ในทางทฤษฎี” ถือว่าอิสราเอลถอนทหารออกไปเมื่อปี 2548 แต่จนถึงปัจจุบันอิสราเอลยังคงกำลังทหารและตำรวจไว้ในพื้นที่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือเพื่อปกป้องดูแลชาวอิสราเอลราว 500,000 คน ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ ทั้งที่ประชาคมโลก นำโดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และรวมถึง สหรัฐ วิจารณ์มาตลอด ว่าการผนวกดินแดนลักษณะนี้ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่นับตั้งแต่สงครามในฉนวนกาซาปะทุ อิสราเอลเปิดฉากปฏิบัติการจู่โจมพื้นที่หลายแห่งในเขตเวสต์แบงก์ “เพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย” และ “เพื่อตัดเส้นทางท่อน้ำเลี้ยง” จากอิหร่าน อีกทั้งประณามรัฐบาลปาเลสไตน์ของประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ว่า “อ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพ” ที่จะจัดการกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในเขตเวสต์แบงก์
ด้านอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เคยทำสงครามครั้งใหญ่กันมาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อปี 2549 นับตั้งแต่สงครามในฉนวนกาซาปะทุจนถึงตอนนี้ มีการอพยพประชาชนตามแนวชายแดนทางเหนือของอิสราเอลแล้วมากกว่า 60,000 คน โดยต่างฝ่ายต่างยืนยันจุดยืนไม่ประนีประนอม ซึ่งอิสราเอลกล่าวว่า จะยังคงโจมตีเลบานอนต่อไป “จนกว่าอิสราเอลจะปลอดภัย” ขณะที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์กล่าวว่า ตราบใดที่สงครามในฉนวนกาซายังไม่ยุติ การโจมตีอิสราเอลจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปเช่นกัน
ส่วนอิสราเอลกับอิหร่านมีสถานะเป็นปรปักษ์ต่อกันอย่างเปิดเผย ทั้งสองประเทศไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน และประกาศอย่างไม่ปิดบังว่า ต้องการทำลายล้างอีกฝ่าย “ให้หายไปจากแผนที่โลก” ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนานนับทศวรรษ ก่อนสงครามในฉนวนกาซาจะปะทุเสียอีก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและบุคคลสำคัญของอิหร่านถูกลอบสังหารแล้วหลายคน และอิสราเอลไม่เคยปริปากหรือแสดงท่าทีใด ยกเว้นกรณีการลอบสังหารพล.ต.กัสเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังนักรบคุดส์ ของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (ไออาร์จีซี) ที่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก เมื่อปี 2563 ซึ่งสหรัฐยืนยันเป็นผู้ลงมือเอง
จุดเริ่มต้นของความตึงเครียดครั้งใหม่ ที่มีชนวนเหตุจากสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งอิสราเอลโจมตีโต้กลับกลุ่มฮามาส หลังอีกฝ่ายเปิดฉากโจมตีข้ามแดนมายังภาคใต้ของอิสราเอล ยิ่งทวีความรุนแรงและยืดเยื้อมากขึ้นทุกขณะ อีกทั้งยิ่งทำให้ขอบเขตของความตึงเครียดขยายวงออกไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินเรือในทะเลแดง และซีเรียที่ยังคงอยู่ท่ามกลางภาวะสงครามกลางเมือง ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 13 ปี
ตอนนี้หนทางเป็นไปได้มากที่สุด คือการหยุดยิง ที่ไม่ว่าจะยาวนานแค่ไหนก็ตาม ทว่าตราบใดที่คู่กรณีและผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่ายยังคงไม่ยอมอ่อนข้อหรือประนีประนอมเช่นนี้ ผลเสียที่เกิดขึ้นย่อมตกอยู่กับประชาชนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวอิสราเอล หรือชาวปาเลสไตน์
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 8 ก.ย.67
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/3836145/