ในความเคลื่อนไหวที่อยู่เหนือความคาดหมาย เพจเจอร์และวิทยุสื่อสารของสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่เจตนาให้เป็นวิธีสื่อสารที่ปลอดภัยเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับที่ก้าวหน้าของอิสราเอล ได้กลายเป็นระเบิดอานุภาพร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนไปจำนวนหลายสิบ และทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกหลายพันราย
รัฐบาลเลบานอนได้กล่าวหาอิสราเอลว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว ซึ่งถือเป็น “การก้าวร้าวรุกรานเยี่ยงอาชญากรของอิสราเอล” ส่วนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์นั้นสาบานว่าจะ “ตอบโต้อย่างสาสม”
ขณะที่รัฐบาลอิสราเอลยังไม่มีแถลงการณ์ชี้แจงต่อข้อกล่าวหานี้ สื่ออิสราเอลบางสำนักรายงานว่า ทางรัฐบาลได้กำชับให้คณะรัฐมนตรีงดเว้นการออกถ้อยแถลงต่อสาธารณชนถึงเรื่องดังกล่าว
ตามปกติแล้วอิสราเอลจะติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนอย่างใกล้ชิด ซึ่งชี้ว่าปฏิบัติการครั้งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายที่ดำเนินมายาวนาน
หากอิสราเอลคือผู้บงการแผนระเบิดอุปกรณ์สื่อสารในครั้งนี้จริง ก็จะถือเป็นหนึ่งในปฏิบัติการที่เหนือความคาดหมาย และส่งผลกระทบต่อฝ่ายตรงข้ามมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งเหตุการณ์ในสัปดาห์นี้ได้กระตุ้นให้ระลึกถึงปฏิบัติการในอดีตของอิสราเอล โดยเฉพาะหน่วยจารกรรมอิสราเอล ที่ชื่อว่าหน่วย “มอสซาด”
ความสำเร็จของมอสซาด
ในอดีตหน่วยสอดแนมและดำเนินปฏิบัติการลับด้านความมั่นคงของอิสราเอลหรือ “มอสซาด” (Mossad) เคยดำเนินภารกิจที่พบกับความสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็มีปฏิบัติการที่ประสบความล้มเหลวอย่างนับไม่ถ้วนเช่นกัน โดยผลงานอันลือลั่นที่ประสบความสำเร็จมีดังต่อไปนี้
ไล่ล่านาซี “อดอล์ฟ ไอช์มานน์”
การลักพาตัวเจ้าหน้าที่นาซีคนสำคัญ “อดอล์ฟ ไอช์มานน์” มาจากประเทศอาร์เจนตินาในปี 1960 คือผลงานความสำเร็จที่รู้จักกันดีมากที่สุดครั้งหนึ่ง
ไอช์มานน์ คือบุคคลที่บงการแผนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ซึ่งทำให้มีชาวยิวเสียชีวิตไปราว 6 ล้านคน ด้วยน้ำมือของนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
หลังหลบหนีการจับกุมมาได้หลายครั้ง ด้วยวิธีย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ท้ายที่สุดแล้วไอช์มานน์ก็ถูกจับกุมตัวในอาร์เจนตินา โดยฝีมือของทีมนักสืบมอสซาด 14 คน ที่ติดตามแกะรอยและลักพาตัวเขามายังอิสราเอล เพื่อนำตัวขึ้นศาลรับการพิจารณาคดีและต้องโทษประหารชีวิตในที่สุด
ปฏิบัติการเอนเต็บเบ
ปฏิบัติการเอนเต็บเบที่เกิดขึ้นในประเทศยูกันดา เมื่อปี 1976 ถือเป็นปฏิบัติการทางทหารที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดครั้งหนึ่งของอิสราเอล เนื่องจากมีหน่วยจารกรรมอย่างมอสซาดคอยป้อนข่าวกรองที่แม่นยำให้กับกองทัพอิสราเอลในปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกัน
สลัดอากาศซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 2 คน ของแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PFLP) และผู้สมรู้ร่วมคิดชาวเยอรมันอีก 2 คน ได้จี้บังคับนักบินให้เปลี่ยนเส้นทางบินไปยังประเทศยูกันดา และจับผู้โดยสารและลูกเรือไว้เป็นตัวประกันที่สนามบินเอนเต็บเบ
กองกำลังคอมมานโดของอิสราเอลได้เข้าจู่โจมสนามบินและสามารถเข้าช่วยเหลือตัวประกันชาวอิสราเอลและชาวยิวที่เหลืออีก 100 คนเอาไว้ได้
เหตุการณ์นี้จบลงโดยมีตัวประกันเสียชีวิต 3 ราย ส่วนสลัดอากาศทุกคนและทหารยูกันดาหลายนาย รวมทั้งโยนาทาน เนทันยาฮู นายทหารชาวอิสราเอลซึ่งเป็นพี่ชายของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ก็เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย
ปฏิบัติการภราดร (Operation Brothers)
ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 มอสซาดได้ดำเนินแผนตบตากลุ่มประเทศที่เป็นศัตรูครั้งใหญ่ เพื่อลักลอบขนย้ายชาวยิวกว่า 7,000 คนจากประเทศเอธิโอเปีย ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอิสราเอลโดยเดินทางผ่านประเทศซูดาน ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเมนาเฮม เบกิน ซึ่งต้องการนำเหล่าพี่น้องเชื้อสายยิวกลับคืนสู่ดินแดนแห่งพันธะสัญญา
เนื่องจากซูดานนั้นเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มสันนิบาตอาหรับ ซึ่งนับว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอล มอสซาดจึงได้คิดแผนการสร้างรีสอร์ตเพื่อการท่องเที่ยวดำน้ำขึ้นแห่งหนึ่งที่ริมชายฝั่งทะเลแดง เพื่อใช้ตบตาทางการซูดานและเป็นฐานของปฏิบัติการลับในครั้งนี้
ในช่วงเวลากลางวัน เจ้าหน้าที่ของหน่วยจารกรรมมอสซาดจะแสร้งแสดงตัวเป็นพนักงานบริการในรีสอร์ตดังกล่าว แต่พอถึงเวลากลางคืน พวกเขาจะลอบอำนวยความสะดวกให้กับชาวยิวที่เดินเท้าข้ามแดนมาจากเอธิโอเปีย เพื่อส่งตัวคนเหล่านี้ต่อไปยังอิสราเอลโดยทางเรือและทางอากาศ
ปฏิบัติการลับนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยไม่ถูกขัดขวางเป็นเวลานานอย่างน้อย 5 ปี และเมื่อแผนการถูกเปิดโปง บรรดาเจ้าหน้าที่ของมอสซาดในรีสอร์ตปลอมแห่งดังกล่าว ก็ได้พากันหลบหนีไปจนหมดแล้ว
แก้แค้นเหตุสังหารหมู่ในกีฬาโอลิมปิกที่นครมิวนิก
เมื่อปี 1972 กลุ่มกันยายนทมิฬ (Black September) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ ได้บุกเข้าสังหารนักกีฬาทีมชาติอิสราเอล 2 คนในที่พัก และจับอีก 9 คนเป็นตัวประกัน ระหว่างการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่นครมิวนิกของเยอรมนี ซึ่งต่อมานักกีฬาทุกคนถูกมือปืนยิงสังหาร หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวเยอรมันตะวันตกเข้าช่วยเหลือไม่สำเร็จ
หลายปีหลังจากนั้น หน่วยมอสซาดได้มุ่งเป้าติดตามบุคคลผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวกับเหตุโจมตี ซึ่งรวมถึงนายมาห์มูด ฮัมชารี ผู้ที่ต่อมาถูกสังหารด้วยระเบิดที่ฝังอยู่ในโทรศัพท์ ซึ่งติดตั้งภายในอะพาร์ตเมนต์ของเขาเองที่กรุงปารีส โดยแรงระเบิดทำให้เขาเสียขาข้างหนึ่งและเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บสาหัสในที่สุด
ยาห์ยา อัยยาช มือระเบิดผู้สิ้นชีพด้วยระเบิดโทรศัพท์
ในปฏิบัติการที่คล้ายกันเมื่อปี 1996 ยาห์ยา อัยยาช นักทำระเบิดคนสำคัญของกลุ่มฮามาส ถูกลอบสังหารด้วยการยัดวัตถุระเบิดราว 50 กรัม เข้าไปในโทรศัพท์มือถือรุ่นโมโตโรลาอัลฟาของเขา
อัยยาชซึ่งเป็นขุนพลคนสำคัญในกองกำลังของกลุ่มฮามาส เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีความเชี่ยวชาญในการประดิษฐ์และประกอบระเบิด รวมทั้งเป็นผู้บงการวางแผนอันซับซ้อน เพื่อโจมตีเป้าหมายที่เป็นฝ่ายอิสราเอลหลายครั้ง ทำให้เขาตกเป็นบุคคลที่ถูกหมายหัวและต้องการตัวมากที่สุดจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของอิสราเอล
ในช่วงปลายปี 2019 ทางการอิสราเอลยกเลิกคำสั่งห้ามเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของการลอบสังหารในครั้งนั้น ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 13 ของอิสราเอล นำเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ที่ยาห์ยาพูดคุยกับพ่อของเขาเป็นครั้งสุดท้ายมาออกอากาศ ซึ่งการลอบสังหารฮัมชารีและอัยยาช ถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของความเป็นมาอันยาวนาน ในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสังหารเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง
ฆ่ารัดคอมาห์มูด อัล-มาบูห์
ในปี 2010 มาห์มูด อัล-มาบูห์ ซึ่งเป็นผู้นำอาวุโสในฝ่ายทหารของกลุ่มฮามาส ถูกลอบสังหารในห้องพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งของนครดูไบ ซึ่งแม้ในตอนแรกจะดูเหมือนการเสียชีวิตตามธรรมชาติ แต่ต่อมาตำรวจดูไบก็สามารถระบุตัวทีมลอบสังหารได้จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิด และเผยว่าเขาถูกสังหารด้วยการช็อตไฟฟ้าและรัดคอจนเสียชีวิต
เชื่อกันว่าผู้บงการลอบสังหารในครั้งนี้คือมอสซาด ทำให้รัฐบาลอิสราเอลมีปัญหาทางการทูตกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ในทันที และแม้ทูตอิสราเอลจะอ้างว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่ามอสซาดอยู่เบื้องหลังเหตุฆาตกรรมดังกล่าว แต่ทางการอิสราเอลก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าตนเองไม่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการดำเนินตามนโยบายที่เน้นรักษาความคลุมเครือในประเด็นเหล่านี้
ปฏิบัติการลอบสังหารที่ล้มเหลว
แม้หน่วยมอสซาดที่เก่งกาจจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจมาหลายครั้งหลายครา แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องพบกับความล้มเหลวเข้าจนได้
ลอบสังหารผู้นำฝ่ายการเมืองของฮามาสในจอร์แดน แต่ไม่สำเร็จ
ในปฏิบัติการที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการทูตครั้งใหญ่ของอิสราเอลเกิดขึ้นเมื่อปี 1977 จากความพยายามลอบสังหาร นายคาเล็ด เมชัล ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส ในประเทศจอร์แดน ด้วยการวางยาพิษ
เหตุการณ์ที่เมชัลถูกลอบสังหารด้วยยาพิษขณะพำนักอยู่ในจอร์แดน ทำให้สายลับอิสราเอลผู้ลงมือทำภารกิจถูกจับกุมหลายคน และอิสราเอลยังถูกจอร์แดนบีบบังคับให้มอบยาถอนพิษแก่เมชัลอีกด้วย
นอกจากนี้ แดนนี ยาทอม หัวหน้าหน่วยมอสซาดยังต้องรีบเดินทางไปจอร์แดน เพื่อรักษาอาการป่วยของเมชัลด้วยตนเอง
เหตุการณ์นี้บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล-จอร์แดนอย่างมาก ซึ่งเพิ่งลงนามในสนธิสัญญาไปก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ไม่นาน
ถล่มบ้านมาห์มูด อัล ซาฮาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาส เมื่อปี 2003
เมื่อปี 2003 อิสราเอลเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ เพื่อถล่มบ้านของมาห์มูด อัล ซาฮาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาส ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองกาซาซิตี ทำให้ภรรยาของเขาและบุตรชายชื่อคาเล็ดต้องเสียชีวิตไปพร้อมกับชาวปาเลสไตน์อีกหลายคน แม้ว่าตัวของมาห์มูดเองจะรอดชีวิตมาได้ก็ตาม เหตุโจมตีดังกล่าวทำให้บ้านของเขาพังราบคาบ และแสดงถึงความโหดร้ายของปฏิบัติการโจมตีในเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
กรณีลาวอน (Lavon Affair)
เมื่อปี 1954 ทางการอียิปต์ได้ทำลายแผนการของสายลับอิสราเอล ที่เตรียมจะลงมือทำภารกิจใน “ปฏิบัติการซูซานนาห์” ซึ่งจะนำระเบิดไปวางไว้ในอาคารของทางการสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในอียิปต์ เพื่อกดดันให้อังกฤษคงกำลังทหารรักษาความปลอดภัยแถบคลองสุเอซไว้ต่อไป
เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า “กรณีลาวอน” ตามชื่อของพินฮาส ลาวอน รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอลในตอนนั้น โดยเชื่อกันว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนเพื่อดำเนินปฏิบัติการดังกล่าว ส่วนความล้มเหลวในครั้งนี้ คาดว่ามาจากความผิดพลาดครั้งใหญ่ในการสืบหาข่าวกรองของมอสซาด
สงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War)
ในวันที่ 6 ต.ค. ปี 1973 อียิปต์และซีเรียร่วมกันโจมตีอิสราเอล เพื่อยึดคืนที่ราบสูงโกลันและคาบสมุทรไซนาย โดยช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับวันยมคิปปูร์ หรือวันแห่งการขออภัยบาปของชาวยิว ทำให้อิสราเอลไม่ทันตั้งตัวในวันแรก ๆ ที่สงครามปะทุขึ้น
อียิปต์และซีเรียกระหนาบเข้าตีอิสราเอลจากสองด้าน กองกำลังของอียิปต์ได้ยกข้ามคลองสุเอซเข้ามา โดยมีกำลังพลเสียชีวิตน้อยกว่าที่คาดมาก ส่วนซีเรียตีฝ่าแนวต้านของอิสราเอลเข้ามาถึงที่ราบสูงโกลันได้ โดยมีสหภาพโซเวียตคอยส่งเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้อียิปต์และซีเรีย ส่วนอิสราเอลนั้นมีสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนในการส่งกำลังบำรุงฉุกเฉิน ทำให้สามารถตีโต้และขับไล่กองกำลังของทั้งสองชาติที่รุกเข้ามาได้สำเร็จ ในวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งเป็นเวลาเพียง 4 วัน หลังสหประชาชาติออกข้อมติให้ทุกฝ่ายยุติการสู้รบ
การโจมตีสายฟ้าแลบ 7 ต.ค. 2023
อีก 50 ปีต่อมา อิสราเอลต้องพบกับการโจมตีครั้งใหญ่ที่เหนือความคาดหมายอีกครั้ง โดยคราวนี้กลุ่มฮามาสบุกโจมตีเมืองหลายแห่งตรงแนวพรมแดนที่ติดกับฉนวนกาซา ในวันที่ 7 ต.ค. ของปีที่แล้ว ทำให้มอสซาดถูกเพ่งเล็งและกล่าวโทษว่าประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในงานข่าวกรอง และแสดงถึงจุดอ่อนสำคัญของอิสราเอล ในนโยบายการป้องปรามกลุ่มฮามาสไม่ให้ก่อเหตุร้าย
ทางการอิสราเอลระบุว่า เหตุโจมตีดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ทั้งยังมีผู้ถูกจับไปเป็นตัวประกันในเขตกาซาอีก 251 คน
ด้านอิสราเอลได้โจมตีตอบโต้กลุ่มฮามาสโดยเปิดฉากทำสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขของกาซาที่บริหารโดยกลุ่มฮามาสระบุว่า การสู้รบทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 40,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : บีบีซีออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 21 ก.ย.67
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cgrynxlrg8qo