เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็นภูมิภาค ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมหลอกลวงขนาดใหญ่ อาชญากรรมดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงระดับร้ายแรง ทั้งสำหรับประเทศที่แก๊งอาชญากรรมเข้าไปตั้งฐานที่มั่น และประเทศซึ่งกลุ่มคนร้ายเลือกเป็นเป้าหมาย
องค์กรอาชญากรรมที่อยู่เบื้องหลังเครือข่ายเหล่านี้ สามารถหลอกลวงผู้คนจำนวนมากจากหลายประเทศ แล้วบีบบังคับให้ทำงาน เพื่อหลอกล่อให้ผู้เสียหายในหลายประเทศต้องโอนเงินรวมกันเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนใหญ่เป็นการมุ่งเป้าหลอกลวงชาวจีนด้วยกัน แต่ในกรณีของเอเชียตะวันออกเอียงใต้ ศูนย์หลอกลวงออนไลน์หรือที่เรียกว่า คอลเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกัมพูชา ลาว และเมียนมา ทว่ามีรายงานการพบศูนย์คอลเซ็นเตอร์ลักษณะนี้ในอีกหลายประเทศของภูมิภาคเช่นกัน
ข้อมูลจากสถาบันสันติภาพสหรัฐ (ยูเอสไอพี) เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ซึ่งมีฐานอยู่ในลาว กัมพูชา และเมียนมา สามารถหลอกลวงเงินจากเหยื่อจำนวนมากได้รวมกันมากถึง 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.31 ล้านล้านบาท) ณ สิ้นปี 2566
ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของหลายประเทศ โดยเฉพาะในจีนและกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับผลกระทบจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายระดับสูง และกระทบกับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบ
แม้ศูนย์กลางของแก๊งคอลเซ็นเตอร์พบมากในกัมพูชา ลาว และเมียนมา แต่ประเทศร่วมภูมิภาคอีกหลายแห่งเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์คอลเซ็นเตอร์เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือฟิลิปปินส์ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของฟิลิปปินส์ ร่วมกันทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และบริษัทพนันออนไลน์ ซึ่งใช้อาคารพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาราว 100 กิโลเมตร เป็นฐานปฏิบัติการ
ในปฏิบัติการครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวฟิลิปปินส์ได้ 383 คน ชาวจีน 202 คน และพลเมืองของอีกหลานประเทศรวม 73 คน
เหยื่อส่วนใหญ่ที่ถูกล่อลวงให้เข้ามาทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน หรือเป็นการใช้แรงงานทาส มักมาจากประเทศที่มีอัตราการจ้างงานในระดับต่ำ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์ ตลอดจนประเทศในแอฟริกาเหนืออีกหลายแห่ง
แม้บรรดาประเทศซึ่งเป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยกระดับมาตรการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง แต่มีหลายครั้งที่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นลักษณะของ “การจัดฉาก” หรือมี “การแจ้งเตือนล่วงหน้า” ทำให้ผู้บงการระดับสูงไหวตัวทันและสามารถหลบหนีไปได้ หนึ่งในนั้นคือนายจ้าว เหว่ย แห่งกาสิโน “คิงส์ โรมัน” ซึ่งมีฐายอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โดยนายจ้าว เหว่ย อยู่ในบัญชีดำการคว่ำบาตรของรัฐบาลวอชิงตัน เมื่อปี 2561 ที่มีการระบุว่า บุคคลผู้นี้เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลและมีอำนาจสูงสุด ในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติแถบนี้
ปัจจุบัน ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ลักษณะนี้มุ่งเป้าหมายเล่นงานประชาชนในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ผู้เสียหายส่วนใหญ่สูญเสียทรัพย์สินระหว่าง 100,000-300,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.35-10.07 ล้านบาท)
นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการโครงการเมียนมาของยูเอสไอพี กล่าวว่า เม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดคอลเซ็นเตอร์นั้น เรียกได้ว่า “เป็นกระบวนการถ่ายโอนำความมั่งคั่ง” ครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มนายทุนและผู้ทรงอิทธิพลในตลาดมืด ส่งผลกระทบต่อธรรมาภิบาลของรัฐบาลในประเทศแห่งนั้น เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มักมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่ทุจริต ไปจนถึงกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มนักรบกองโจร และขบวนการค้ายาเสพติดในประเทศแห่งนั้นด้วย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนด้วยว่า อำนาจรัฐยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองประชาชนได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้รอดพ้นหรืออย่างน้อย ถอยห่างจากความเสี่ยงของการตกเป็นเป้าหมายการหลอกลวงออนไลน์ลักษณะนี้ได้
ขณะเดียวกัน การที่ศูนย์คอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ คือการกักขังและการบังคับใช้แรงงาน แน่นอนว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยต้องเข้มงวดในระดับสูงสุด และเป็นที่น่าสังเกตว่า สถานที่ลักษณะนี้มักตั้งอยู่ตามแนวชายแดน หรือในพื้นที่ซึ่งอำนาจรัฐอ่อนแอหรือเข้าไม่ถึง เพื่อลดความเสี่ยงของการถูกสังเกตการณ์
อนึ่ง ปี 2568 ตรงกับวาระครบรอบ 10 ปี ของปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามขาติ (Kuala Lumpur Declaration on Combating Transnational Crime ) ซึ่งสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ลงนามร่วมกัน ระหว่างการประชุม ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558
ด้วยเหตุนี้ อาเซียนควรร่วมกันแสดงภาวะผู้นำร่วมกันอย่างจริงจังกว่าที่เป็นอยู่ ร่วมกันกำหนดแนวทางในระยะยาว เพื่อปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรมออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นมากกว่าความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทว่าเป็นเรื่องของ “การรักษาอำนาจอธิปไตย” และฟื้นฟูธรรมาภิบาลของรัฐ ที่เสื่อมถอยไปในพื้นที่ซึ่งองค์กรอาชญากรรมเข้ามาตั้งฐานที่มั่น และเป็นไปไม่ได้เลยว่า จะมีประเทศแห่งใดยอมรับให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบนดินแดนของตัวเองไปเรื่อย ๆ
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 13 ต.ค.67
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/3966024/