สงครามในฉนวนกาซายังคงดำเนินต่อไป…. อิสราเอลกำลังบุกโจมตีทางภาคพื้นดินในทางตอนใต้ของเลบานอน อิหร่านเปิดฉากยิงขีปนาวุธเกือบ 200 ลูกใส่อิสราเอล และในขณะเดียวกันอิสราเอลได้ถล่มโจมตีกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนด้วย
สถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บรรดานักการเมืองและนักวิเคราะห์ทั่วโลกแสดงความกังวลว่าตะวันออกกลางจะเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ
ต่อไปนี้คือการประเมินของ 5 ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่เกาะติดสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ว่ามีโอกาสแค่ไหนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น และมันจะลุกลามไปสู่ความขัดแย้งทั่วโลกหรือไม่
นาวาล อัล-มากาฟี ผู้สื่อข่าวอาวุโสด้านการสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศ
วลี “ใกล้จะถึงจุดวิกฤต” มักถูกหยิบยกขึ้นมาบรรยายสถานการณ์ปัจจุบันในตะวันออกกลาง โดยมีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซามากกว่า 40,000 ราย และผู้เสียชีวิตในเลบานอนมากกว่า 1,000 รายภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียวทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก คนนับล้านกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และบางพื้นที่อยู่ในสภาพพังทลาย โอกาสที่สถานการณ์จะ “พลิกคว่ำ” ไปถึงจุดวิกฤตนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก
เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่อันตรายที่สุดครั้งหนึ่งในภูมิภาคในรอบหลายทศวรรษ
เมื่อสัปดาห์ที่ก่อน อิสราเอลได้จัดงานเฉลิมฉลองหลังจากการเสียชีวิตของ ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
แม้ว่าการเสียชีวิตของทั้ง นัสรัลเลาะห์ และ อิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส อาจทำให้ผู้ที่ต้องการโค่นล้มกลุ่มที่เรียกว่า กลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน (Axis of Resistance) ของอิหร่าน รู้สึกพอใจชั่วขณะหนึ่ง แต่การเฉลิมฉลองดังกล่าวยังเร็วเกินไปที่จะสรุปได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิสราเอลถล่มกลุ่มฮิซบอลเลาะห์อย่างหนักหน่วงด้วยการโจมตีแบบเจาะจง และการโจมตีทางอากาศส่งผลให้ผู้นำคนสำคัญต้องเสียชีวิต
เวลา 1 ปีของการทำสงครามต่อต้านกลุ่มฮามาส ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตผู้คนนับล้านในฉนวนกาซา
การโจมตีดังกล่าวทำให้ศักยภาพของกลุ่มลดลงอย่างมาก แต่ไม่น่าจะถือเป็นจุดจบของกลุ่มฮามาสในฐานะกองกำลังทางการเมืองและการทหารที่สำคัญ
ฝ่ายตรงข้ามจะมองไม่เห็นว่ากลุ่มฮามาสสร้าง รวมถึงรักษาที่มั่นและอิทธิพลของพวกเขาได้อย่างไร เนื่องจากการเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงสถาบันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งฝังรากลึกอย่างแยกไม่ออกในโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่พวกเขาทำงานอยู่
การสังหาร นัสรัลเลาะห์ และการตอบโต้ของอิหร่าน ทำให้ภูมิภาคนี้เข้าใกล้สงครามเต็มรูปแบบอย่างอันตราย
วาทกรรมที่ออกจากปากผู้นำอิสราเอลภายหลังการโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิหร่านบ่งชี้ว่าความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่เพียงเกี่ยวข้องโดยตรงกับศัตรูทั้งสอง แต่ยังรวมถึงกองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในเลบานอน ซีเรีย เยเมน และอิรัก ตลอดจนพันธมิตรของอิสราเอลในตะวันตก รวมทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
คำถามที่เกิดขึ้นคืออิสราเอลจะตอบโต้อย่างไร ?
“นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในรอบ 50 ปีที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของตะวันออกกลาง” อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล นาฟตาลี เบนเน็ตต์ ทวีตข้อความแนะนำว่าอิสราเอลควรโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อ “ทำลายระบอบก่อการร้ายนี้ให้สิ้นซาก” หากคำพูดของเขาบ่งชี้ถึงเจตนาอย่างเป็นทางการ เราอาจกำลังเผชิญกับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นสิ่งเลวร้ายสำหรับภูมิภาคนี้
นับตั้งแต่สงครามในฉนวนกาซาเริ่มต้นขึ้น ความพยายามทางการทูตในการลดระดับความรุนแรงล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมหาอำนาจต่าง ๆ พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถหยุดยั้งหรือแม้แต่ส่งอิทธิพลต่อการสู้รบได้อย่างมีนัยสำคัญ ความล้มเหลวที่ยังคงดำเนินอยู่นี้ตอกย้ำถึงระเบียบโลกที่แตกแยกอย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถร่วมมือกันบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศหรือแม้แต่กฎการปฏิบัติการที่มีมายาวนานได้ ซึ่งรอยร้าวดังกล่าวดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภูมิภาคและประชาชน
นิสรีน ฮาตูม ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาอาหรับ, กรุงเบรุตในเลบานอน
สงครามเต็มรูปแบบไม่ใช่สิ่งที่เลบานอนพร้อมจะเผชิญ แน่นอนว่าความกลัวต่อสงครามเต็มรูปแบบกำลังเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรวมถึงซีเรีย อิหร่าน อิรัก เยเมน และบางครั้งอาจนับจอร์แดนด้วย ความกลัวเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า หลังจากอิหร่านโจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธเมื่อวันอังคาร (1 ต.ค.) และมีความเป็นไปได้ว่าอิหร่านจะโจมตีอิสราเอลอีกครั้ง
หากอิหร่านทำเช่นนั้น สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่น ๆ ที่สนับสนุนอิสราเอลอาจเข้ามาแทรกแซง ซึ่งจะทำให้สงครามเต็มรูปแบบรุนแรงยิ่งขึ้น
อิสราเอลกำลังโจมตีกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ไม่ใช่กองทัพเลบานอน
จุดยืนอย่างเป็นทางการของเลบานอนคือพยายามป้องกันไม่ให้เกิดสงครามที่กินวงกว้างขึ้น
เจ้าหน้าที่เลบานอนกำลังทำงานแข่งกับเวลา ผ่านความพยายามทางการทูตที่นำโดยฝรั่งเศส เพื่อหาทางบรรลุข้อตกลงหยุดยิง โดยพุ่งเป้าไปที่การบังคับให้อิสราเอลยุติสงครามภายในเลบานอน ตามมติที่ 1701 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)
ภายในประเทศ มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และทำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญกลับมาทำหน้าที่ได้อีกครั้ง
เลบานอนไม่เคยกระหายสงคราม ผู้คนเบื่อหน่ายกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2019
คนส่วนใหญ่ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและหลีกเลี่ยงสงคราม ชาวเลบานอนบางคนเชื่อว่าตนเองถูกดึงเข้าสู่สงครามนี้ และสงครามนี้ไม่ใช่ของพวกเขา
หลายคนเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะยุติความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอล เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติถาวร
การป้องกันสงครามเต็มรูปแบบสามารถทำได้ด้วยความพยายามทางการทูตเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เลบานอนล่มสลาย
สงครามในอดีตพิสูจน์ให้เห็นว่าปฏิบัติการทางทหารไม่ได้เป็นทางออกที่ยั่งยืน และการใช้การเจรจาและใช้วิธีการทางการทูตอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าในการยุติความขัดแย้ง
หากมองย้อนกลับไปในปี 2006 สงครามกับอิสราเอลกินเวลาเพียง 34 วัน และอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างออกไป ไม่มีสงครามในฉนวนกาซา และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในซีเรีย อิรัก อิหร่าน และเยเมน
อย่าลืมว่าสงครามในปี 2006 มีหลายปัจจัยในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง และเลบานอนถือเป็น “รัฐที่อ่อนแอ” โดยมีกองทัพที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
มูฮันนาด ตูตุนจี ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาอาหรับ, นครเยรูซาเล็ม
ตะวันออกกลางได้เผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาคหรือแม้แต่ระดับโลก ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ หรือแม้แต่อิหร่าน บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามครั้งใหญ่ในบางจุด
แม้จะมีเหตุการณ์สำคัญล่าสุด (เช่น การลอบสังหาร อิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำทางการเมืองของกลุ่มฮามาส และการลอบสังหาร ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ แกนนำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ โดยอิสราเอล รวมถึงผู้นำทางการเมืองและการทหารระดับสูงของกลุ่มฮามาสและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์) แต่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้นำไปสู่สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ในฐานะผู้สื่อข่าวสายที่ติดตามกิจการความมั่นคงของอิสราเอลและสงครามในอดีตกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เราสงสัยว่าการลอบสังหาร ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ของอิสราเอลอาจจุดชนวนให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ที่อาจเกี่ยวข้องกับอิหร่านได้ทันที
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภูมิภาคมักพยายามป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดสงครามในภูมิภาค โดยสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ถึงแม้ความพยายามเหล่านี้อาจดูเหมือนความสำเร็จในระยะสั้น แต่คำถามที่ยังไม่ถูกตอบคือ การโจมตีการตอบโต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน จะนำไปสู่สงครามที่เกิดขึ้นในวงกว้างและไม่สามารถย้อนกลับได้หรือไม่
ประกายไฟแห่งสงครามในภูมิภาคฃซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นเป็นความขัดแย้งระดับโลกนั้นยังคงมีอยู่
ไม่นานมานี้ สงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านเกือบจะปะทุขึ้นในเดือน เม.ย. เมื่ออิสราเอลโจมตีสถานกงสุลของอิหร่านในซีเรีย ส่งผลให้อิหร่านต้องตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศต่ออิสราเอลหลายร้อยครั้งจากดินแดนของตน
ทว่าสหรัฐฯ เข้าควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ ในเวลานั้นเราได้รายงานว่ามีการสนทนาระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ในช่วงเวลาที่ “อารมณ์กำลังเดือด” หลังถูกโจมตีไม่นาน โดยมีขีปนาวุธประมาณ 100 ลูกพุ่งเข้าหาอิสราเอลพร้อม ๆ กัน
ในระหว่างสนทนาทางโทรศัพท์ ผู้นำทั้ง 2 ชาติได้หารือกัน “ว่าจะชะลอสถานการณ์ และคิดทบทวนสิ่งต่าง ๆ อย่างไร” สหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่าจะไม่ร่วมมือกับอิสราเอลในการโจมตีตอบโต้ใด ๆ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการลอบสังหาร ฮานีเยห์ และ นัสรัลเลาะห์ และการโจมตีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของอิสราเอลโจมตี ทำให้อิหร่านต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งโดยตรงและรุนแรงกว่าเดิม
การตอบโต้ของอิสราเอลยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความเป็นไปได้ที่การเผชิญหน้าครั้งนี้จะทวีความรุนแรงขึ้น
คำถามหลักคือ อิสราเอลตั้งใจที่จะโจมตีอิหร่านและลากอิหร่านเข้าสู่สงครามครั้งใหญ่จริงหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ โจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านซึ่งเป็นเป้าหมายของอิสราเอลมาช้านาน บางคนอาจกังวลว่าการโจมตีอิสราเอลของอิหร่านนั้น แม้จะสามารถควบคุมได้เนื่องจากสร้างความเสียหายทางวัตถุมากกว่าความสูญเสียต่อชีวิตของมนุษย์ แต่ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนในเจตนารมณ์ของอิสราเอลได้
เนทันยาฮู พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในตะวันออกกลาง เขาเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นไปไม่ได้หากไม่โจมตีอิหร่าน ซึ่งอิสราเอลเรียกอิหร่านว่าเป็น “หัวงู”
อิสราเอลรู้สึกตื่นเต้นหลังจากประสบความสำเร็จกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
บางคนอาจมองว่า นี่คือหนทางที่เชื่อว่าอิสราเอลจะก้าวไปสู่ปฏิบัติการใหญ่กว่านี้กับอิหร่านได้ แต่นั่นอาจควบคุมไม่ได้ จนนำไปสู่การจุดชนวนให้เกิดสงครามในภูมิภาค และหากอิหร่านถูกโจมตีอย่างหนัก ก็อาจมีฝ่ายอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระดับโลก
ความตั้งใจของอิสราเอลที่จะยุติโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอาจเป็นสาเหตุของสงครามครั้งใหญ่เช่นนี้ โดยอิหร่านอาจใช้ปมนี้เป็นข้ออ้างในการโจมตีอิสราเอลได้เช่นกัน
คำถามใหญ่คือ สหรัฐฯ จะยอมให้อิสราเอลทำเช่นนี้หรือไม่ ?
อีมัน เอริคัต ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาอาหรับ, ดินแดนปาเลสไตน์
ความสุขผสมกับความกลัว นี่อาจอธิบายอารมณ์โดยทั่วไปของชาวปาเลสไตน์เมื่อคืนวันอังคาร (1 ต.ค.) เมื่ออิหร่านยิงขีปนาวุธประมาณ 200 ลูกไปที่อิสราเอล หลายคนรอคอยช่วงเวลาดังกล่าวมาตั้งแต่สงครามปะทุในฉนวนกาซา พวกเขาเชื่อว่าการแทรกแซงจากต่างประเทศมีความสำคัญเพื่อสนับสนุนฉนวนกาซาและดินแดนปาเลสไตน์
สถานที่ที่ขีปนาวุธของอิหร่านตกลงมาในดินแดนปาเลสไตน์กลายเป็นจุดที่ชาวปาเลสไตน์ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
พวกเขาเชื่อว่าเหตุการณ์นี้อาจกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ
การลอบสังหาร ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ตามมาด้วยการสังหารอิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส ในเดือน ก.ค. ได้สร้างสถานการณ์ให้สงครามแผ่ขยายวงกว้างขึ้น
อารมณ์ที่เกิดขึ้นที่นี่ ทำให้ชาวปาเลสไตน์หลายหวนคนนึกถึงเหตุการณ์ “อินติฟาดา” ครั้งแรกและครั้งที่ 2 (การลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา เพื่อหวังยุติการยึดครองดินแดนโดยอิสราเอล) แม้แต่ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ “นักบา” (Nakba – หมายถึง หายนะ) ในปี 1948 ก็ยังบอกว่าประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอย
“นักบา” คือวันที่ 14 พ.ค. 1948 ซึ่งเป็นวันที่อิสราเอลประกาศเอกราช ก่อนที่ชาวปาเลสไตน์กว่า 750,000 คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้นต้องหลั่งไหลอพยพหรือถูกบังคับขับไล่ออกจากบ้านเรือนของตน
ในดินแดนปาเลสไตน์ ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากเชื่อว่าสถานการณ์ปัจจุบันบ่งชี้ว่าการรุกของอิสราเอลได้ไปถึงระดับใหม่ที่อาจรุนแรงยิ่งขึ้น
เป็นเวลาหลายปีที่ทางการปาเลสไตน์เน้นย้ำในประเด็นต่อไปนี้
ความสำคัญของการเคลื่อนตัวไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองที่จะหยุดปฏิบัติการทางทหาร
การหันหลังให้กับความขัดแย้งและหันหน้าแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่จะปกป้องและรับรองการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาของ 2 รัฐ
พวกเขาเชื่อว่า สิ่งนี้จะทำให้ชาวปาเลสไตน์ยังรักษาดินแดนเคียงข้างกับอิสราเอลไว้ได้
นับจาก 7 ต.ค. 2023 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครั้งล่าสุดในฉนวนกาซา ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ มะห์มูด อับบาส ได้เรียกร้องให้ชุมชนระหว่างประเทศเข้าแทรกแซงและประกาศหยุดยิงทันที
คำเรียกร้องของเขาได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ แต่ปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไป สิ่งนี้ทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากเชื่อมั่นว่า มีความเป็นไปได้ว่าสงครามในภูมิภาคนี้จะแผ่ขยายมากกว่าโอกาสที่จะฟื้นกระบวนการสันติภาพ
กัสรา นาจิ ผู้สื่อข่าวแผนกภาษาเปอร์เซียของบีบีซี
การตัดสินใจโจมตีอิสราเอลโดยตรงจากอิหร่านด้วยขีปนาวุธพิสัยไกลกว่า 200 ลูกไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายสำหรับ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน
โดยปกติแล้ว เขามักไม่ตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยไม่ไตร่ตรอง เขาชอบสิ่งที่เขาเรียกว่า “ความอดทนเชิงกลยุทธ์” มากกว่า
แต่เขาและรัฐบาลอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักจากกลุ่มหัวรุนแรงของตนเอง และจากสมาชิกกองกำลังติดอาวุธตัวแทนในภูมิภาค เพื่อตอบโต้ทางการทหารต่อการที่อิสราเอลสังหารผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
กลุ่มหัวรุนแรงยังกดดันให้ล้างแค้นต่อการสังหารนายพล ซึ่งเป็นผู้บังคับการปฏิบัติการของกองกำลังคุดส์แห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) ในการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในกรุงเบรุตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
อิหร่านต้องเสียหน้าครั้งใหญ่เมื่อไม่ตอบโต้ต่อการลอบสังหาร อิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส ในกรุงเตหะรานเมื่อเดือน ก.ค.
หลายคนเชื่อว่า ระเบิดที่สังหารเขาเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของอิสราเอลในอิหร่าน แต่ผู้นำสูงสุดของอิหร่านรู้ดีว่าประเทศของเขาไม่สามารถทำสงครามใหญ่ได้
ในด้านการทหาร อิหร่านไม่สามารถต่อกรกับอิสราเอลซึ่งมีอำนาจทางอากาศเหนือกว่าอิหร่านเกือบทั้งหมด น่านฟ้าของอิหร่านเปิดกว้างให้เครื่องบินของอิสราเอลบินได้
ในด้านเศรษฐกิจ อิหร่านกำลังทรุดหนักถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ และนานาชาติมาหลายปี
ในทางการเมือง รัฐบาลไม่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในอิหร่านอย่างมาก
มีประชาชนอิหร่านเพียงไม่กี่คนที่จะสนับสนุนการทำสงครามกับอิสราเอล ในขณะที่ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่เร่งด่วนกว่าในประเทศอีกมากมาย พวกเขารู้ดีว่าการทำเช่นนั้นอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรเพิ่มเติมและความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจ หลายคนจึงไม่มองว่าอิสราเอลเป็นศัตรู
แต่ผู้นำสูงสุดต้องเสี่ยง โดยหวังว่าการโจมตีเป้าหมายทางทหารและข่าวกรองอย่างมีมาตรฐานอาจดึงดูดการตอบโต้ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งในการคำนวณของเขา อิหร่านสามารถรับมือได้
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : บีบีซีออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 4 ต.ค.67
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c8rd0r5gv1no