ในยุคที่คน “ติดโทรศัพท์มือถือ” ใช้งานมากกว่าการติดต่อสื่อสาร ส่งผลให้เกิด “Mobility Data” หรือชุดข้อมูลการเคลื่อนที่ของผู้ใช้งานจากมือถือ ที่ถือว่าเป็น “Big Data” ที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้มากมาย
วันนี้ คอลัมน์ “ชีวิตติด TECH” มีมุมมองจากการใช้ประโยชน์จากข้อมูลมือถือ จากเวทีเสวนาหัวข้อ “สร้างนโยบายแห่งอนาคต ด้วยพลังข้อมูล Shaping the Future with Insights” ในงาน “dataCon 2024” มาแบ่งปันกัน
อย่างที่รู้ๆ กันว่า “ดาต้า” หรือ “ข้อมูล” ถือเป็นสิ่งที่ถูกนำมามาใช้ในหลายวงการ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ และเรื่อง “บิ๊กดาต้า” จะเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างมากในอนาคต แต่ที่ผ่านมา การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ผ่านมา ยังคงจำกัดอยู่ในแวดวงธุรกิจเป็นหลัก เช่น การนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคมาใช้วิเคราะห์ด้านการตลาด แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถนำไปในประโยชน์ใตด้านอื่นๆ ได้เช่นกัน อาทิ เรื่องการท่องเที่ยว เป็นต้น
“ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย” อาจารย์ภาควิชาวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การนำ “Mobility Data” หรือข้อมูลมือถือ มาส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเก็ยข้อมูลจากพฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย ทั้งวิธีการเดินทาง รูปแบบการเดินทาง สามารถนำมาจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมเรื่องท่องเที่ยวได้
โดยที่ผ่านมา คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้ร่วมกับ ทรู-ดีแทค สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และบุญมีแล็บ จึงได้ผนึกกำลังวิจัย “ศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility Data” ทำให้เห็นข้อมูลที่สำคัญถึงพฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย ที่สามารถนำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด
และอย่างที่รู้กันว่า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังการระบาดของโควิด-19 การท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้น หากสามารถทำนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเมืองรองได้ จะเป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ท่องถิ่นมากขึ้นด้วย
“เราได้วิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางแบบกลุ่มจังหวัด (คลัสเตอร์) โดยใช้ Mobility Data ว่าในหนึ่งทริปของการเดินทางผ่านจังหวัดใดบ้าง สรุปออกมาได้เป็น 19 คลัสเตอร์ และมี 7 คลัสเตอร์ ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัดในระดับสูง ที่สามารถทำกิจกรรมโปรโมตการเดินทางร่วมกันได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ทั้งระยะเวลาในการพำนักและใช้จ่าย”
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างรายได้ แต่ที่ผ่านมากลับพบปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ท่องเที่ยวและการกระจายรายได้มาโดยตลอด ซึ่งผลวิเคราะห์ Mobility Data นี้ จะช่วยเสริมแกร่งให้จังหวัดเมืองรอง สามารถวางกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามศักยภาพของตนเอง เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ใช่มายังจังหวัด อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่เมืองรองได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ได้จัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 3 ด้าน ดังนี้ คือ 1.การดึงดูดการท่องเที่ยวระยะใกล้ (Micro-Tourism) แบบเช้าไปเย็นกลับ ในระยะทาง 150 กิโลเมตร 2.การส่งเสริมการค้างคืน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ เพิ่มมูลค่าการใช้จ่าย และระยะเวลาพำนัก และ 3.การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (คลัสเตอร์) เพื่อส่งเสริมการเดินทางในกลุ่มจังหวัดใน 1 ทริป
“ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย” บอกอีกว่า ข้อมูลจาก Mobility Data ยังมีศักยภาพสามารถนำมาวิเคราะห์ในด้านการให้บริการสาธารณะด้านอื่น ๆ ได้ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งการใช้ Mobility Data ไม่เพียงแต่ช่วยให้นโยบายของรัฐสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากการวิเคราะห์ดาต้าเพื่อการออกแบบนโยบายสาธารณะ ที่เปิดให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกันวางนโยบายสำหรับอนาคต
อย่างไรก็ตาม การใช้ข้อมูลเพื่อออกแบบนยาบสาธารณะ ก็ถือว่ามีความท้าทายอยู่มาก โดย “โสมรัศมิ์ จันทรัตน์” ผู้อำนวยการ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มองว่า ปัจจุบันภาครัฐมีข้อมูลหลายชุด ทั้งดาต้าของแต่ละหน่วยงาน ดิจิทัล ฟุตพรินต์ แต่การบริหารจัดการข้อมูล และนำข้อมูลมาออกแบบนโยบายในภาพใหญ่ของประเทศ ต้องเข้าใจปัญหาให้รอบด้าน และลงลึกถึงกลุ่มที่ภาครัฐต้องการเข้าไปช่วยเหลืออย่างแท้จริง ผ่านการเก็บข้อมูลให้ครบทั้ง 3 มิติ แบ่งเป็น 1.ครอบคลุมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 2.ลงลึกถึงรายละเอียด และ 3.ต้องเห็นความเชื่อมโยง
การนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์จะต้องส่องให้ครบ 5 เลนส์สำคัญ คือ 1.Macro but granular ภาพใหญ่แต่ต้องลงลึกให้เห็นรายละเอียด อย่างการทำวิจัยหนี้ครัวเรือนของสถาบันป๋วย ข้อมูลหลักที่ใช้จากเครดิตบูโร ซึ่งอาจยังไม่ครอบคลุม ต้องลงไปดูในพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของหนี้ครัวเรือน เช่น ในเมือง กลุ่มเหล่านี้เปราะบางอย่างไร
2.Near real time ใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ อย่างช่วงโควิดในสหรัฐอเมริกา ใช้ข้อมูลจากแอปพลิเคชันด้านการเงิน เพื่อวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วย 3.Longitudinal ติดตามพัฒนาการของแต่ละเจนเนอเรชั่น อย่างการใช้ข้อมูล tax data เพื่อจะดูว่าพ่อแม่จน ส่วนใหญ่ลูกยังจนอยู่ 4.Network/relationship ติดตามความเชื่อมโยง อย่างระบบพร้อมเพย์ จะทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชน ผู้บริโภคกับผู้บริโภค และผู้บริโภคกับภาคธุรกิจ และ 5.Observe the unobserved ดาต้าจะช่วยให้คนทำนโยบายมองเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
“โสมรัศมิ์ จันทรัตน์” บอกต่อว่า ดาต้า ทำให้มีหลายเลนส์ที่เห็นกันได้ แต่การทำนโยบายที่ดีที่สุด ต้องนำทุกเลนส์เข้ามาร่วมกัน แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายในการนำข้อมูลมาใช้เพื่อออกแบบนโยบาย หนึ่ง คือข้อมูลไม่ครบ การใช้ข้อมูลต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน สอง การนำข้อมูลมาใช้ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูล สาม การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน และสี่ การแชร์ข้อมูล จะสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการออกแบบนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะได้อีกมาก
สุดท้ายแล้ว ความสำคัญของการเก็บกับการใช้ข้อมูลถือว่ามีความสำคัญ ในยุคที่โลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
Cyber Daily
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 9 พ.ย.67
Link : https://www.dailynews.co.th/news/4060100/