วันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.67 แม้เป็นวันหยุดราชการ แต่กลุ่มป่วนใต้ไม่ได้หยุดปฏิบัติการ และกำลังพลในพื้นที่ความมั่่นคงก็ต้องทำงานไม่เว้นวันหยุดด้วยเช่นกัน
กำลังพลกองร้อยทหารพรานที่ 4105 (ร้อย ทพ.4105) หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ออกลาดตระเวนเดินเท้า รักษาความปลอดภัยพื้นที่รับผิดชอบ ที่บ้านคอลอกาเอ หมู่ 5 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ถูกคนร้ายซุ่มยิง ทำให้ อาสาสม้ัครทหารพราน (อส.ทพ.) เปลี่ยน ศิริสุข เสียชีวิต
ทหารพรานรายนี้ แม้จะเป็น “อาสาสมัครทหารพราน” หรือ อส.ทพ. แต่อายุไม่ใช่น้อยๆ แล้ว เพราะอยู่ในวัย 44 ปี เป็นหัวหน้าครอบครัว ความสูญเสียจึงกระทบกับหลายชีวิต
25 พ.ย.มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และมีพิธีอัญเชิญพวงมาลาพระราชทาน ที่วัดสุวรรณากร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ท่ามกลางบรรยากาศโศกเศร้า
บันนังสตา…พื้นที่ killing zone
ประเด็น “ซุ่มยิงทหารพราน” นับว่าน่าสนใจ และเป็นปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องจับตาอย่างมาก เนื่องจากระยะหลังมีข่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ว่าคนร้ายใช้ยุทธวิธี “ซุ่มยิง” เพื่อปลิดชีพกำลังพลชุดลาดตระเวน โดยหลีกเลี่ยงการปะทะ ซึ่งอาจเกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่ายมากกว่า คล้ายยุทธวิธี “ใบไม้ร่วง” ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์นิยมใช้ในอดีต
จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ซุ่มยิงและซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมาแล้วหลายสิบเหตุการณ์ แต่มีถึง 9 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และมี 5 เหตุการณ์ที่เกิดในตำบลบาเจาะ ตำบลที่เพิ่งเกิดเหตุยิง อส.ทพ.เปลี่ยน ศิริสุข จนเสียชีวิตรายล่าสุดนี้
ที่สำคัญ เหตุการณ์ในลักษณะ “ซุ่มยิง – ลอบยิง” ก็เกิดบ่อยครั้งอย่างมีนัยสำคัญ
แฉฝึก “กลุ่มหน้าขาว” ลอบกัดเจ้าหน้าที่
อดีตนายทหารระดับสูงของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ยอมรับว่า ระยะหลังคนร้ายหันมาใช้วิธี “ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่” มากขึ้ัน เหตุผลก็คือ
– หลีกเลี่ยงการปะทะ เพราะหากมีการปะทะ และเกิดการสูญเสีย หรือได้รับบาดเจ็บ ฝ่ายคนร้ายจะถูกเปิดเผยตัวตนทันที และผู้เกี่ยวข้องมีโอกาสถูกจับกุมทั้งเครือข่าย เพราะฝ่ายความมั่นคงมีข้อมูลหลักฐานที่เชื่อมโยงจากนิติวิทยาศาสตร์ครบสมบูรณ์ พร้อมต่อจิ๊กซอว์
– การซุ่มยิง เป็นการชิงความได้เปรียบ เป็นวิธีการ “ลอบกัด – ลอบทำร้าย” หวังความสูญเสียของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียว โดยที่ฝ่ายตนไม่สูญเสีย แม้จะก่อความสูญเสียไม่มาก แต่ฝ่ายคนร้ายมีแต่ได้กับได้
– กลุ่มผู้ก่อเหตุซุ่มยิง ส่วนใหญ่ใช้ “นักรบรุ่นใหม่” และใช้ “กลุ่มหน้าขาว” หมายถึงพวกที่ยังไม่มีหมายจับในคดีความมั่นคง ไม่มีประวัติคดีอาญา ทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนป้องกันยาก และเมื่อใช้วิธีซุ่มยิง ก่อเหตุแล้วหนี ไม่มีการปะทะ ก็จะทำให้ “กลุ่มหน้าขาว” เหล่านี้ ไม่ถูกเปิดโปงตัวตนได้อีกนาน พูดง่ายๆ คือใช้งานได้นานกว่า
– พื้นที่บางตำบล บางอำเภอ เป็นป่าเขา มีเส้นทางขึ้นเนิน ทางโค้ง สลับซับซ้อน ภูมิประเทศเหมาะสมกับปฏิบัติการซุ่มยิง
โดยเฉพาะพื้นที่ ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งมีจุดที่เรียกว่าเป็น killing zone เยอะมาก เช่น ทางโค้งบนเนินเขาที่มีป่ายางพารารกทึบ เป็นต้น
ส่วนการฝึก “พลซุ่มยิง” ก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยมีการฝึกกันในพื้นที่ เพราะศักยภาพของกองกำลังกลุ่มนี้ ไม่ได้ถึงขั้นเป็น “สไนเปอร์” แต่เป็นกลุ่มที่ “ยิงหวังผลระยะไกล” ได้เท่านั้น เป็นการยิงแบบไม่ระบุตัวตน แค่ยิงฝ่ายรัฐได้เป็นพอ อาจจะยิงใส่ยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ที่แล่นผ่านจุดเสี่ยง ถ้าโดนใครก็ถือว่าแจ็กพ็อต นี่คือรูปแบบการก่อเหตุ
“บันนังสตา” พื้นที่จัดตั้ง “ฮารีเมา – เสือภูเขา”
พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า พื้นที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา เป็นพื้นที่ที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นมีความพร้อม มีการวางกำลังหลักเอาไว้ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ
กำลังหลักที่จัดตั้งเอาไว้ เรียกว่า “ทหารภูเขา” หรือ “เสือภูเขา” ภาษามลายูเรียกว่า “ฮารีเมา” หรือหน่วยรบพิเศษ อยู่ที่บันนังสตา ฉะนั้นพื้นที่นี้ไม่ได้มีแค่อาร์เคเค หรือกองกำลังประจำถิ่น ที่เป็นนักรบจรยุทธ์เท่านั้น แต่ยังมี “ฮารีเมา” ที่มีความสามารถเรื่องซุ่มยิงด้วย
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 25 พ.ย.67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/133681-violencenangta.html