สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเขียนถึงโอกาสประเทศไทย ที่จะเป็น ศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาคอาเซียน แม้จากข้อมูลต่าง ๆ จะชี้ว่า เรายังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านพอควร แต่เราก็มีโอกาสในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และการเข้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศ ก็เป็นไปตามแนวโน้มปริมาณการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอที่เพิ่มขึ้น
การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ มีองค์ประกอบสำคัญที่ต้องพิจารณาหลายด้าน เริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง ซึ่งต้องเลือกทำเลที่ปลอดภัยและมีระบบสาธารณูปโภคพร้อม ตามด้วยการลงทุนในเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด และน่าจะเป็นค่าใช้จ่ายสูงสุด รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องต่ออายุเป็นประจำ ส่วนด้านการดำเนินงาน มีค่าใช้จ่ายหลัก คือ ค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์และระบบทำความเย็น และสุดท้ายคือค่าเชื่อมต่อเครือข่ายที่ต้องมีความเร็วและเสถียรสูง
ในปัจจุบันดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ จะมีเซิร์ฟเวอร์เป็นหลักพันหรือหมื่นเครื่อง และมีค่าใช้ในการลงทุนจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้มาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เทคโนโลยีเอไอกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ดาต้าเซ็นเตอร์จะใช้ไฟฟ้าถึง 8% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา และต้องการการลงทุนด้านสาธารณูปโภคกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับการประมวลผลเอไอในดาต้าเซ็นเตอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
ความท้าทายหลักมาจากการที่ระบบเอไอที่ต้องการกำลังการประมวลผลสูงมาก ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ต้องลงทุนมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ในการเช่า ดาต้าเซ็นเตอร์ระยะยาวและทำให้อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ของบางเมืองในสหรัฐอเมริกาต้องใช้ไฟฟ้าถึง 60% ของการใช้พลังงานทั้งเมือง
เราจึงเห็นการแข่งขันด้านดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับเอไอกันใน 3 ระดับ คือ ระดับบริษัทเทคโนโลยีที่แข่งกันพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ระดับบริษัทผลิตชิปที่แข่งขันพัฒนาชิปประมวลผลเอไอ และระดับประเทศที่แข่งขันการสร้าง “Sovereign AI Data Center” เพื่อความมั่นคงทางดิจิทัล อนาคตของดาต้าเซ็นเตอร์จะเน้นที่การใช้เอไอในการบริหารจัดการตัวเอง การพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ๆ และการกระจายตัวของดาต้าเซ็นเตอร์ ไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
แต่ก็มีคำถามมามากมายจากผู้คนหลากหลายวงการ รวมทั้งคนในสายไอทีว่า แล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการที่ต่างชาติมาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในบ้านเรา แม้อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่เงินลงทุนส่วนใหญ่ก็จะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที โดยเฉพาะการนำเข้าเซิร์ฟเวอร์จำนวนมากมาจากบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศ ส่วนการจ้างงานก็ไม่เกิดมากนักเพราะอุตสาหกรรมนี้ใช้คนน้อยมาก เน้นการใช้ผู้ดูแลระบบที่มีความเชี่ยวชาญจำนวนไม่มากนัก และสามารถดูแลระบบมาจากต่างประเทศได้
หากพิจารณาให้ดีจะเห็นสิ่งที่ประเทศเราได้อย่างเด่นชัด คือ รายได้จากค่าก่อสร้าง การใช้พื้นที่ และการใช้พลังงาน และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางอ้อมได้ เช่น การมีดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศก็จะทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงบริการคลาวด์และเทคโนโลยีดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ลดความช้าที่ต้องส่งข้อมูลไปต่างประเทศ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม
นอกจากนี้ อาจช่วยดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกมาตั้งในบ้านเราเพื่อจะใช้ดาต้าเซนเตอร์มากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากนี้ เราอาจจะมีรายได้ภาษีจากการใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น แต่ก็มีความน่าเป็นห่วงจากการใช้บริการคลาวด์ของดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทต่างประเทศที่นำรายได้ออกนอกประเทศ และบางครั้งไม่ได้มีการบันทึกรายได้ในประเทศโดยตรง เพราะการซื้อบริการสามารถทำได้จากทั่วโลก
ดังนั้นอาจต้องการออกกฎเกณฑ์ในการบันทึกรายได้ต่าง ๆ ให้อยู่ในประเทศอย่างชัดเจนอีกประเด็นที่บอกว่าการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จะมีการจ้างงานมานับหมื่นตำแหน่ง ตัวเลขนี้มาจากไหน ก็คงน่าจะเป็นเรื่องของการสร้างทักษะคนให้มีความสามารถขั้นสูงในการพัฒนาไอที พัฒนาเอไอ เสียมากกว่า
ถ้าคนมีความสามารถที่ดีขึ้นก็มีโอกาสมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ ก็อาจมีการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งคงไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีที่มาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์จะมาจ้างงานเป็นหมื่นตำแหน่งโดยตรง และแม้ว่าไม่มีดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อยู่ในประเทศไทย คนก็สามารถพัฒนาความสามารถตัวเองได้ผ่านการใช้บริการคลาวด์ทั่วโลกได้อยู่แล้ว
ดังนั้นแทนที่จะถามบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ว่ามาลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ที่บ้านเราเป็นเงินเท่าไร ซึ่งเราก็คงไม่ได้อะไรโดยตรงมากนัก และไม่ได้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก ควรถามมากกว่าว่าจะมาลงทุนด้านการศึกษา พัฒนาทักษะคนเป็นเงินเท่าไหร่ เปิดหลักสูตรต่างๆ ให้เราเรียนฟรีได้แค่ไหน ให้ทดลองใช้บริการคลาวด์ฟรีเพื่อการเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะได้ไหม
การจะทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์สร้างประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยนั้น เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีทักษะที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะทำให้คนไทยสามารถรับประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องวางแผนรองรับผลกระทบด้านการใช้พลังงาน เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์ต้องการไฟฟ้าจำนวนมากทั้งสำหรับการทำงานของเครื่องเซิร์ฟเวอร์และระบบทำความเย็น การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีประหยัดพลังงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป
ที่สำคัญ ประเทศไทยควรเรียนรู้จากความสำเร็จของประเทศอื่นๆ และพัฒนาโมเดลที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยเน้นการสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ในการพัฒนาธุรกิจ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี
หากมีนโยบายที่ดี การพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่การสร้างอาคารและนำเข้าอุปกรณ์ แต่เป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ หากมีการวางแผนและบริหารจัดการที่ดี การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้จะสามารถสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับประเทศและประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งในด้านการลงทุน การจ้างงาน การพัฒนาเทคโนโลยี และการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
บทความโดย ธนชาติ นุ่มนนท์
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 22 พ.ย.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1154810